คนเชียงรายไตวายสูงรองจากกรุงเทพฯ

ที่มา : เว็บไซต์ไทยโพสต์


คนเชียงรายไตวายสูงรองจากกรุงเทพฯ เหตุกินแบบคนเมือง  thaihealth


แฟ้มภาพ


คนเชียงรายไตวายสูงรองจากกรุงเทพฯ เหตุพฤติกรรมกินแบบคนเมือง แถมซดหนานเฉาเหว่ย-ถั่งเช่า


นพ.โสภณ เมฆธน ประธานกรรมการองค์การเภสัชกรรม (บอร์ด อภ.) พร้อมผู้บริหาร อภ. ร่วมมอบยาตำราหลวงจำนวน 300 ชุด ผ้าห่มจำนวน 300 ผืน ให้แก่ รพ.สมเด็จพระญาณสังวรณ์ พร้อมตรวจเยี่ยมการเข้าถึงยาและน้ำยาล้างไตผ่านทางช่องท้อง


นพ.โสภณ กล่าวว่า ปัจจุบันไทยมีผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังประมาณ 8 ล้านคน ในจำนวนนี้ประมาณ 1 แสนคน เป็นผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย และต้องรับการบำบัดทดแทนไตด้วยการฟอกเลือด หรือล้างไตทางช่องท้อง ซึ่งต้องใช้งบในการดูแลรักษากว่า 20,000 ล้านบาทต่อปี และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 15-20% ต่อปี หากไม่มีการแก้ไขคาดว่าใน 5 ปีข้างหน้าจะมีผู้ป่วยเพิ่มเป็นกว่า 2 แสนราย และต้องใช้งบกว่า 4 หมื่นล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ อภ.ได้สร้างการเข้าถึงน้ำยาล้างไตผ่านช่องท้อง ส่งถึงบ้านผู้ป่วย ช่วยประหยัดให้รัฐปีละกว่า 2,000 ล้านบาท ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยปัจจุบันมีผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้าย ในสิทธิระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ประมาณ 50,000 ราย แบ่งออกเป็นผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้อง (CAPD) ประมาณ 30,000 ราย โดยมีผู้ป่วยที่ยังคงมีเบิกจ่ายน้ำยาล้างไตทางช่องท้องเดือนละประมาณ 21,000 ราย มีหน่วยให้บริการอยู่ 235 แห่ง และ ผู้ป่วยที่ใช้ฟอกไตด้วยเครื่องฟอกไตเทียมอยู่ประมาณ 20,000 ราย


นพ.โสภณ กล่าวว่า ในส่วนของผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้อง ที่ยังคงมีการเบิกจ่ายน้ำยาประจำเดือนอยู่จำนวน 21,000 รายนั้น อภ.ได้จัดซื้อจัดหาน้ำยาล้างไตทางช่องท้อง จากบริษัทผู้ผลิต 2 ราย ซึ่งในการจัดซื้อจัดหาน้ำยาล้างไตทางช่องท้องในปี2561 ที่ผ่านมา อภ.สามารถช่วยรัฐประหยัดค่าใช้จ่ายด้านยาได้กว่า 2,000 ล้านบาท สำหรับการให้บริการน้ำยาล้างไตทางช่องท้อง ในพื้นที่ภาคเหนือหน่วยล้างไตหน้าท้อง และ ฟอกไตด้วยเครื่อง ภาคเหนือ 8 จังหวัด ประกอบไปด้วย จังหวัด เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน พะเยา แพร่ น่าน ลำพูน ลำปาง มีหน่วยบริการผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้อง อยู่ 30 หน่วย มีผู้ป่วยล้างไตหน้าท้องอยู่ ประมาณ 3,102 ราย? เฉพาะจ.เชียงราย มีหน่วยบริการ ผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้อง มีผู้ป่วยที่ล้างไตหน้าท้องอยู่ 677 ราย ใช้น้ำยาล้างไตประมาณเดือนละ 81,240 ถุง


นพ.ปัญจพล กอบพึ่งตน อายุรแพทย์โรคไต รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ กล่าวว่า การบำบัดทดแทนไตจะต้องมีการผ่าตัดใส่สายสวน ซึ่งห้องผ่าตัดและบุคลากรมีจำกัด ไม่เพียงพอต่อการรองรับปริมาณผู้ป่วยทำให้เกิดความแออัดและรอคิวนาน ในปี 2553 จึงได้หาสถานที่มารองรับการดำเนินการผ่าตัดใส่สายสวน ซึ่งจะต้องไม่ไกลจากผู้ป่วยและแพทย์ที่จะมาดำเนินการ โดยสุดท้ายมาลงตัวที่ รพ.สมเด็จพระญาณสังวรณ์ ทั้งนี้ หลังจากมาดำเนินการใส่สายสวนที่ รพ.แห่งนี้ ปรากฏว่า อัตราการรอคอยลดลง จาก 4 เดือน เหลือเพียง 2 เดือน และเมื่อดำเนินการมาเรื่อยๆ ก็มีการพัฒนาจนเป็นศูนย์ไตเทียมที่เรียกว่า ใหญ่ที่สุดในประเทศ มีขนาดถึง 40 เตียง และสามารถลดเวลารอคอยลงในปัจจุบันเหลือเพียง 1 เดือนกว่าๆ เท่านั้น


นพ.ปัญจพล กล่าวว่า จ.เชียงรายถือว่ามีผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังสูงมาก รองจาก กทม.แค่จังหวัดเดียว เพราะ กทม.มีความหลากหลายของประชากร ซึ่งสาเหตุที่ทำให้มีผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังจำนวนมาก ก็คล้ายกับจังหวัดที่มีความเจริญอื่นๆ ทั่วไป คือ มาจากพฤติกรรมการบริโภคอาหาร ส่งผลต่อโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง ที่เมื่อไม่มีการควบคุมส่งผลให้กลายเป็นโรคไตวายเรื้อรังไในที่สุด นอกจากนี้ ยังพบว่ามีปัจจัยมาจากการรับประทานสมุนไพรบางชนิด เช่น หนานเฉาเหว่ย ถั่งเช่า เป็นต้น ซึ่งแม้จะบอกว่าช่วยลดเบาหวาน บำรุงไต แต่พบว่า สมุนไพรที่บำรุงไตจะทำให้เลือดไปเลี้ยงไตมากขึ้น จึงทำให้ไตทำานหนักขึ้น จนเกิดภาวะไตวายเฉียบพลัน สวนทางกับยาของผู้ป่วยโรคไตที่จะเข้าไปช่วยทำให้เลือดหนืดขึ้น เพื่อลดการทำงานของไต เหมือนที่พบในครอบครัวหนึ่งที่มารักษาที่ รพ. โดยพบว่า เป็นผู้ป่วยไตวายเรื้อรังทั้งพ่อและแม่ จากการสอบถามพบว่ามีการกินหนานเฉาเหว่ย


"การป้องกันไม่ให้เกิดโรคไตวายดีที่สุด ซึ่งในคนปกติขอแนะนำว่า ไม่ควรรับประทานอะไรที่มนุษย์ปกติไม่รับประทาน และควรมาตรวจสุขภาพเป็นประจำ เพราะเมื่อพบว่าเป็นโรคไตวายเรื้อรังระยะแรกก็จะได้รักษาอย่างรวดเร็ว และชะลอไม่ให้โรคลุกลามได้เพราะแม้แต่คนที่ป่วยเป็นไตวายระยะ 3 ก็ยังสามารถชะลอไม่ให้เป็นระยะสุดท้ายได้ ส่วนคนป่วยโรคไตอยู่แล้วก็ขอให้ระมัดระวังเรื่องสมุนไพรที่บอกว่าดีต่อไต เพราะทำให้ไตทำงานมากขึ้น จนไตวายเฉียบพลันได้ และระวังเรื่องของอาการซึมเศร้าต่างๆ ซึ่งมีผลต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด ซึ่งพบว่าผู้ป่วยไตวายส่วนใหญ่ที่เสียชีวิตมักมาจากโรคหัวใจ และสุดท้ายคือขอให้มาตามที่แพทย์นัดเสมอ" นพ.ปัญจพล กล่าว.

Shares:
QR Code :
QR Code