‘คนนครศรีฯ’ ต่อกรวิกฤติด้วยสปิริตของชุมชน

 

วิกฤติมหาอุทกภัยในปี 2554 นี้ ถือว่าเป็นครั้งใหญ่ที่สุด คาดการณ์อีกว่า ในอีก 50 ปีข้างหน้าไทยจะเจอปัญหาวิกฤติน้ำท่วมอีก คราซ้ำสื่อนอกยังตีพิมพ์เผยแพร่ว่าไม่แน่เมืองหลวงของไทยอาจไม่ใช่กรุงเทพมหานครอีกต่อไป โดยหลังจากการจัดอันดับ 20 เมืองที่เสี่ยงต่อการจมน้ำมากที่สุดในโลก กรุงเทพมหานครติดอันดับที่ 7 ของโลก

ตัวอย่างที่ผ่านมาอย่างกรณีของปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่ได้สร้างบทเรียนและประสบการณ์ให้กับชาวบ้านในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี

ในการประชุมเชิงปฏิบัติการ “สานพลังร่วมสร้างเครือข่ายจัดการภัยพิบัติโดยชุมชนท้องถิ่นภาคใต้” ที่โรงแรมทวินโลตัส จ.นครศรีธรรมราช เมื่อเร็วๆ นี้ จัดขึ้น โดยสำนักสนับสนุนสุขภาวะชุมชน (สน.3) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ซึ่งได้มีการพูดคุยถึงประเด็นการรับมือกับภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นอีกเมื่อไหร่มิอาจทราบได้ เพราะเป็นเรื่องของภัยธรรมชาติ โดย นายโสภณ พรหมแก้ว นายกองค์การบริหารส่วนตำบลขุนทะเล อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช กล่าวว่า ตำบลขุนทะเลประสบปัญหาน้ำป่าไหลหลากถึง 3ครั้งภายในปีเดียวกัน โดยท่วมขังระยะ 2-3วันแล้วไหลผ่านไป แต่ทุกครั้งประชาชนใน พื้นที่เสียหายน้อย โดยใช้ระบบเสียงตามสายครอบคลุม 12หมู่บ้านในเนื้อที่ 65ตารางกิโลเมตร กรณีที่เกิดภัยพิบัติในพื้นที่จะมีการประชุมเครือข่ายผู้นำท้องถิ่น เมื่อมีเหตุของลักษณะน้ำเปลี่ยนสี หรือเหตุน้ำป่าไหลหลากจะระดมแจ้งข่าวไปยังระบบเสียงตามสายของ อบต. ขุนทะเล

ด้าน นายทวีป จูมั่น นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหัวไผ่ อ.เมือง จ.สิงห์บุรี อีกหนึ่งต้นแบบการจัดการภัยพิบัติ กล่าวว่า การจัดการปัญหาในพื้นที่ ต.หัวไผ่ สิ่งสำคัญของชุมชนคือการร่วมพูดคุยถึงสถานการณ์ปัญหาน้ำท่วมตลอดเวลา และสิ่งสำคัญผู้นำท้องถิ่นเอง ต้องรู้เส้นทางน้ำในทุกเส้นทาง ตั้งแต่หัวน้ำยันปลายน้ำ และต้องเปิดโทรศัพท์มือถือตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อรับการประสานงานตลอดเวลา

ส่วนการบริหารจัดการ โดยวิธีการตั้งกองทุนจัดการภัยพิบัติตำบล ที่ ต.นางเหรง จ.นครศรีธรรมราช นายวิสุทธิ์ กูลระวัง รองนายก อบต.นาเหรง เล่าว่า จากเหตุการณ์ที่ผ่านมา เมื่อเกิดปัญหาน้ำท่วมฉับพลันขึ้น ส่งผลต่อการเบิกจ่าย งบประมาณราชการเบิกจ่ายค่อนข้างช้า จึงเปิดบัญชีรับบริจาคที่ ธ.กรุงไทย สาขาท่าศาลา เลขที่บัญชี 828-0-49110-4 และยังหารือกันว่าจะระดมทุนเพิ่มเติมอีก เช่น ตั้งกล่องรับบริจาค จัดเลี้ยงน้ำชา และขอรับสนับสนุนจากหน่วยงาน ทั้ง 9 หมู่บ้านนั้นจะจัดสรรงบของรายได้จำนวนหนึ่งในแต่ละปีให้กองทุนฯ ไว้เป็นกองทุนกลางในการดำเนินงานด้านภัยพิบัติต่อไป”

สิ่งสุดท้ายที่จะทำให้ชุมชนอยู่รอด เมื่อปัญหาเกิด อย่างที่หลายคนย้ำอย่างต่อเนื่อง คือ พื้นที่ ซึ่งหลายแห่งวันนี้นับเป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า หากชุมชนเข้มแข็ง ผลกำไรที่ได้ก็ตกอยู่ที่ประชาชนในพื้นที่นั่นเอง

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ 

Shares:
QR Code :
QR Code