คคส.ชี้แรงงานท่อใยหินเสี่ยงมะเร็งปอด

ผู้จัดการแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ห่วงแรงงานไทยยังสัมผัสส่วนผสมของแร่ใยหิน เผยอุตสาหกรรมยังไม่มีมาตรการป้องกัน เสี่ยงเป็นมะเร็งปอด

แร่ใยหิน

รศ.ภก.ดร.วิทยากุลสมบูรณ์ ผู้จัดการแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ(คคส.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยถึงอันตรายของผู้ใช้แรงงานของไทยที่ยังสัมผัสกับวัสดุก่อสร้างที่มีส่วนผสมของแร่ใยหิน ว่า จากการติดตามแหล่งจำหน่ายของโรงงานอุตสาหกรรม sme ที่ทำท่อใยหิน กระจายอยู่ทุกจังหวัดทั่วประเทศ และจากการสำรวจข้อมูลในเว็บไซต์ โดยเฉพาะอุตสาหกรรม sme ท่อใยหิน พบว่าอุตสาหกรรมเหล่านี้ไม่มีมาตรการป้องกันให้ผู้ใช้แรงงานที่ทำงานสัมผัสกับท่อใยหินเหล่านี้ ซึ่งผู้ใช้แรงงานไม่มีโอกาสทราบว่าใยหินรอบตัว คือสารก่อมะเร็ง ทั้งมะเร็งปอด มะเร็งเยื่อหุ้มปอด และอื่นๆ โดยอนุภาคใยหินกระจายอยู่ทั่วไปในสถานที่ผลิต สังเกตดูได้จากภาพของแรงงานที่ปรากฏในเว็บไซต์ของอุตสาหกรรมเหล่านี้ จะเห็นได้ว่าไม่มีมาตรการป้องกันใดๆ ให้กับแรงงาน ดังนั้นการขาดมาตรฐานในการดูแลผู้ใช้แรงงานเหล่านี้จะสร้างภาระทางสุขภาพแก่ผู้ใช้แรงงานและครอบครัวในระยะยาวจากโรคมะเร็ง นำมาสู่การแบกรับทางเศรษฐกิจที่ครอบครัวและรัฐจะต้องดูแลอย่างมหาศาล เนื่องจากการรักษาโรคมะเร็งปอดมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก

“องค์การอนามัยโลกได้ชี้ว่าแอสเบสตอสทุกชนิดรวมทั้งใยหินไครโซไทล์ ที่ประเทศไทยยังยอมให้ใช้อยู่เป็นอันตราย โดยเป็นสารก่อมะเร็งที่ทำให้เกิดโรคที่สัมพันธ์กับแอสเบสตอส เช่นมะเร็งปอด มะเร็งเยื่อหุ้มปอด การป้องกันโรคคือการหยุดการใช้แอสเบสตอสทุกชนิด เครือข่ายแพทย์และนักวิชาการได้ผนึกกำลังผ่านสมาพันธ์อาชีวอนามัย/ความปลอดภัย/สภาพแวดล้อมในการทำงานและได้ร่วมประชุม asian conference on occupational health 2011 เมื่อเร็วๆ นี้เพื่อยืนยันสนับสนุน มติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ที่มีมติให้ยกเลิกการผลิต นำเข้าและส่งออกแร่ใยหินทุกชนิด จึงเห็นว่าการที่คณะรัฐมนตรีจะมีมติยกเลิกการใช้ใยหิน ไครโซไทล์ในประเทศไทย จะเป็นผลงานชิ้นโบแดงของรัฐบาล ที่จะดูแลสุขภาพผู้ใช้แรงงาน ผู้บริโภค และคนไทยอย่างจริงจัง” รศ.ภก.ดร.วิทยา กล่าว

ที่มา: หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ