คนอ้วนทำ “จีดีพี” หด 4.2 พันล. ชัยภูมิแชมป์

จัดโครงการจังหวัดไร้พุง หนุน ปชช. ออกกำลังกาย

 

 คนอ้วนทำ “จีดีพี” หด 4.2 พันล. ชัยภูมิแชมป์

          สธ. เผยคนอ้วน “จีดีพี” ชาติหด 4.2 พันล้าน พบหัวหน้าส่วนราชการ จ.ชัยภูมิ แชมป์ลงพุง จับมือ ก.มหาดไทย เดินหน้าโครงการ จังหวัดไร้พุง มุ่งสู่สุขภาพดี หนุนออกกำลังกาย

 

          เมื่อวันที่ 3 มีนาคม ที่โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ นายวิทยา แก้วภราดัย รมว.สาธารณสุข และนายถาวร เสนเนียม รมช.มหาดไทย ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจความร่วมมือในโครงการ จังหวัดไร้พุง มุ่งสู่สุขภาพดีเพื่อรณรงค์ลดปัจจัยเสี่ยงจากโรคอ้วนลงพุง

 

          นายวิทยา กล่าวว่า จากการวิเคราะห์สถานการณ์เจ็บป่วยของคนไทยในปี 2550 มีผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจขาดเลือด หลอดเลือดสมอง และปอดอุดกั้นเรื้อรัง เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทั่วประเทศกว่า 2 ล้านคน มากที่สุด คือ โรคความดันโลหิตสูงมีกว่า 1 ล้านคน ในจำนวนนี้มีกว่า 2 แสนคน เกิดโรคแทรกซ้อนตามมา ทั้งไตวาย อัมพฤกษ์ อัมพาต และโรคหัวใจ ส่งผลกระทบถึงเศรษฐกิจระดับประเทศ ในปี 2549

 

          คาดประมาณว่าโรคหัวใจ อัมพาต และเบาหวาน ทำให้ไทยต้องสูญเสียผลผลิตมวลรวมประเทศ หรือจีดีพี ถึง 4,200 ล้านบาท ทั้งนี้หากไม่เร่งแก้ไขในปี 2558 หรืออีก 6 ปีข้างหน้า การสูญเสียผลผลิตมวลรวมประเทศจะเพิ่มเป็น 52,150 ล้านบาท หรือเกือบ 13 เท่า

 

          ทั้งนี้ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยเซนต์หลุยส์ สหรัฐอเมริกา ปี 2552 พบว่า คนที่มีภาวะเสี่ยงโรคเบาหวาน หากลดน้ำหนักลงได้ร้อยละ 7 จะช่วยลดความเสี่ยงได้ถึงร้อยละ 58 ส่วนผู้มีภาวะเสี่ยงเป็นโรคตับ ไขมันเกาะตับ และมีภาวะดื้อต่ออินซูลิน หากลดน้ำหนักได้อย่างน้อยร้อยละ 5 ขึ้นไป เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 9 เดือน จะช่วยลดไขมันที่เกาะตับ ช่วยให้อินซูลินทำงานดีขึ้น ถ้าลดน้ำหนักได้ร้อยละ 9 จะช่วยฟื้นฟูสภาพของตับให้ดีขึ้น

 

          ส่วนการแก้ไขปัญหาดังกล่าว นายวิทยา กล่าวว่า ในปีนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทยจัดทำโครงการ จังหวัดไร้พุง มุ่งสู่สุขภาพดี เพื่อสร้างบุคคลต้นแบบไร้พุงและองค์กรต้นแบบไร้พุงให้ครอบคลุมทุกจังหวัด สำหรับจังหวัดที่สามารถพิชิตอ้วน จะได้รับรางวัลและโล่ประกาศเกียรติคุณ

 

          ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า รายงานความชุกอ้วนลงพุงของหัวหน้าส่วนราชการภูมิภาค ซึ่งสำรวจในกลุ่มตัวอย่างที่เป็นหัวหน้าส่วนราชการในทุกจังหวัดทั่วประเทศเมื่อปี 2551 ด้วยการวัดรอบเอวโดยหากมีรอบเอวเกิน 90 เซนติเมตร ในเพศชาย และเกิน 80 เซนติเมตรในเพศหญิง ถือว่าอยู่ในภาวะอ้วนลงพุง

 

          พบว่าจังหวัดที่หัวหน้าส่วนราชการมีภาวะอ้วนลงพุงมากที่สุด 10 จังหวัดแรก ได้แก่ ชัยภูมิ 81.16% ประจวบคีรีขันธ์ 60% แม่ฮ่องสอน 57.45% เพชรบูรณ์ 55.46% นครราชสีมา 53.7% ชลบุรี 52.44% อุตรดิตถ์ 50.51% ลพบุรี 49.12% นนทบุรี และสุราษฎร์ธานี 46.7% ส่วนจังหวัดอื่นๆ มีสัดส่วนประมาณ 30 – 40%

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก

 

 

update 04-03-52

 

Shares:
QR Code :
QR Code