คำตอบของสมดุลความสุข "งาน" และ "ครอบครัว"
ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
ว่ากันว่า "บ้าน" หรือ "ครอบครัว"คือขุมพลังสำคัญที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของมนุษย์ทำงานทุกคน โดยเฉพาะบ้านหรือครอบครัวที่อบอุ่นมีความสุข มักจะส่งผลต่อการประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานในแต่ละองค์ร และยังส่งต่อไปถึงความสงบสุขและคุณภาพสังคมที่แท้จริง
แนวคิดดังกล่าวได้กำลังเป็นอีกโจทย์ทำงานสำคัญ ของการตั้งเป้าหมายที่จะสร้างสมดุลชีวิตการทำงานและชีวิตครอบครัว ผ่านแนวคิด "ครอบครัวมีสุข" โดยสองภาคีที่เห็นความสำคัญของพลังครอบครัว อย่าง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ที่กำลังเดินหน้าผลักดันให้หลายองค์กร Happy Work Place หันมาส่งเสริมการสร้าง Happy Family หรือครอบครัวมีสุขมากขึ้น เพื่อลดปัญหาต่างๆ ในครอบครัวและเพิ่มพูนผลิตภาพของ ผลงานในองค์กรให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในประเทศไทย
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. ทำงานด้านสุขภาวะเด็ก เยาวชนและครอบครัว ตามนโยบาย "การพัฒนาคนตลอดช่วงชีวิต" ของรัฐบาล เสริมสร้างและพัฒนาศักยภาพทุนมนุษย์ และสถาบันครอบครัวให้มีความเข้มแข็ง โดยกลยุทธสำคัญประการหนึ่งคือการสนับสนุนให้คนวัยทำงาน สามารถสร้างสมดุลชีวิตการทำงานและชีวิตครอบครัว เพื่อลดปัญหาต่างๆในครอบครัวและเพิ่มพูนผลิตภาพของผลงาน
"เนื่องจากยุคสมัยนี้คนส่วนใหญ่ใช้เวลาครึ่งหนึ่งของชีวิตตนเองอยู่ในที่ทำงาน บางคนให้ความสำคัญกับเรื่องงานมากกว่าการคำนึงถึงสุขภาพที่ดีของตนเอง แต่เรามองว่าสิ่งที่จะเชื่อมตรงกลางระหว่างสองเรื่องนี้ได้คือ ครอบครัว เพราะพนักงานในองค์กรเอง ทุกคนยังมีอีกบทบาทของการเป็นสมาชิกหรือผู้นำในครอบครัว
เมื่อเด็กเยาวชนต้องพึ่งครอบครัวที่ดีเพื่อเติบโตอย่างมีสุขภาวะ ขณะเดียวกันพนักงานในองค์กรต่างๆ ก็มีครอบครัวที่ต้องดูแล ในการทำให้ครอบครัวอบอุ่นได้ต้องอาศัย พลังทุกฝ่าย รวมถึงองค์กรหรือที่ทำงาน ที่สำคัญการขับเคลื่อนดังกล่าวยังส่งผลต่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพ สุดท้ายคือการสร้างรากฐานครอบครัวที่มีสุขภาวะดีในประเทศไทยดังนั้น สสส. จึงมีเป้าหมายที่จะช่วยเพิ่มดัชนีครอบครัวอบอุ่นให้อยู่ในระดับดีขึ้นอย่างน้อยร้อยละ 70 ภายในปี 2563"
โดยก้าวแรกที่จะเดินไปถึงเป้าหมายดังกล่าว จึงเริ่มต้นด้วยการจัดงานสัมมนาและมอบรางวัลองค์กรต้นแบบครอบครัวมีสุข ประจำปี 2561 (Happy Family Award 2018) "ครอบครัวอบอุ่น องค์กรมั่นคง ชีวิตมั่งคั่ง" ขึ้น เพื่อ จุดประกายแนวคิดดังกล่าวไปยัง "องค์กร" ที่ล้วนมีชีวิตของคนวัยทำงานที่เป็นกำลังของหลายครอบครัว โดยมีทั้งจากหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคธุรกิจ ทั้งวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ถึง 20 องค์กรที่นับจากนี้จะกลายเป็นองค์กรนำร่องต้นแบบให้กับองค์กรอื่นๆ ทั่วไทย
ณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าวว่า สสส. ได้ร่วมกับสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนากระบวนการสร้างเสริมครอบครัวอบอุ่นให้แก่คนทำงานองค์กรในประเทศไทยโดยยึดตามแนวคิดสังคมที่ดีควรเริ่มต้นจากครอบครัวอบอุ่นและเข้มแข็ง ซึ่งผลการดำเนินงานหนึ่งปีที่ผ่านมาทำให้เกิดต้นแบบองค์กรสร้างสุขภาวะครอบครัวจำนวน 20 แห่ง ที่มีรูปธรรมผลสำเร็จชัดเจน และเครื่องมือวัด "ครอบครัวอบอุ่นต้นแบบ" ที่มี 3 องค์ประกอบ ได้แก่ สัมพันธภาพที่ดีภายในครอบครัว สมาชิกในครอบครัวมีบทบาทหน้าที่ที่ดีต่อกัน และครอบครัวมีความเข้มแข็งพึ่งตนเองได้ นอกจากนี้ ยังทำให้เกิด หลักสูตร "การสร้างนักสร้างเสริมครอบครัวอบอุ่น: Happy Family Agent" ซึ่งเป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการระยะสั้น เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และฝึกทักษะ แบบพี่เลี้ยง ให้แก่ บุคลากรที่องค์กรเลือก สรรมา
สำหรับในการจัดงานครั้งนี้ มีการประกาศมองรางวัลองค์กรดีเด่น ดีมาก และดี โดยแบ่งรางวัลออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่ รัฐบาล เอกชน รัฐวิสาหกิจ วิสาหกิจชุมชน และเอสเอ็มอี
หนึ่งในผู้ประกอบการที่ได้รับรางวัล ซึ่งเกิดจากการคำนึงถึงการสร้างคุณค่า ทางสังคมควบคู่ไปกับการดำเนินธุรกิจ โรงแรมศิวาเทล จำกัด (Sivatel) ที่มีการดำเนินการโครงการ ขยะทองคำ ซีวาเทลหัวใจสีเขียว โครงการอบรมให้ความรู้การคัดแยกขยะแบบละเอียดอย่างถูกวิธีแก่พนักงาน อลิสา ศิวยาธร CEO ขององค์กร บอกเล่าว่า Happy Family เป็นส่วนต่อของ Happy Work Place สำหรับโครงการธนาคารขยะ ทองคำ เป็นเรื่องการคัดแยกขยะให้ถูกวิธี ซึ่งปีที่แล้วมีการจัดทำในโรงแรม มาปีนี้ได้ต่อยอดเข้าไปในครอบครัวพนักงาน เพื่อให้ทุกคนสามารถจัดการขยะได้ถูกวิธีและมีรายได้จากการขยะ
"เราจะอธิบายว่า ขยะบางประเภทสามารถรีไซเคิลได้มันมีมูลค่าสามารถนำไปขายกลับมาเป็นรายได้ครัวเรือนได้ โดยเราได้เปิดเป็นธนาคารขยะ ให้พนักงานมาเปิดบัญชีนี้ไว้ และมี Price List บอกเรทราคารับซื้อขยะแต่ละประเภทจากกลุ่มพนักงานกิโลกรัมละกี่บาทในทุกวันศุกร์ ซึ่งมูลค่าเงินที่เขาขายได้จะถูกสะสมไปจนถึงสิ้นปี ปัจจุบันมีพนักงาน 95 คนจาก 165 คน ก็ถือเป็นร้อยละ 60 ที่สนใจโครงการดังกล่าว"
อีกหนึ่งองค์กรภาครัฐที่ให้ความสำคัญกับการสร้างความสุขของ "คน" ในองค์กร อุดม อรุณรุ่งศรี รองผู้อำนวยการสำนัก หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 7 ขอนแก่น เปิดเผยว่า โครงการดังกล่าวเป็นนโยบายจากท่านผู้อำนวยการสำนักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 7 ขอนแก่น ที่เห็นความสำคัญในเรื่องนี้ เพราะสอดคล้องกับวิสัยทัศน์องค์กรที่ว่าคน สปสช. ต้องเป็นทั้งคนเก่ง คนดี มีความสุขและทันต่อการเปลี่ยนแปลง
"เรามองว่าโครงการนี้มีประโยชน์ จึงเริ่มกิจกรรมในปีนี้อย่างเป็นรูปธรรม เพราะเห็นว่าทั้งชีวิตส่วนตัวและการงานควรจะไปด้วยกัน หลังจากที่เราได้วัดคะแนนในมิติความสุข 8 ด้านของ Happy Work Place ทำให้เราพบว่าจุดอ่อนของเราคือในเรื่อง Happy Money และ Happy Relax จึงนำมาพัฒนา กิจกรรม อาทิ การซื้อเมล็ดพันธุ์มาปลูกผัก ปลอดสาร การส่งเสริมการออกกำลังกาย เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ตอนนี้ ยังเกิด การขยายผล โดยทาง สปสช. มีการทำข้อตกลง กับทางมหาวิทยาลัยมหิดลว่าจะทำเรื่องนี้ กับหน่วย สปสช. ทั้ง 13 เขตทั่วประเทศ"
ด้าน รศ.ดร.ศิรินันท์ กิตติสุขสถิตรองผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนากิจการเพื่อสังคมและสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เอ่ยถึงโครงการ "การสร้างเสริมครอบครัวอบอุ่นไปสู่ครอบครัวสุขภาพของคนทำงานองค์กรในประเทศ" ว่า จากการประเมินครอบครัวอบอุ่นต้นแบบ: คนทำงาน 100 องค์กร พบว่า ครอบครัวส่วนใหญ่ร้อยละ 63 อาศัยอยู่ร่วมกันทุกวัน/ เกือบทุกวัน ในกลุ่มนี้พบว่า มีเวลาเพียงพอมากถึงมากที่สุดในการอยู่กับครอบครัว โดยดัชนีครอบครัวอบอุ่น (ต้นแบบ) ได้คะแนนรวม 72.83 คะแนน ซึ่งคณะทำงานได้คัดเลือก 20 องค์กร ที่มีความโดดเด่น และได้คะแนน ค่อนข้างสูง เพื่อต่อยอดนำไปสู่การเป็น ครอบครัวมีสุขขยายผลสู่องค์กรต่างๆ ต่อไป
"เราพบว่าครอบครัวเป็นส่วนเป็นฐานสำคัญของผลิตภาพ เรามีการเก็บข้อมูลทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ พบว่า พอเขามีประเด็นปัญหาด้านครอบครัว การทำงานก็ประสิทธิภาพลดลง องค์กรคือผู้ได้รับผลกระทบ ยิ่งตอนทำ Happy Work Place พบว่า Happy Family มีความสำคัญไม่น้อยกว่า Happy Money ทำให้เรามองว่าเรื่องเงินอาจไม่ใช่ตัวหลักก็ได้ รางวัลนี้เราอยากให้การสร้างเสริมตรงนี้มีความสากล ทำให้เขารู้สึกภาคภูมิใจ และเป็นการกระจายต้นแบบ ที่สำคัญเรามุ่งหวังในมิติการแลกเปลี่ยนระหว่างกัน ได้ภาคีที่มาร่วมมือขับเคลื่อน"