คนกรุงหนุน “ซุปเปอร์สกายวอล์ก”
เมื่อวันที่ 21 มี.ค. ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย จัดเสวนาเรื่อง “สกายวอล์ก ทางออกของคนกรุง” พร้อมเปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของคนกรุงเทพฯ ต่อโครงการทางเดินลอยฟ้า (สกายวอล์ก)
โดย ผศ.ดร.ศิริมา ปัญญาเมธีกุล ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า จากการสำรวจความคิดเห็นของคนกรุงเทพฯ ต่อสกายวอล์ก ในกลุ่มตัวอย่าง 600 คน บริเวณที่มีสกายวอล์ก (อโศก สยามและอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ) บริเวณที่กำลังสร้าง (หน้าโรงพยาบาลรามาธิบดี) และบริเวณที่ยังไม่มีการสร้าง (วงเวียนใหญ่ สุขุมวิท พหลโยธินและรามคำแหง) พบว่าคนกรุงเทพฯ ร้อยละ 82 เคยเดินบนสกายวอล์ก ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้เพื่อทำธุระส่วนตัว เช่น การชอปปิง การเดินเพื่อไปต่อรถ เดินเล่นและไปทำงานตามลำดับ
ทั้งนี้เมื่อให้เปรียบเทียบการเดินบนสกายวอล์กกับทางเท้าธรรมดาในกรุงเทพฯ พบว่า ร้อยละ 79.4 ชอบเดินบนสกายวอล์กมากกว่า โดยให้คะแนนเรื่องความสะดวก ร้อยละ 66.7 ความสะอาด ร้อยละ 56.7 และความปลอดภัย ร้อยละ 52.2
สำหรับโครงการซุปเปอร์สกายวอล์กที่ทาง กทม. กำลังจะสร้างขึ้น รวมระยะทาง 50 กิโลเมตร งบประมาณก่อสร้าง 15,200 ล้านบาท พบว่า คนกรุงเทพฯร้อยละ 68 เห็นควรให้สร้างสกายวอล์กเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ร้อยละ 79.4 เห็นว่าค่าก่อสร้างแพงเกินจริง ซึ่งหากกทม.สามารถปรับลดให้เหมาะสมและมีความโปร่งใสในขั้นตอนการก่อสร้าง คนร้อยละ 94.2 ก็เห็นด้วย
ด้าน ศ.ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ประธานชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ส่วนตัวแล้วเห็นด้วยกับโครงการ เนื่องจากปัจจุบันทางเท้าที่มีอยู่ ลักษณะกายภาพไม่เหมาะสม มีหลุมมีบ่อและมีผู้ค้ายึดพื้นที่ทำให้เดินสัญจรไปมาได้ไม่สะดวก โดยเฉพาะผู้ประกอบการธุรกิจที่มีสกายวอล์กผ่าน ควรมีส่วนร่วมในค่าใช้จ่ายด้วย ไม่เพียงแต่ทางเชื่อมเข้าอาคารเท่านั้น แต่ต้องรวมถึงทางเดินหลักของสกายวอล์ก โดยเฉพาะรถไฟฟ้าบีทีเอสที่ได้ประโยชน์มากที่สุด
ทั้งนี้โครงการ ดังกล่าว ใช้งบประมาณสูง กทม. ควรมีการทำประชาพิจารณ์ก่อนว่าพื้นที่ใดเหมาะสมที่จะทำ ซึ่งขณะนี้มีหลายฝ่ายไม่เห็นด้วย มีการถกเถียงเรื่องราคาการก่อสร้าง กทม. ควรเร่งแก้ปัญหาในส่วนนี้ หากมองในแง่การลงทุนเพื่อให้คุ้มทุนเพียงอย่างเดียวคงจะไม่ได้ แต่ต้องมองในมิติการตอบแทนด้านสังคมด้วย แต่การก่อสร้างในย่านธุรกิจนั้น อาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการรายย่อย และเอื้อประโยชน์ผู้ประกอบการรายใหญ่มีตัวอย่างให้เห็นชัดเจนในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกาที่มีการรื้อสกายวอล์กออกในบางแห่งที่ไม่มีการทำประชาพิจารณ์ เนื่องจากได้ไม่คุ้มเสีย
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์