คนไทยขาดความมั่นคงทางอาหาร

เหตุขาดความหลากหลายทางชีวภาพ

 

คนไทยขาดความมั่นคงทางอาหาร

          เมื่อเวลา 9.00 น. วันที่ 16 ตุลาคม ณ อาคารพิทยพัฒน์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับแผนงานสนับสนุนความมั่นคงทางอาหารผ่านการพัฒนาต้นแบบระดับชุมชนและการขับเคลื่อนนโยบายระดับชาติ มูลนิธิชีววิถี ฯ จัดงานสมัชชาความมั่นคงทางอาหาร ประจำปี 2553 เพื่อความมั่นคงทางอาหารบนฐานความหลากหลายทางชีวภาพ พร้อมทั้งมีเวทีอภิปรายยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางอาหารภายใต้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 และ พ.ร.บ.อาหารแห่งชาติ ที่จะสร้างเสริมหลักประกันความมั่นคงทางอาหารในปัจจุบัน และสามารถรับมือกับวิกฤตการณ์ต่างๆในอนาคต พร้อมประมวลดัชนีความมั่นคงทางอาหารและสถานภาพการพึ่งพิงตนเองด้านอาหารระดับชุมชนที่มีนัยสำคัญต่อความมั่นคงทางอาหารระดับประเทศชาติ เพื่อให้เท่าทันวิกฤตการณ์ทั้งในปัจจุบันและอนาคตอันเนื่องมาจากกระแสเศรษฐกิจโลกาภิวัตน์

 

          น.ส.ลดาวัลย์ คำภา รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวว่า การที่คนไทยขาดความมั่นคงทางอาหารนั้น เป็นเพราะภาวะยากจน เมื่อประกอบกับราคาอาหารส่วนหนึ่งยังยึดตามตลาดโลก ทำให้ไม่สามารถรับโภชนาตามที่ร่างกายต้องการ ทั้งที่ไทยมีความสามารถด้านการแข่งขันทางอาหารเป็นอับดับ 2 ของเอเชียรองจากจีน ฉะนั้นภายใต้ยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางอาหารในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 ต้องให้ความสำคัญกับปัจจัยที่ทำให้เกิดความเสี่ยง เช่น วิกฤติโลกร้อน มากขึ้น และสร้างความสมดุลอาหารและพลังงาน ประเด็นที่น่าเป็นห่วงคือ เยาวชนไทยไม่สนใจประกอบอาชีพเกษตรกร ทำให้ความสำคัญด้านอาหารเริ่มเสื่อมถอย อีกทั้งค่าเฉลี่ยของประชากรช่วงปี 50-55 ช่วงอายุ 60 ปีเป็นช่วงอายุของคนที่ทำการเกษตร หากไม่สนับสนุนก็จะไม่มีใครมาทำการเกษตรให้บริโภค เพราะเยาวชนในปัจจุบันก็ไม่ได้สนใจในการทำการเกษตร ซึ่งการจัดวางความสมดุลความมั่นคงทางอาหารมี 2 ส่วน ที่ประกอบกัน คือ 1.คงความประสิทธิภาพการส่งออก 2.ให้เกษตรกรรายย่อยพึ่งพาตนเอง และสร้างภูมิคุ้นกัน

 

          รศ.ดร.วิสิฐ จะวะสิต ผู้อำนวยการสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ความมั่นคงทางอาหารควรมีองค์ประกอบ 4 ข้อ ดังนี้ 1.ความมั่นคงอาหาร ต้องมีการวางแผนการผลิตให้ครอบคลุมความต้องการของผู้ผลิตและผู้บริโภค 2.ความปลอดภัยอาหาร ให้ความรู้กับกลุ่มเป้าหมาย ตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผนในการเพาะปลูก หากสิ่งแวดล้อมไม่เอื้ออำนวย ก็อาจส่งผลให้มีผลผลิตมีราคาสูง 3.คุณภาพอาหาร ต้องให้ได้รับโภชนาการอย่างพอเพียง ได้รับสารอาหารที่ครบถ้วน ทั้งโปรตีน ไขมัน ก็จะเกิดความมั่นคงทางอาหาร 4.อาหารศึกษา ต้องมีการจัดการระบบที่ดี ทั้งพื้นที่เพาะปลูก ราคาผลิตผล ที่มีประโยชน์ ก็จะช่วยให้เกิดความมั่นคงได้

 

          นายสุเมธ ปานจำลอง ตัวแทนเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน ประธานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก จ.มหาสารคาม กล่าวว่า ดัชนีความมั่นคงทางอาหารและสถานภาพการพึ่งพิงตนเองด้านอาหารระดับชุมชนที่มีนัยสำคัญต่อความมั่นคงทางอาหารระดับประเทศชาตินั้น ฐานอาหารควรกระจายตามลักษณะนิเวศน์ที่มีอยู่เดิม นั่นคือมีความมั่นคงของประเทศไม่ใช่แค่ระดับชุมชนเท่านั้น ซึ่งหากมีการกระจายอาหารได้มากเท่าใด คนก็จะเข้าถึงอาหารและเกิดความยั่งยืนยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็นคนรวยจน หรือคนเมืองคนชนบท ต้องเข้าถึงได้เท่าเทียมกัน เพียงแต่วิธีการอาจต่าง เช่น คนชนบทสามารถเพาะปลูกด้วยตนเอง ไม่จำเป็นต้องหาซื้อเพื่อความอยู่รอด ซึ่งการพึ่งพาอาหารด้วยตนเองนั้น ถือว่าเป็นความมั่นคงที่มีฐานค่าเฉลี่ยสูงที่สุด โดยฐานอาหารของชุมชนดูได้จากแหล่งที่มาของชุมชน เช่น เขตป่า เขตลุ่มน้ำ เขตท้องทุ่ง เขตภูเขา ส่วนศักยภาพของชุมชนท้องถิ่นที่ควรอนุรักษ์นั้นก็เพื่อพัฒนาพันธุกรรมพื้นบ้านให้เจริญยิ่งขึ้น ด้วยการให้คนในชุมชนเริ่มสร้างความรู้และความเข้าใจในภูมิปัญญาที่มีอยู่แต่เดิม

 

          นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี ผู้จัดการแผนงานสนับสนุนความมั่นคงทางอาหาร สสส.กล่าวว่า ทางแผนงานตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อด้านความมั่นคงทางอาหาร จึงดำเนินการจัดสมัชชาความมั่นคงทางอาหารประจำปี 2553ขึ้น เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารและพัฒนาศักยภาพการพึ่งพิงตนเองด้านอาหารของชุมชน การรณรงค์สาธารณะเกี่ยวกับวัฒนธรรมท้องถิ่น รวมทั้งการขับเคลื่อนทางนโยบายเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารและอธิปไตยทางอาหาร ทั้งนี้ด้วยการสร้างความมั่นคงทางอาหารและการพึ่งพาตนเองด้านอาหารของสังคมไทย และการขจัดความไม่เป็นธรรมในระบบการเกษตรและอาหารมีพื้นฐานอยู่ที่การฟื้นฟูศักยภาพและการเรียกร้องสิทธิของเกษตรกรและชุมชนในการอนุรักษ์ พัฒนา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพ การเข้าถึงทรัพยากรขั้นพื้นฐานและการพึ่งพาตนเองในปัจจัยการผลิตทางการเกษตร รวมถึงการตระหนักรู้เท่าทัน เพื่อป้องกันและขจัดการผูกขาดของบรรษัทขนาดใหญ่ที่พยายามครอบครองฐานทรัพยากรอาหาร ระบบการกระจายอาหาร และวัฒนธรรมอาหารไปพร้อมๆกัน

 

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน

 

 

update:17-10-53

อัพเดทเนื้อหาโดย : ณัฏฐ์ ตุ้มภู่

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ