คปส.หนุนตั้งกลไกอิสระ “สภาศิลปวัฒนธรรมแห่งประเทศ”
วันที่ 25 มีนาคม ที่ผ่านมา ในการประชุมสมัชชาปฏิรูประดับชาติครั้งที่ 1 บนเวทีวิชาการเรื่อง “การขับเคลื่อนศิลปวัฒนธรรมภาคประชาชน : กลไกเพื่อพัฒนาสังคม” ที่ห้องประชุมปฏิรูป 7 อิมแพค คอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ เมืองทองธานี โดยคณะกรรมการเครือข่ายศิลปินเพื่อการปฏิรูป (คศป.) มีความเห็นสนับสนุนตั้งกลไกอิสระ “สภาศิลปวัฒนธรรมแห่งประเทศ” พร้อมทั้งเร่งขับเคลื่อนใน 6 มติ เพื่อสร้างความเป็นธรรม ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ประธานคณะกรรมการเครือข่ายศิลปินเพื่อการปฏิรูป กล่าวว่า จากที่ประชุมสมัชชาเพื่อการปฏิรูประดับชาติเสนอและให้ความเห็นชอบนั้น บทบาทหลักของเครือข่ายศิลปวัฒนธรรมภาคประชาชน มีอยู่ 6 ประการ คือ 1. การใช้พลังของศิลปวัฒนธรรมในการเยียวยาและพัฒนาสังคม 2. การบริหารจัดการให้องค์กรศิลปวัฒนธรรมภาคประชาชนดำรงอยู่อย่างมีพลัง เป็นเอกลักษณ์ และเป็นอิสระ 3. การสนับสนุนทุนการดำเนินงานพัฒนาศิลปวัฒนธรรมภาคประชาชน 4. ให้หน่วยงานภาครัฐที่กำกับดูแลงานศิลปวัฒนธรรม เช่น กระทรวงวัฒนธรรมทำงานร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สนับสนุนศิลปวัฒนธรรมของภาคประชาชน อย่างจริงจังและเข้มแข็ง
5. ขอให้รัฐบาลมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดย จัดตั้งหน่วยงานหรือองค์กรให้การรับรองวุฒิการศึกษาให้กับศิลปิน, ดูแลด้านลิขสิทธิ์และการแสดงดนตรีให้มีคามสงบเรียบร้อย, ประสานงานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้กับศิลปินอิสระเข้าถึงระบบหลักประกันสังคม, ส่งเสริมงานศิลปวัฒนธรรมให้เป็นกลไกในการสร้างสังคมพหุวัฒนธรรมที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้จริง รวมถึงขจัดการผูกขาดทางวัฒนธรรม, เฝ้าระวังและป้องกันไม่ให้งานศิลปวัฒนธรรมถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกดขี่ ล่วงละเมิด การเอารัดเอาเปรียบทางสังคม และการเลือกปฏิบัติ, ส่งเสริมให้ศิลปวัฒนธรรมสะท้อนภาพลักษณ์ที่แท้จริงของกลุ่มคนในสังคม เช่น เด็ก เยาวชน สตรี, ให้กระทรวงวัฒนธรรมเป็นผู้ประสานงานหลักเพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคประชาสังคมได้พัฒนาศิลปินผู้สร้างงาน ให้มีความรับผิดชอบต่องานที่สร้างออกมา โดยให้คำนึงถึงผลกระทบทางลบที่จะเกิดขึ้นกับสังคมด้วย และ 6.ขอให้ผู้อำนวยการสำนักงานปฏิรูป ติดตามการดำเนินงานตามมติ และรายงานความก้าวหน้าต่อสมัชชาปฏิรูประดับชาติ ครั้งที่ 2
จากนั้นที่ประชุมหารือในเรื่องการขับเคลื่อนการทำงานของเครือข่ายศิลปินเพื่อการปฏิรูป โดยมีศิลปินทุกแขนงและหลากสาขาจาก 4 ภาค จำนวนกว่า 100 คน เข้าร่วมหารือ ว่าจะดำเนินการไปในทิศทางใด หลังจากสมัชชาปฏิรูประดับชาติครั้งที่ 1 รับมติอย่างเป็นทางการแล้ว ซึ่งมีศิลปินหลากหลายสาขาได้นำเสนอความคิดเห็นเพื่อปฏิรูปการทำงานของเครือข่ายศิลปินอย่างเป็นรูปธรรม
โดยนางชมัยภร บางคมบาง ประธานคณะอนุกรรมการเครือข่ายศิลปินเพื่อการปฏิรูป (ภาคกลาง) กล่าวว่า เรื่องการจัดตั้งองค์กรหรือกลไกอิสระศิลปวัฒนธรรมภาคประชาชน โดยในที่ประชุมได้เห็นชอบและหนุนเสริม การจัดตั้งสมัชชาศิลปวัฒนธรรมภาคประชาชน ภายใต้ชื่อว่า “สภาศิลปวัฒนธรรมแห่งประเทศ” โดยมีโครงสร้างคณะผู้ดำเนินงานเป็นศิลปินจำนวน 5 คน เป็นผู้แทนองค์กรศิลปะ 4 คน ซึ่งอาจมาจากองค์กรภาคประชาชนที่เกี่ยวกับวรรณศิลป์ ทัศนศิลป์ ศิลปะการแสดง หรืออื่นๆ รวมทั้งสิ้น 9 คน หรือให้คงสัดส่วนเป็นอัตราแบบนี้ไว้เสมอในกรณีที่มีสมาชิกจำนวนมาก
ทั้งนี้ เพื่อให้เรื่องของการจัดตั้งองค์กร หรือที่เรียกว่าสภาศิลปวัฒนธรรมแห่งประเทศไทยให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมขึ้น ตามที่วางแนวทางเอาไว้ นางชมัยภร กล่าวว่า เร็วๆ นี้ จะมีการจัดทำองค์กรเพื่อทดลองสภาศิลปวัฒนธรรมฯ ขึ้นมานำร่องจำนวน 1 แห่งในเขตกรุงเทพมหานคร เนื่องจากมีความพร้อมมากกว่าจังหวัดอื่นๆ อีกทั้งยังเป็นองค์กรส่วนกลาง อยู่ใกล้การรวบรวม จัดการ สามารถทดลองทำได้สะดวก เมื่อเห็นภาพชัดขึ้นการขยายผลไปยังพื้นที่อื่นๆ ก็จะง่ายขึ้น แล้วความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมจะถูกแก้ไขได้อย่างตรงทาง
ซึ่งนายศุ บุญเลี้ยง ศิลปินนักร้องและนักเขียน ได้นำเสนอว่า การทำงานของเครือข่าย อยากให้นึกถึงแก่นของการขับเคลื่อนเรื่องศิลปะ เพื่อเยียวยาสังคมเป็นหลัก โดยการทำงานทุกอย่าง ต้องคำนึงว่าเป็นผลประโยชน์ของประชาชน ไม่ใช่ผลประโยชน์ของศิลปินคนใดคนหนึ่ง อยากให้การทำงานของเครือข่ายศิลปินช่วยเยียวยาสังคมได้อย่างแท้จริง ไม่อยากให้กลายเป็นการเยียวยาศิลปินมากกว่าประชาชน
ส่วนนายมานิช ศรีวานิชภูมิ ศิลปินอิสระ กล่าวว่า การปฏิรูปประเทศไทยเป็นเรื่องใหญ่ โดยเฉพาะศิลปินเองได้มีโอกาสในการเข้ามาร่วมขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมในครั้งนี้ ตนอยากให้มีการขับเคลื่อนเป็นภาพใหญ่โดยให้บรรจุเรื่องศิลปวัฒนธรรมเข้าไปอยู่ในรัฐธรรมนูญ และภาระหน้าที่ในการทำงานของเครือข่ายศิลปิน จะต้องมีมากกว่าการส่งเสริมในเรื่องศิลปะในการเยียวยาสังคม แต่ต้องทำงานคู่ขนานกับหน่วยงานรัฐ โดยต้องคอยตรวจสอบการทำงานของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับศิลปินด้วย
ทั้งนี้ เชื่อว่าหากการทำงานของเครือข่ายศิลปิน สามารถขับเคลื่อนได้อย่างเป็นรูปธรรม จะทำให้ประชาชาได้เสพศิลปะที่หลากหลาย และศิลปินเองก็จะได้สร้างสรรค์ผลงานอย่างเต็มที่อีกด้วย
ที่มา: แผนงานทุนอุปถัมภ์เชิงรุกเพื่อสื่อศิลปวัฒนธรรมและกิจกรรมสร้างสรรค์