‘ความสุข’ ของพนักงาน คือรากฐานขององค์กร

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


'ความสุข' ของพนักงาน คือรากฐานขององค์กร thaihealth


เมื่อไม่นานมานี้ ผมมีโอกาสไปเยี่ยมชมโรงงานผลิตอาหารสัตว์แห่งหนึ่ง ในจังหวัดเพชรบุรี ด้วยโลเคชั่นของโรงงานที่อยู่ห่างไกลจากเมืองและความเจริญ มาพอสมควร ทำให้ปัญหาแรกๆ ที่ผู้บริหารสะท้อนออกมาให้พวกเราฟัง คือการจะหาคนมาทำงานเป็นเรื่องยาก เมื่อได้แล้วก็อยู่กับบริษัทไม่นาน ก็ลาออก


ทางแก้ไขเบื้องต้นของบริษัท คือ ให้ความสำคัญกับการรับคนในพื้นที่ เข้าทำงานแล้วเน้นการพัฒนาทักษะอย่างเหมาะสม อีกเรื่องที่ทำคือ การทุ่มเท สร้างองค์กรแห่งความสุข ใช้คติ "โรงงานเป็นบ้านหลังที่สอง" ผ่านโครงการ และกิจกรรมที่หลากหลาย ภายใต้แนวคิด Happy Workplace ที่สำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว


กิจกรรมที่บริษัททำ มี 2 ด้าน คือ ด้านสุขภาพ Happy Body และ ด้านการเงิน Happy Money เช่น ชั่งน้ำหนักวัดความดันพนักงานทุกเดือน ส่งเสริมการออกกำลังกายเป็นประจำ ทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายของครัวเรือน จัดโครงการ ออมเงินและเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับพนักงานที่มีความจำเป็นต้องใช้เงิน โดยดอกผลที่เกิดขึ้นจากกองทุนก็นำไปทำกิจกรรม CSR นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้พนักงานสร้างรายได้เสริม ทั้งการปลูกผักสวนครัวในรั้วโรงงาน การเลี้ยงปลา โดยใช้อาหารปลาที่ผลิตจากโรงงาน และส่งเสริมอาชีพตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง


'ความสุข' ของพนักงาน คือรากฐานขององค์กร thaihealth


สิ่งที่เกิดขึ้นได้ผลค่อนข้างดีจากความร่วมมือของพนักงานและผู้บริหาร จากกิจกรรมที่ดูธรรมดาทั่วไป แต่กลับส่งผลให้หลายชีวิต มีความสุข สมดุลมากขึ้น ปัญหาสุขภาพ ปัญหาการเงิน และปัญหาครอบครัว ลดน้อยลง พนักงานรายวันบางคนสามารถแก้ไขปัญหาชีวิตที่ล้มเหลวจนสามารถส่งลูกเรียนจบปริญญา เป็นต้นแบบที่ดีให้กับเพื่อนได้ ที่สำคัญคือ คุณภาพชีวิตที่ดีก็ส่งผลให้คุณภาพงานดีขึ้นด้วย เมื่อพนักงานไม่มีเรื่องที่ต้องกังวลก็ทำให้มีสมาธิในการทำงาน สามารถทุ่มเทพลังให้กับงานได้อย่างเต็มที่ และสร้างบรรยากาศการทำงานที่ดีกับเพื่อนร่วมงาน


และผมก็เหลือบไปเห็นกระปุกออมสินหลายใบตั้งอยู่ที่มุมเก็บเอกสารของหน่วยงาน กระปุกแต่ละใบจะมีชื่อของพนักงานเขียนติดอยู่ คำถามที่เกิดขึ้นในใจ คือ เอากระปุกมาตั้งแบบนี้ ทำไมเงินในกระปุกถึงไม่หาย..! พอได้ถามพนักงานท่านหนึ่งก็รู้ว่าสิ่งที่โรงงานทำนอกจากจะช่วยให้ทุกคนเห็นความสำคัญของการใช้เงินแล้ว เมื่อชีวิตมีความพอเพียงก็ไม่ไปเบียดเบียนคนอื่น การแลกเปลี่ยนความคิดช่วยเหลือเกื้อกูลกันทำให้พนักงานรู้สึกเป็นครอบครัวเดียวกัน ไม่เกิดความขัดแย้งลุกลามเป็นเรื่องใหญ่โต และสิ่งสำคัญ คือ สังคมที่ศรัทธาในความดีทำให้ทุกคนมีความไว้วางใจ รู้ รัก สามัคคีเหมือนดั่งที่ ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงมีพระราชดำรัสสอนเราไว้.. กระปุกออมสินบนหลังตู้ เอกสารเหล่านั้น ทำให้ผมเห็นถึงรูปธรรมความสำเร็จและพลังที่โรงงานแห่งนี้ สร้างให้กับพนักงานได้อย่างแท้จริง


'ความสุข' ของพนักงาน คือรากฐานขององค์กร thaihealth


หลายองค์กรให้ความสำคัญกับการสร้างคนเก่งและคนดี แต่พฤติกรรมเหล่านี้จะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยเวลาและความทุ่มเท กิจกรรมต่างๆ ที่องค์กรจัดขึ้นควรมีทิศทางที่สนับสนุนการพัฒนาพนักงานในด้านต่างๆ ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุข รวมทั้งคำนึงถึง Triple Bottom Line การสร้างสมดุลของเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เป็นการสร้างพื้นฐานความยั่งยืนให้กับองค์กร เพราะ "คน" ถือเป็นศูนย์กลางของการขับเคลื่อนและพัฒนาองค์กร สอดคล้องกับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม 9999 แนวทางเศรษฐกิจพอเพียงภาคอุตสาหกรรม ที่กระทรวงอุตสาหกรรมดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2556


การให้ความสำคัญกับพนักงานมากกว่าแค่คนทำงาน แต่ดูแลไปถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสร้างความสุขในการทำงานของพนักงาน ถือว่ามีส่วนสำคัญกับผลิตภาพบุคลากร (Human Productivity) อย่างมาก เพราะเป็นการสร้างสภาพแวดล้อมพื้นฐานที่ส่งผลต่อขวัญและกำลังใจในการทำงาน (Morale) พนักงานที่มีความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ รวมถึงวัฒนธรรมในการทำงานที่เปิดรับฟังความคิดเห็น พูดคุยแลกเปลี่ยนสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ๆ และ การยกย่องชมเชย จะส่งผลให้กระบวนการทำงานมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล เกิดการปรับปรุงและพัฒนาผลงาน เรียกได้ว่า "งานได้ผล คนเป็นสุข"


สิ่งที่องค์กรดำเนินการให้กับพนักงานแบบนี้ อาจจะไม่ได้เห็นผลอย่าง ชัดเจนในระยะสั้น แต่ในระยะยาวแล้ว การมีรากฐานที่แข็งแรง มั่นคง ย่อมทำให้องค์กรเติบโตได้อย่างยั่งยืน ถ้าพนักงานทุ่มเทให้กับองค์กรเป็นเสมือนบ้านหลังที่สองของตัวเอง นอกจากผลิตภาพที่ดีจะเกิดขึ้นแล้ว ความร่วมมือ ร่วมใจสู่ความสำเร็จซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกองค์กรใฝ่ฝันก็จะเกิดขึ้น ได้อย่างแน่นอน

Shares:
QR Code :
QR Code