คุม 4 ปัจจัยเสี่ยง ลดโรค NCDs

นักวิชาการแนะคุม 4 ปัจจัยเสี่ยง "บุหรี่-เหล้า-อาหาร-ออกกำลังกาย" ช่วยลดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ชงเพิ่มภาษีบุหรี่-เหล้า คุมการโฆษณา ลดกินเค็ม ไขมันทรานส์ เสริมกิจกรรมทางกายทั้งระดับ ร.ร. ชุมชน เมือง


คุม 4 ปัจจัยเสี่ยง ลดโรค NCDs thaihealth

แฟ้มภาพ


นพ.หทัย ชาตินนท์ ประธานสถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ กล่าว ในงานประชุมหารือเรื่อง “NCDs คร่าชีวิต ต้องพิชิตด้วยพลังหลายภาคส่วน” จัดโดย แผนงานเครือข่ายควบคุมโรคไม่ติดต่อ (NCD Network) ว่า จากการประชุม World Economic Forum ปี 2554 ผลร้ายที่จะเกิดจากกลุ่มโรค NCDs ทั้ง 5 ได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคมะเร็ง โรคเบาหวาน และสุขภาพจิต จะทำให้ทั่วโลกสูญเสียค่าใช้จ่ายจากการรักษาโรคกลุ่มดังกล่าวใน 20 ปีข้างหน้าถึง 47 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 1,400 ล้านล้านบาท) สำหรับประเทศไทยแม้จะไม่มีข้อมูลพยากรณ์การสูญเสียในอีก 20 ปีข้างหน้า แต่เฉพาะปี 2552 ประเทศสูญเงินถึง 198,512 ล้านบาทไปกับการจัดการกลุ่มโรค NCDs


ด้าน ทพญ.ศิริวรรณ พิทยรังสฤษฏ์ ผู้จัดการโครงการเครือข่ายควบคุมโรคไม่ติดต่อ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างองค์การอนามัยโลกและรัฐบาลไทย กล่าวว่า มาตรการควบคุม 4 ปัจจัยเสี่ยงหลักเพื่อป้องกันโรค NCDs คือ การควบคุมยาสูบ การลดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ การจัดการอาหาร และการเพิ่มการเคลื่อนไหวทางกาย เป็นเรื่องที่ทั่วโลกรับรองว่ามีประสิทธิผลในการลดโรค มาตรการควบคุมยาสูบที่มีประสิทธิผลสูงคือ การขึ้นภาษีให้สูงกว่าค่าเงินเฟ้อ บวกกับการเพิ่มพื้นที่ปลอดบุหรี่ การห้ามการโฆษณา การส่งเสริมการขาย การให้ทุนอุปถัมภ์จากบริษัทบุหรี่ทุกรูปแบบ รวมทั้งมาตรการคัดกรองและบำบัดเบื้องต้น ส่วนการควบคุมการบริโภคสุรา ต้องใช้มาตรการด้านภาษี การควบคุมการโฆษณา การจำกัดการเข้าถึงมาตรการคัดกรองและบำบัดเบื้องต้น


น.ส.สุลัดดา พงษ์อุทธา ผู้จัดการแผนงานวิจัยนโยบายอาหารและโภชนาการเพื่อสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวว่า ทางออกมาตรการด้านอาหารสำหรับลดโรคไม่ติดต่อ โดยเฉพาะโรคเบาหวาน โรคอ้วน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคหลอดเลือดสมอง ควรมีการจัดทำมาตรการลดเค็มหรือลดปริมาณโซเดียมในอาหาร อาหารปลอดไขมันทรานส์ การจัดการอาหารในสถานพยาบาลและโรงเรียนให้มีคุณค่าทางโภชนาการที่เหมาะสม การจัดการควบคุมการทำการตลาดอาหารที่มุ่งไปที่เด็ก การจัดเก็บภาษีอาหารเครื่องดื่มที่เสี่ยงต่อสุขภาพและการสนับสนุนให้ผักผลไม้ปลอดภัยมีราคาถูก ซึ่งมาตรการเหล่านี้จะช่วยลดการบริโภคอาหารที่ไม่ถูกหลักโภชนาการ หรือแม้แต่การบริโภคผักผลไม้ไม่เพียงพอ


ดร.เกษม นครเขตต์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ กล่าวว่า ทางออกมาตรการส่งเสริมกิจกรรมทางกายในประเทศคือ 1.มาตรการระดับโรงเรียน/สถานศึกษา ควรเพิ่มเวลาการเล่นแบบ Active play ให้เด็กนักเรียนวันละ 60 นาที 2.มาตรการระดับชุมชน ควรให้อำนาจองค์กรปกครองท้องถิ่นจัดสรรงบประมาณเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการมีกิจกรรมทางกายของประชาชน 3.มาตรการระดับเมือง ควรกำหนดการออกแบบเมืองเพื่อรองรับการเดินทางที่สร้างโอกาสการมีกิจกรรมทางกายของประชาชน เช่น ทางเดิน ทางจักรยาน และระบบขนส่งมวลชนที่เชื่อมต่อกับทางจักรยาน


4.มาตรการระดับองค์กรภาครัฐ ควรเสริมกระบวนทัศน์องค์กรทางการกีฬาของรัฐ ได้แก่ กรมพลศึกษา และการกีฬาแห่งประเทศไทยให้เห็นความสำคัญของกีฬามวลชน เพื่อสร้างเสริมสุขภาพของประชากรกว่า 60 ล้านคน 5.มาตรการระดับชาติ ควรกำหนดให้กิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ เป็นยุทธศาสตร์ชาติที่มีความสำคัญสูง และ 6.มาตรการทางการสื่อสารเพื่อสังคม ควรพัฒนาระบบและช่องทางการสื่อสารเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจต่อสังคมถึงความสำคัญและความจำเป็นของกิจกรรมทางกายที่มีต่อการสร้างเสริมสุขภาพของประชาชนทุกกลุ่มวัย


 


 


ที่มา : ASTVผู้จัดการออนไลน์


 


 

Shares:
QR Code :
QR Code