คุมเด็กเล่นเกมยังพบปัญหาเพียบ
ปลัด วธ.รับแนวทางคุมเด็กเล่นเกมไม่เกินวันละ 3 ชั่วโมงยังเป็นแค่วุ้น พบปัญหามากมาย ทั้งสิทธิตามกฎหมาย การลงทุนสูง และการแยกแยะว่าที่เด็กเปิดอินเทอร์เน็ตเล่นเกมหรือหาความรู้
นายสมชาย เสียงหลาย ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า จากการที่ วธ.มีแผนที่จะพัฒนาการควบคุมให้เด็กเล่นเกมไม่เกิน 3 ชั่วโมง เมื่อเร็วๆ นี้ นายชุมพล กองมี อาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้นำตัวอย่างเครื่องต้นแบบการใช้บัตรประชาชนควบคุมการเล่นเกมออนไลน์ของเด็กมาให้ วธ.ได้ชม พบว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะใช้งานได้ ซึ่งทางคณาจารย์ได้แนะนำว่าระบบการอ่านบัตรมีต้นทุนที่ต่ำก็จริง แต่ระบบฐานข้อมูลหรือเซิร์ฟเวอร์มีต้นทุนที่สูงมาก เนื่องจากจะต้องมีฐานข้อมูลที่ใหญ่มาก ดังนั้น ตนจึงมอบหมายให้กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) นำเรื่องดังกล่าวไปพิจารณา เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่ สวธ.ดูแลมาอย่างต่อเนื่อง
ปลัดกระทรวงวัฒนธรรมกล่าวว่า ในปี 2555 วธ.จะนำผลการวิจัยของคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลเกี่ยวกับเรื่องพัฒนาการเด็ก และของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือเนคเทค เกี่ยวกับเรื่องของเทคนิค โดยนำทั้ง 2 เรื่องมาร่วมกันและหาสภาพปัญหาโดยรวมของการเล่นเกมออนไลน์ เพื่อดูว่าควรจะใช้เงื่อนเวลาในการควบคุมการเล่นเกมของเด็ก หรือจะมีวิธีการอื่นหรือไม่ เพราะตนเห็นว่าการที่ควบคุมเรื่องอินเทอร์เน็ต เราจะสามารถแยกได้หรือไม่ว่าเด็กเล่นเกมหรือใช้หาความรู้ จุดนี้เป็นสิ่งยากมากที่ วธ.จะต้องแก้ปัญหา
“สิ่งที่นักวิชาการได้มาหารือกับผมเกี่ยวกับเรื่องนี้ มีหลายท่านบอกว่าทำได้ แต่สิ่งที่เราอยากรู้ว่าที่ทำได้ ทำในระดับงานวิจัยหรือว่าทำแบบจำลองได้แล้ว ซึ่งหากเป็นแบบจำลอง จะต้องสามารถแยกได้ด้วยว่าเด็กเล่นเกมหรือใช้หาความรู้ รวมทั้งหากต้องใช้งบประมาณสูงเป็น 10 ล้าน ก็ถือว่าไม่คุ้มหากใช้ไม่ได้จริง นอกจากนี้ยังมีนักวิชาการเสนอต่อ ศ.ดร.อภินันท์ โปษยานนท์ อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เกี่ยวกับให้แยกร้านอินเทอร์เน็ตที่ใช้ทั่วไปออกจากร้านอินเทอร์เน็ตที่ให้บริการร้านเกม หากเราประกาศเป็นกฎกระทรวงออกไปคงจะยุ่งอย่างแน่นอน ที่สำคัญการที่เราจะทำใช้บัตรประชาชนควบคุมการเล่นเกมก็ต้องศึกษาตัวบทกฎหมายอื่นๆ ด้วยว่ากระทบต่อสิทธิของประชาชนหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ผมเห็นว่าเรื่องควบคุมการเล่นเกมของเด็กไม่เกิน 3 ชั่วโมงยังถือว่าเป็นวุ้นอยู่” ปลัด วธ.กล่าว
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์