“ความหวังใหม่” นิโคตินเม็ดบำบัดอัลไซเมอร์

เผย! นิโคตินช่วยกระตุ้นสมาธิ-ความจำ ได้จริงหรือ???

 “ความหวังใหม่” นิโคตินเม็ดบำบัดอัลไซเมอร์

          นักวิจัยชี้การสูบบุหรี่สามารถกระตุ้นความจำและสมาธิได้ เพิ่มความหวังในการพัฒนาเพื่อบำบัดผู้ป่วยอัลไซเมอร์

 

          ขณะนี้ ผู้เชี่ยวชาญกำลังพัฒนายาที่เลียนแบบส่วนผสมบางอย่างในบุหรี่ที่กระตุ้นการทำงานของสมองโดยปราศจากผลข้างเคียงซึ่งเป็นสาเหตุของโรคหัวใจ มะเร็ง หลอดเลือดสมอง หรือการเสพติด

 

          ความพยายามนี้มีขึ้น หลังจากพบว่านิโคตินสามารถกระตุ้นสติปัญญาและความสามารถในการจดจำของหนูทดลอง

 

          นักวิจัยยังหวังว่า ยาตัวใหม่ที่คาดว่าจะออกมาในอีก 5 ปี จะมีผลข้างเคียงน้อยกว่ายารักษาโรคจิตเสื่อมที่ใช้กันอยู่ในขณะนี้ อย่างไรก็ดี นักวิจัยย้ำว่า ยาตัวใหม่ไม่สามารถรักษาโรคอัลไซเมอร์หายขาดได้ แต่จะยืดเวลาที่ผู้ป่วยจะสามารถดูแลตัวเองได้ออกไปอีกหลายเดือน

 

          ทั้งนี้ รู้กันมานานแล้วว่าบุหรี่มีฤทธิ์กระตุ้นสมอง แพทย์บางคนแนะนำให้สูบบุหรี่เพื่อเสริมสร้างไหวพริบและกระตุ้นสมาธิ อย่างไรก็ตาม ผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายถึงชีวิตของโรคมะเร็ง หลอดเลือดสมอง และโรคหัวใจ ทำให้ข้อดีของบุหรี่ถูกมองข้ามในการวิจัยทางการแพทย์

 

          ศาสตราจารย์เอียน สโตลแมน จากสถาบันจิตเวชของคิงส์ คอลเลจในลอนดอน เผยว่า เมื่อเริ่มต้นการทดลองนี้เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ทีมงานไม่คิดว่าจะพบประโยชน์ของนิโคตินต่อความสามารถในการคิดและจดจำ

 

          ทีมงานได้ฝึกให้หนูตอบสนองต่อแสงไฟกะพริบ โดยหากขยับไปทางขวา หนูจะได้อาหารเม็ดเป็นรางวัล หลังการฝึกปรากฏว่า หนูตอบสนองถูกต้อง 80% ของเวลาที่ทำการทดลอง แต่หลังจากฉีดนิโคติน อัตราความสำเร็จเพิ่มขึ้นอีก 5%

 

          ความแตกต่างปรากฏชัดเจนเมื่อหนูถูกเบี่ยงเบนความสนใจด้วยเสียงดัง เพราะอัตราความสำเร็จลดลงอยู่ที่ 50% แต่เมื่อได้รับนิโคติน หนูสามารถทำภารกิจได้ถูกต้องถึง 80%

 

          ทีมนักวิจัยของศาสตราจารย์สโตลแมนทำการศึกษาต่อไปว่า นิโคตินทำให้วงจรของสมองเปลี่ยนแปลง ซึ่งไปกระตุ้นความจำและสมาธิได้อย่างไร และพบว่าตัวรับสัญญาณและสารเคมีสื่อสารสำคัญบางส่วนของสมอง เช่น โดพามีน และกลูตาเมต มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้

 

          นักวิจัยยังพบความแตกต่างของเหตุการณ์ต่างๆ ที่นำไปสู่การเพิ่มพลังสมองและการเสพติด

 

          เราเชื่อว่าหากใช้ความแตกต่างนี้เป็นพื้นฐาน เป็นไปได้ว่านักเคมีเวชภัณฑ์อาจพัฒนาสารที่เลียนแบบเฉพาะผลแง่บวกของนิโคติน

 

          ตลอดระยะเวลา 10-15 ปีที่ผ่านมา บริษัทยาหลายแห่งซุ่มพัฒนาสารที่อิงกับนิโคติน และให้ผลในทางบวกเท่านั้น การค้นพบใหม่นี้อาจนำไปสู่ยาตัวใหม่ที่อิงกับนิโคตินภายในเวลาไม่กี่ปีนับจากนี้

 

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ

 

 

update: 24-07-51

 

 

 

Shares:
QR Code :
QR Code