ความสะดวก สบายของมือถือดีจริงหรือ???

ส่อเสื่อมทั้งสุขภาพและนิสัย

 

ความสะดวก สบายของมือถือดีจริงหรือ??? 

คุณรู้หรือไม่ว่าปัจจุบันคนเรามีอวัยวะทั้งหมด 33 ประการ??? หลายคนคงเกิดคำถามในใจว่าอะไรที่เพิ่มเข้ามา ไม่ต้องสงสัย เพราะนั้นคือสิ่งที่เรียกว่า โทรศัพท์มือถือ เนื่องจากปัจจุบันดูเหมือนว่า มือถือ” จะกำลังกลายเป็นส่วนหนึ่งของคนในยุคโลกาภิวัตน์ที่ขาดเสียมิได้ไปแล้ว ซึ่งมันจะงอกเงยขึ้นมาในช่วง วัยรุ่น แต่ก็มีบางคนที่มีกันตั้งแต่ยังเป็นเด็กเล็ก เพราะพ่อแม่มี เหลือกินเหลือใช้ เลยหยิบยื่นให้ตั้งแต่เยาว์วัย

 

การที่คนเราหันมาใช้ มือถือ กันอย่างแพร่หลาย ก็คงต้องยอมรับว่า ข้อดี มันก็มีอยู่ไม่น้อย เช่น ทำให้เราสามารถสื่อสารถึงกันได้ในเกือบทุกที่และตลอดเวลา ทำให้เราสามารถโทรเรียกช่าง /บริษัทประกันมาได้ทันท่วงที เมื่อรถเสีย รถชนบนทางด่วน หรือในบางสถานที่ที่ไม่มีโทรศัพท์สาธารณะ ทั้งหมดล้วนเพื่อความสะดวกสบาย

 

แต่ทุกสิ่งบนโลกย่อมมี 2 ด้านเสมอ มีประโยชน์ก็มักมีโทษมหันต์เหมือนกัน มือถือ ก็เช่นกันหากใช้ในทางที่ผิด ไม่ถูกทางหรือไม่พอดี ข่าวคราวอันตรายจากการใช้ มือถือ เริ่มมีเข้ามาให้ได้ยินกันบ่อยขึ้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอาการปวดศีรษะ เมื่อใช้โทรศัพท์นานๆ อาการร้อนหู ขาดสมาธิ อ่อนเพลีย บางคนบอกว่า ความจำไม่ดีเลยหลังจากใช้โทรศัพท์มือถือ และผลที่ผู้ใช้กังวลที่สุดก็เห็นจะเป็นเรื่องของ มะเร็งในสมอง

      

จากการศึกษาของ นักวิจัยจากสถาบันวิจัยสำหรับชีวิตการทำงานแห่งชาติ (Swedish National Institute for Working Life) ด้วยการสังเกตอาการของผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ใช้โทรศัพท์มือถือจำนวน 2,200 คน เปรียบเทียบกับจำนวนเดียวกันของผู้ที่กำลังควบคุมสุขภาพอยู่ พบว่า ผู้ป่วยโรคมะเร็งจำนวน 905 คนที่มีอายุระหว่าง 20 – 80 ปี ได้รับความเสี่ยงจากการเป็นเนื้องอกในสมอง และประมาณ 1 ใน 10 จากจำนวนดังกล่าวเป็นผู้ที่ติดโทรศัพท์อย่างแรง

      

จากการศึกษานี้ แสดงให้เห็นว่า การใช้โทรศัพท์เป็นเวลานานก็จะยิ่งทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดเนื้องอกที่แฝงตัวอยู่ภายในศีรษะ โดยเฉพาะจุดเดียวกันกับที่วางโทรศัพท์แนบหูมากถึง 240% ทีเดียว

 

การใช้ มือถือ นานๆ นอกจากจะมีโรคภัยไข้เจ็บมาเยี่ยมเยียนแล้ว ยังมีโรคอื่นๆ อีกที่ฟังดูอาจจะแปลกหู แต่เกิดขึ้นจริง อย่างโรค…      

      

ความสะดวก สบายของมือถือดีจริงหรือ???

โรคเห่อตามแฟชั่น แต่ก่อนการจะมีโทรศัพท์สักเครื่องเป็นเรื่องยากเย็น กว่าจะติดตั้งตามบ้านได้ต้องรอเป็นปีๆ ใครมีโทรศัพท์ใช้แรกๆ จึงมักเป็นพวกที่ทำธุรกิจ หรือพวกมีเงิน ต่อมามือถือ ได้กลายเป็นแหล่งทำเงิน ให้แก่ผู้ประกอบการอย่างมหาศาล ก่อให้เกิดการขยายตัว จากผู้ซื้อกลุ่มผู้มีอันจะกินทั้งหลาย ไปสู่ตลาดคนชั้นกลาง คนวัยทำงาน แม่ค้า ประชาชน และกลุ่มวัยรุ่นเพิ่มขึ้น และนี่เองจึงเป็นเหตุให้มีการพัฒนาเทคนิค และออกแบบมือถือเป็นแฟชั่นรุ่นใหม่ๆ มาดึงดูดใจลูกค้าตลอดเวลา และทำให้หลายๆ คนโดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น ผู้ทำงานด้านเทคโนโลยี เศรษฐี นิยมเปลี่ยนมือถือไปตามแฟชั่นเพื่อให้อินเทรนด์ ดูทันสมัย ไม่ตกรุ่น เทียมหน้าเทียมตาเพื่อนฝูง และบ้างก็เปลี่ยนเพื่อให้ดูเป็นคนมีระดับ มีฐานะ ทั้งที่ฟังชั่นหรือประโยชน์ที่เสริมขึ้นมาของแต่ละแบบ บางคนแทบจะไม่ได้ใช้ ดังนั้น มือถือจึงได้กลายเป็นเครื่องประดับ ที่บ่งบอกสถานภาพอีกทางหนึ่ง

 

ต่อมา โรคทรัพย์จาง จากการเห่อตามแฟชั่น ทำให้หลายคนต้องหาเงิน เพื่อหาซื้อ มือถือ รุ่นใหม่อยู่ตลอดเวลา ซึ่งหากมีเงินก็ยังไม่เดือดร้อนเท่าไร แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่มีเงินน้อย แต่มีรสนิยมดีเกินฐานะ จึงเกิดสภาวะทรัพย์จาง ต้องดิ้นรนหาเงิน บางรายถึงกับไปกู้หนี้ยืมสินมาซื้อมือถือ รุ่นที่ตัวอยากได้ บางรายก็ยอมผ่อนเสียดอกเบี้ยราคาสูง เพื่อไม่ให้ตกเทรนด์ ส่วนใหญ่มักจะเกิดกับเด็กวัยรุ่น วัยเรียน ซึ่งทั้งหมดนี้ส่งผลให้พ่อแม่ผู้ปกครองเกิดโรคทรัพย์จางตามมา เพราะต้องหาเงินไปซื้อหาให้ลูก กลัวลูกน้อยหน้าเพื่อน สงสารลูก หรือทนลูกออดอ้อนวอนขอไม่ได้ นอกจากนี้ ยังรวมไปถึงรายจ่ายในเดือนๆ หนึ่ง ของค่าโทรศัพท์ที่ใช้ ซึ่งจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียวแม้จะมีโปรโมชั่นลดแลก แจกแถมต่างๆ มากมายก็ตาม หากไม่รู้จักควบคุมการใช้ให้ดี แนวโน้มที่จะเกิดโรคนี้ก็มีสูงขึ้น

 

ตามมาติดๆด้วย โรคขาดความอดทนและใจร้อน เพราะความสะดวกสบายในการสื่อสารทำให้คนเราขาดความอดทนและใจร้อนขึ้น เพราะโทรศัพท์มือถือ ใช้ตรงไหนก็ได้ เวลาใดก็ได้ กดปุ๊บ ติดปั๊บ ทำให้หลายๆ คนกลายเป็นคนที่ทนรอใครนานไม่ได้ หรือไม่ยอมทนแม้แต่เรื่องเล็กๆน้อยๆ อีกต่อไป เช่น นัดเพื่อนไว้ และเพื่อนมาช้าแค่ 5 นาที ก็ต้องโทรตาม

 

ความสะดวก สบายของมือถือดีจริงหรือ???

และผลต่อเนื่องทำให้เกิด โรคขาดกาลเทศะและมารยาท ตามมา จากการที่เราไม่ค่อยอดทนรอและใจร้อน ทำให้หลายๆ ครั้ง เมื่อต้องการพูดคุยกับใคร ก็จะกดโทรศัพท์ไปหาคนที่เราอยากจะพูด ในทันที โดยไม่ดูเวลา บางครั้ง อาจจะเป็นเวลาประชุม เวลานอน เวลารับประทานอาหาร เวลาพักผ่อน หรือเป็นวันหยุด ซึ่งการโทรไปเช่นนั้น ถือเป็นการเสียมารยาท เพราะผู้รับอาจไม่พอใจหรือโกรธได้ นี่ยังรวมไปถึงการการใช้มือถือโดยไม่เลือกสถานที่ เช่น ในห้องประชุม โรงหนัง โรงมหรสพ บนรถ/เรือโดยสาร หรือในระหว่างพิธีการต่างๆ ซึ่งเป็นสถานที่ที่งดใช้เสียง รบกวนสมาธิของผู้อื่น ซึ่งถือเป็นเรื่องที่เสียมารยาททั้งสิ้น บางคนก็มักใช้ภาษาไม่สุภาพ ในที่สาธารณะ ด่าว่าอีกฝ่ายทางโทรศัพท์ ซึ่งโดยมารยาททางสังคมนั้น ไม่ควรทำอย่างยิ่ง ควรจะปิดมือถือ หรือเปลี่ยนระบบเป็นแบบสั่น เมื่ออยู่ในสถานที่ประชุม โรงหนัง และไม่ควรพูดคุยด้วยเสียงอันดัง และไม่สุภาพเมื่อมีผู้อื่นอยู่ด้วย

 

และโรคสุดท้ายนี้ มักเกิดกับวัยรุ่น นั่นคือ โรคไม่จริงใจ เนื่องจากการพูดคุยทางโทรศัพท์ ไม่ต้องเห็นหน้าตา ท่าทาง สายตาและปฏิสัมพันธ์ที่มีต่อกัน ทำให้หลายคน สามารถใช้คำหวานหลอกลวง หรือพูดโกหกผู้อื่น หรือนิยมส่ง sms ไปยังอีกฝ่าย ทำเสมือนรักใคร่ ผูกพันหรือห่วงใย อาจกลายเป็นสาเหตุทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมาได้ ไม่ว่าจะเป็นการล่อลวงไปข่มขืน การฉ้อโกงเรื่องเงินได้

 

            ทั้งหมดนี้ ถือเป็นโรคร่วมสมัยที่มาพร้อมกับ โทรศัพท์มือถือ ที่เราควรตระหนักและรู้จักฉลาดในการใช้ให้เป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ต่อตัวเรา ทั้งด้านส่วนตัว การเรียน และหน้าที่การงาน ให้สมกับที่เป็นคนยุคใหม่ นอกจากนี้หากใครจำเป็นต้องใช้ มือถือ บ่อยๆ ก็ควรหา Hand Free หรือ small talk มาใช้เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคทางสุขภาพ

 

ถึงแม้ตัวช่วยต่างๆ จะช่วยลดความเสี่ยงโรคต่างๆ ลงได้บ้าง แต่ทางออกที่ดีที่สุดคือ การรู้จัก “ความพอดี” ในการใช้ เพราะไม่เพียงแต่ไม่ทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพแล้ว ยังไม่ต้องจ่ายค่าบริการที่มากตามไปด้วย คงจะไม่คุ้มนักที่จะต้องเสียเงินจ่ายทั้งค่าบริการโทรศัพท์และค่ารักษาสุขภาพควบคู่กัน เพียงแค่การมีโทรศัพท์และคุยนานๆ

 

 

 

 

 

เรื่องโดย: ณัฏฐ์ ตุ้มภู่ Team content www.thaihealth.or.th

 

 

Update:29-01-53

อัพเดทเนื้อหาโดย: ณัฏฐ์ ตุ้มภู่

Shares:
QR Code :
QR Code