“ครอบครัว” เกราะป้องกันเด็กไทยมั่วเซ็กซ์
กลายเป็นข่าวหน้า 1 พาดหัวไม้ ประเด็นกระแสฮอตฮิตในสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้กับเรื่องราวของเด็กนักเรียนมีเซ็กซ์ในโรงหนังดังกลางเมืองเพชรบุรี หนีเรียนนัดเปิดม่านรูดปาร์ตี้สวิงกิ้งกันถึง 10 คน สร้างความสะเทือนใจให้กับผู้ใหญ่อย่างเราๆ จนทำให้หนักใจว่าหากจะมีลูกสักคนในสมัยนี้จะดูแลเลี้ยงดูพวกเขาอย่างไรดี
สิ่งสำคัญที่ผู้ปกครองเองคงต้องให้ความสำคัญอย่างมากคือการเอาใจใส่ดูแลลูกๆ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญที่นับเป็นเกราะป้องกันอย่างขาดเสียไม่ได้
นางฐาณิชชา ลิ้มพานิช ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายครอบครัวกล่าวว่า เรื่องเพศในวัยรุ่นมีเยอะมากขึ้นในสังคมไทย เดิมเรามองว่าต้องรักตัวสงวนตัว แต่ตอนนี้เรื่องนี้คงไม่ทันกับเหตุการณ์ที่วัยรุ่นต้องการจะมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร อาจจะเป็นเรื่องของฮอร์โมน สื่อต่างๆ ที่พบง่ายขึ้น เช่น วิดีโอหรือหนังสือโป๊ เร็วขึ้นตามพลวัตรที่เปลี่ยนไปของสังคม อันดับแรกพ่อแม่ต้องเข้าใจก่อนว่าสังคมไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปแล้ว ดังนั้นการคุยเรื่องเพศกับลูกเป็นสิ่งสำคัญมาก และสามารถคุยกันได้ตั้งแต่เล็กๆ และเรื่องเพศเป็นเรื่องของความรู้ไม่ใช่ความเชื่อ โดยพ่อแม่ต้องมีทัศนคติที่ดีกับเรื่องนี้ก่อน นอกจากนี้สภาพแวดล้อมในปัจจุบันนี้จะพบว่ามีพื้นที่เสี่ยงค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นร้านเกม โรงหนังที่มีจุดมุมอับมืด ดังนั้นเราควรมีการส่งเสริมพื้นที่ดีๆ ให้เกิดขึ้นในสังคม สังคมเองก็ต้องช่วยกันด้วย
“สังคมต้องร่วมดูแลช่วยกันและกัน เช่น เวลาเห็นเด็กๆ ไปในสถานที่ที่มีพื้นที่เสี่ยง เมื่อเห็นแล้วต้องช่วยกันดูแลชักจูงกลับมา ลูกเราลูกเขาลูกใครก็อยากให้ช่วยกันดูแล พยายามชักชวนกันไปในสถานที่ดีๆ และพยายามให้มีพื้นที่สีขาวมากขึ้น อย่าให้มีพื้นที่สีดำหรือสีเทา ถึงโรงหนังเองก็ควรไม่จัดพื้นที่ให้เป็นมุมอับเกินไป และสิ่งสำคัญคือการให้ความรู้แก่เด็กๆ “ฐาณิชชากล่าว
ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว ยังเชื่อว่าแม้ในสังคมยุคใหม่นี้จะมีการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น แต่พ่อแม่คือผู้ที่จะเลี้ยงดูลูกได้ดีที่สุดกว่านักวิชาชีพหรือนักวิชาการไหนๆ
“พ่อแม่ยุคใหม่จะรู้สึกกังวลว่าจะเลี้ยงลูกได้หรือไม่ จริงๆ แล้วไม่มีใครเลี้ยงลูกได้ดีที่สุดเท่ากับตัวเราเอง พอเรามีลูกแล้วมักจะหวังพึ่งนักวิชาการ นักวิชาชีพ จริงๆ แล้วต้องมั่นใจก่อนว่าเราสามารถเป็นพ่อแม่ที่ดีและดูแลลูกได้ หาความรู้โดยเลี้ยงลูกอย่างมีความรู้ไม่ใช่ความเชื่อ อยู่ในหลักของการเลี้ยงที่เหมาะสมเลี้ยงดูตามพัฒนาการตามวัย ต้องแสดงบทบาทของพ่อและแม่ที่ถูกต้อง โดยเป็นแบบอย่างที่ถูกต้องเหมาะสม และความเชื่อที่ว่าลูกอยู่บ้านดีกว่าลูกออกไปแล้วอันตราย ในจุดนี้ต้องเข้าใจว่าความอันตรายนั้นเดี๋ยวนี้ก็มาถึงบ้านแล้ว เช่นจากสื่อเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เราเองต้องเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับลูก และพ่อแม่ควรหาแหล่งที่ปรึกษา อย่าเก็บปัญหาไว้เพียงลำพังจนสายเกินไป โดยในส่วนมูลนิธิฯเองนั้นก็มีกิจกรรมสำหรับครอบครัว มีพื้นที่ให้ครอบครัวได้มีโอกาสเรียนรู้ และยังมีคอร์สเรียนรู้ของเด็ก 0-6 ปี อย่างไรก็ตามนักวิชาชีพหลายคนยืนยันว่าไม่สามารถเลี้ยงดูลูกได้ดีเท่ากับพ่อแม่ แต่พวกเขาเป็นเพียงตัวช่วย และกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อนก็จะมีการแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน”
ส่วนหนึ่งจากคอลัมน์ห้องเรียนพ่อแม่ นิตยสารโฮม นางฐาณิชชาเขียนไว้ตอนหนึ่งถึงเรื่อง“เพศ” ที่ต้องรู้ตั้งแต่อยู่อนุบาลว่า
คนไทยส่วนใหญ่ยังคิดว่าเรื่อง “เพศ” เป็นเรื่องน่าอับอาย ไม่ควรพูดถึงส่งผลให้เด็กไทยจำนวนมากไม่กล้าถาม ไม่กล้าปรึกษาพ่อแม่ จึงเชื่อเพื่อน เชื่อแฟน มีความสัมพันธ์ทางเพศโดยไม่ป้องกัน ทำให้เกิดโรคติดต่อ เด็กผู้หญิงตั้งครรภ์ขณะเรียนหนังสือหรือบางคนทำแท้งซ้ำแล้วซ้ำอีก ปัญหาเหล่านี้มีทั้งทางป้องกันและการแก้ไข ประเด็นสำคัญอยู่ที่ว่าเราจะสอนเรื่องเพศให้เด็กรู้ตั้งแต่เมื่อไหร่และปัญหาของเด็กแต่ละวัยมีอะไรบ้าง
เริ่มจากการตอบคำถาม
“หนูเกิดมาจากไหน”นี่เป็นคำถามที่ผู้ใหญ่หลายคนตอบไม่ถูก ซึ่งคงต้องย้อนกลับไปดูทัศนคติของพ่อแม่ที่มีต่อเรื่องนี้ เพราะถ้าพ่อแม่คิดว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องน่าอับอาย ไม่น่าพูดถึง พ่อแม่ไม่พูด ลูกก็ไม่กล้าถาม แต่ถ้าพ่อแม่พูดคุยได้ทุกเรื่องลูกก็จะกล้าถาม กล้าปรึกษา และกล้าที่จะเปิดเผย ไม่ปิดปัง
ตัวอย่างคำถามที่พบบ่อยๆ
ถาม “หนูเกิดมาจากไหน”
ตอบ “หนูเกิดจากพ่อนะลูก ลูกอยู่กับพ่อ แล้วมาอยู่กับแม่ มาอยู่ในท้องแม่”
ถาม “แล้วหนูเข้าไปอยู่ในท้องแม่ได้อย่างไร”
ตอบ “ทางช่องคลอด แล้วหนูอยู่ตรงนี้จนโต”ชี้ที่ท้อง
ถาม “หนูออกมาจากท้องแม่ได้อย่างไร”
ตอบ “ผู้หญิงมีช่องคลอด ลูกออกมาจากทางนั้น”
นี่เป็นตัวอย่างการพูดคุยง่ายๆ กับเด็กวัยอนุบาล ซึ่งต้องการคำอธิบายที่ชัด กระชับ เข้าใจง่าย เมื่อเด็กถามแล้ว อาจนำคำถามเดิมมาถามซ้ำอีก พ่อแม่ก็อย่าเพิ่งรำคาญ เพราะวัยนี่จะถามบ่อยๆ ซ้ำๆ เป็นเรื่องปกติ พ่อแม่คอยตอบคำถามที่เช้าใจง่ายก็พอแล้ว เพราะสิ่งที่เด็กต้องการจริงๆ คือความรัก ความมั่นคง ความปลอดภัยจากครอบครัว
เรื่องโดย : สุนันทา สุขสุมิตร Team content www.thaihealth.or.th