คุ้มครองผู้บริโภค ปัจจัยที่ต้องจับไม่ปล่อย

เพื่อความเสมอภาคซึ่งกันและกัน

คุ้มครองผู้บริโภค ปัจจัยที่ต้องจับไม่ปล่อย 

          วันนี้ถ้าเราจะมองถึงสิทธิของประชาชนเกี่ยวกับ กฎหมายการคุ้มครองผู้บริโภค ต้องยอมรับว่า เมืองไทยของเราทันสมัยไม่แพ้ประเทศที่มีความเจริญแล้วเหมือนกัน เพราะ ประชาชนคนไทยทุกคนในประเทศมีสิทธิ์ในการบริโภคอย่างเสมอภาค เพราะ ไทยเรามีกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆที่เจริญแล้วเช่นกัน

 

          การคุ้มครองผู้บริโภคของไทยได้ให้ความสำคัญเรื่องสิทธิผู้บริโภค โดยมีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2540 มาตรา 57 วรรคหนึ่งว่า สิทธิผู้บริโภคย่อมได้รับการคุ้มครองทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ ซึ่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 และแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2541 ได้รับรองสิทธิผู้บริโภคไว้ 5 ประการคือ ….

 

          1. สิทธิที่จะได้รับข่าวสารรวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่ถูกต้องและเพียงพอ เกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ ได้แก่สิทธิที่จะได้รับการโฆษณา หรือการแสดงฉลากตามความเป็นจริงและปราศจากพิษภัยแก่ผู้บริโภค รวมตลอดถึงสิทธิที่จะได้รับข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าและบริการ อย่างถูกต้องเพียงพอที่จะไม่หลงผิด ในการซื้อสินค้าและรับบริการโดยไม่เป็นธรรม

 

          2. สิทธิที่จะมีอิสระในการเลือกหาสินค้าหรือบริการได้แก่ สิทธิที่จะเลือกซื้อสินค้าหรือรับบริการโดยความสมัครใจของผู้บริโภคและ ปราศจากการชักจูงใจอันไม่เป็นธรรม

 

          3. สิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้สินค้าหรือบริการ ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับสินค้าหรือบริการที่ ปลอดภัย มีสภาพและคุณภาพได้มาตรฐานเหมาะสมแก่การใช้ ไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกายหรือทรัพย์สิน ในกรณีใช้ตามคำแนะนำหรือระมัดระวังตามสภาพของสินค้าและบริการนั้นแล้ว

 

          4. สิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในการทำสัญญา ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับข้อสัญญาโดยไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบธุรกิจ

 

          5. สิทธิที่จะได้รับการพิจารณาและชดเชยความเสียหาย ได้แก่สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองและชดเชยความเสียหาย เมื่อมีการละเมิดสิทธิของผู้บริโภค ตามข้อ 1 , 2 ,3 และ 4 ดังกล่าว

 

          แม้ว่าสิทธิในการคุ้มครองผู้บริโภคของไทยจะได้รับการดูแลอย่างเสมอภาคแล้ว แต่ ก็ยังมีอีกบางอย่างที่ผู้บริโภคยังได้มีการร้องเรียนถึงความเหลื่อมล้ำอยู่ ดังนั้นจึงได้เกิด เครือข่ายประชาชนที่รวมตัวกันเพื่อที่จะผลักดันให้ได้มาซึ่งกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคที่สมบูรณ์กว่านี้

 

          ดังจะเห็นได้จาก เครือข่ายฯ ร้อยเอ็ด-มหาสารคาม ได้มีกิจกรรม ด้วยการ เดินหน้าให้ข้อมูลข่าวสารกับผู้บริโภค ด้วยการเน้นให้เกิดความรู้ ความเข้าใจ เพื่อให้ผู้บริโภคปกป้องสิทธิของตนเอง ตามกฎหมาย และ ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้บริโภค จ.ขอนแก่น-กาฬสินธุ์ ก็ได้มีการขยายเครือข่าย เพื่อสร้างกลไกที่เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

 

          นอกจากนี้ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ยังได้เปิดให้มีการร้องทุกข์ Online แก่ผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการบริโภคอย่างเป็นทางการขึ้นมาด้วย โดยมีกฎระเบียบดังต่อไปนี้

 

          1. มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคไม่เก็บค่าใช้จ่ายใด ๆ ในการร้องเรียน และหากเป็นคดีที่ต้องเข้าสู่กระบวนการศาลและต้องการทนาย มูลนิธิฯ จะจัดหาทนายช่วยว่าความให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย แต่ขอให้ผู้ร้องเรียนรับผิดชอบในส่วนของค่าฤชา ธรรมเนียม หรือค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับกระบวนการศาลเอง สำหรับผู้ยากไร้จะช่วยเหลือในค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องเป็นราย ๆ ไป

 

          2. ผู้ร้องเรียนต้องกรอกข้อมูลส่วนตัวและที่เกี่ยวข้องด้วยความสัตย์จริงให้ครบ ทุกข้อ เพื่อสิทธิประโยชน์ของท่าน และยินยอมให้มูลนิธิฯ สามารถตรวจสอบความเป็นจริงในข้อมูลการสมัครของท่านได้

 

          3. การร้องเรียนต้องมีเจตนาที่บริสุทธิ์ ไม่แอบอ้าง กล่าวร้ายป้ายสี หรือกระทำการใด ๆ ที่ทำให้ผู้ที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับความเสียหายโดยไม่สมควร

 

          4. ผู้ร้องเรียนจะต้องใช้นามแฝงที่เหมาะสม ไม่หยาบคาย หรือส่อไปในทางลามกอนาจาร

 

          5. ผู้ร้องเรียนต้องปฏิบัติตามกฎ กติกา มารยาท ที่มูลนิธิฯ ตั้งขึ้นมาอย่างเคร่งครัด ทั้งนี้เพื่อความเรียบร้อยในการรับเรื่องร้องเรียน Online ของมูลนิธิฯ หากท่านละเมิดกฎข้อใด มูลนิธิฯ ขอสงวนสิทธิ์ระงับการร้องเรียนและให้ความช่วยเหลือ โดยจะแจ้งให้ทราบภายใน 7 วัน หลังการระงับสิทธิการร้องเรียน

 

          6. ข้อมูลรายละเอียดส่วนตัวของผู้ร้องเรียน จะถูกเก็บเป็นความลับอย่างสูงสุด มูลนิธิฯ จะไม่เปิดเผยหากไม่ได้รับความยินยอมจากท่านเป็นลายลักษณ์อักษร

 

          7. เรื่องราวและรายละเอียดการร้องเรียนให้ถือเป็นสิทธิของมูลนิธิฯ ที่จะเผยแพร่สู่สาธารณชนเพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองผู้บริโภค โดยจะไม่เปิดเผยชื่อและรายละเอียดส่วนตัวของผู้ร้องเรียน หากไม่ได้รับความยินยอมจากผู้ร้องเรียนเป็นลายลักษณ์อักษร และขอสงวนสิทธิ์มิให้ผู้ใดนำไปใช้เพื่อประโยชน์ทางธุรกิจโดยเด็ดขาด

 

          8. ผู้ร้องเรียนจะต้องลงทะเบียนก่อน จึงจะสามารถร้องเรียนได้

 

          ทั้งนี้ผู้ที่ต้องการร้องเรียนสามารถติดต่อได้ที่ “มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค”ได้ตลอดเวลา

 

          สำหรับบทบาทของ สสส. หรือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนสร้างเสริมสุขภาพ ที่ได้รณรงค์ ทางด้านการบริโภคให้แก่ประชาชนชาวไทย ในเรื่องของ การบริโภคยาสูบ และ การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จนเป็นที่ฮือฮา และ สร้างความสุขสมบูรณ์ให้แก่สุขภาพ ของร่างกายและสังคม อย่างชนิดที่บอกได้ว่า เต็มไปด้วยความสมสมบูรณ์แล้ว ในส่วนที่ทำให้เกิดการผลักดันให้เกิดกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคก็มิได้ละเว้นเช่นกัน

 

          จึงเป็นที่น่าดีใจว่า แนวโน้มของการคุ้มครองผู้บริโภคให้กับประชาชนชาวไทย ในประเทศไทยนี้ จะต้องได้รับการพัฒนาที่จะนำไปสู่การสร้างสุข และสุขภาพที่ดีแก่สังคมประเทศชาติได้อย่างแน่นอน

 

 

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้า

 

 

Update 17-03-53

 

อัพเดทเนื้อหาโดย : ณัฏฐ์ ตุ้มภู่

Shares:
QR Code :
QR Code