คาดคนไทยป่วยซึมเศร้าพุ่งกว่า 3 ล้าน

ชี้โรคสุขภาพจิตที่น่าเป็นห่วง เป็นสาเหตุนำไปสู่การฆ่าตัวตาย

 คาดคนไทยป่วยซึมเศร้าพุ่งกว่า 3 ล้าน

          เมื่อวันที่ 30 เม.ย. นพ.ม.ล.สมชาย จักรพันธุ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยถึงการประมาณการจำนวนฆ่าตัวตายสำเร็จปี 2551 เผยแพร่โดยศูนย์สารสนเทศ กองแผนงานกรมสุขภาพจิตว่า ผลจากการรวบรวมจำนวนผู้ที่ฆ่าตัวตายสำเร็จจากใบมรณบัตรของกระทรวงมหาดไทย ในช่วงเดือน ม.ค.-ธ.ค. 2550 พบว่าประชาชนไทยฆ่าตัวตายสำเร็จ 3,458 คน ในจำนวนนี้เป็นชาย 2,703 คน และเป็นหญิง 755 คน จังหวัดที่มีจำนวนคนฆ่าตัวตายสูงสุด คือ จ.เชียงใหม่ ฆ่าตัวตายสำเร็จถึง 227 คน

 

          กรมสุขภาพจิตได้ประมาณการจำนวนฆ่าตัวตายสำเร็จในปี 2551 โดยตั้งเป้าว่าจะต้องไม่สูงกว่าปี 2550 แม้ว่าจะมีปัจจัยลบในด้านต่างๆ เช่น สภาพเศรษฐกิจสังคมที่แย่ลง อาจจะส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของคนไทย ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตมากขึ้น ซึ่งรวมถึงสภาวะที่กระตุ้นให้ เกิดการฆ่าตัวตายมากขึ้นด้วยนพ.ม.ล.สมชายกล่าวและว่าได้ตั้งเป้าที่จะลดอัตราการฆ่าตัวตายของคนไทยให้ไม่เกิน 3,341 คน ลดลง 117 คน

 

          อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าวอีกว่า โรคที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตที่น่าเป็นห่วงและเป็นสาเหตุสำคัญที่นำไปสู่การฆ่าตัวตายอีกโรคหนึ่งคือ โรคซึมเศร้า มีการสำรวจอัตราความชุกของโรคซึมเศร้าชนิดต่างๆทั้งซึมเศร้าชนิดรุนแรง ซึมเศร้าเรื้อรัง และความผิดปกติทางอารมณ์แบบมีอาการทางจิต พบว่ามีอัตราความชุกประมาณ 4.76% ของประชากร หรือประมาณ 3 ล้านคน ทั้งนี้ จากปี 2547-2549 จำนวนผู้ป่วยโรคซึมเศร้าประมาณ 3 ล้านคน มีผู้มารับการรักษาพยาบาลเพียง 116,847 คนเท่านั้น เนื่องจากส่วนใหญ่ ไม่รู้ว่าตนเองป่วยเป็นโรคซึมเศร้า และไม่คิดว่าอาการซึมเศร้าเป็นการเจ็บป่วยทางจิตอย่างหนึ่ง ซึ่งอันตรายมาก กรมสุขภาพจิตได้นำเสนอการประมาณจำนวนผู้ ป่วยและอัตราการเข้าถึงบริการของผู้ป่วยโรคซึมเศร้าในประเทศไทยปี 2551 ซึ่งจากสภาพเศรษฐกิจสังคม ความเป็นอยู่ที่อาจจะมีปัญหาเพิ่มขึ้น กรมสุขภาพจิตประมาณว่า ในปี 2551 ประเทศไทยจะมีผู้ป่วยด้วยโรคซึมเศร้าสูงถึง 3,002,789 คน ขณะที่มีผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้าและได้รับการรักษาเพียง 130,341 คน

 

 

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

 

 

 

update 01-05-51

Shares:
QR Code :
QR Code