ข้าวกล้องแรกผลิยอดดอย ๖ อีกหนึ่งโครงการพระราชดำริฯ
มากคุณค่า กระตุ้นขับสารพิษออกจากร่างกาย
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีความห่วงใยพสกนิกรชาวไทย ให้ได้บริโภคข้าวที่มีคุณภาพต่อสุขอนามัย “โดยพระราชดำริให้มีโครงการ” ซึ่งเป็นโครงการวิจัยการผสมพันธุ์ข้าวเพื่อเสริมภูมิต้านทาน และดำเนินการผลิตโดยโครงการส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ บ้านยางน้อย ตำบลก่อเอ้ อำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ทรงโปรดให้ทำการค้นคว้าจนได้ยอดข้าว 5 สายพันธุ์ ปรุงแต่งผสมกันตามสัดส่วนที่กำหนด หุงรับประทานได้โดยไม่ต้องซาวข้าว เป็นสุดยอดข้าวที่ช่วยชะลอความชรา และเหมาะอย่างยิ่งกับผู้ต้องการควบคุมน้ำหนัก มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “ข้าวกล้องปรุงเบญจกระยาทิพย์แรกผลิ ๖” (the germinated brown rice 6) คุณค่าทางโภชนาการมีประโยชน์มากมาย ในการปรับแต่งโครงสร้างทางโปรตีน เพิ่มวิตามินบีมากกว่า 30% วิตามินอี แมกนีเซียม สังกะสี แร่ธาตุเหล่านี้ส่งเสริมระบบประสาท การมองเห็น ความจำ ซึ่งจำเป็นสำหรับผู้ที่เข้าสู่วัยทองทั้งหญิงและชาย การค้นคว้าวิจัยของนักวิชาการเกษตร ระบุว่า ยอดข้าวราชินีมีผลกระตุ้นฮอร์โมนทำให้มีระดับฮอร์โมนในร่างกายสมดุลสม่ำเสมอ และชะลอความชราสำหรับสตรี มีผลต่อการสมานผิวโดยธรรมชาติ โดยเฉพาะสตรีที่มีปัญหาปวดท้องและเป็นสิวในรอบเดือน นอกจากนั้นยังกระตุ้นให้ตับขับเอนไซม์ขจัดสารพิษออกจากร่างกาย ควบคุมน้ำตาลในกระแสเลือด ช่วยขับสารแห่งความสุขใจป้องกันโรคมะเร็งลำไส้ใหญ่ ลดโอกาสการเป็นโรคไขข้ออักเสบ ส่งเสริมการหมุนเวียนโลหิตลดพลาสมา คอเลสเตอรอล ลดการดูดซับคอเลสเตอรอลในร่างกาย กระตุ้นการขับถ่ายน้ำดีเข้าสู่ลำไส้เพื่อสลายไขมัน
คุณหญิงพรรณทอง มณีศิลป์ ประธานโครงการข้าวกล้องปรุงเบญจกระยาทิพย์ แรกผลิ ๖ เปิดเผยว่า ข้าวกล้องปรุงเบญจกระยาทิพย์แรกผลิ ๖ เป็นข้าวกล้องที่ผ่าน กรรมวิธี germination เพื่อเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการโดยกระบวนการชีวเคมีตามธรรมชาติ โดยนำข้าว กล้องผ่านกระบวนการงอกภายในสภาวะที่มีการควบคุมความชื้น แสง อุณหภูมิ เวลา และออกซิเจนพอเหมาะจนได้ข้าวที่มีวิตามินสูง อีกทั้งมีการ gamma-aminobutyric acid (gaba) สูง และแร่ธาตุที่จำเป็นพอเหมาะที่ร่างกายต้องการ เป็นอาหารที่มีคุณภาพ สำหรับบำรุงสุขภาพเสริมภูมิคุ้มกันป้องกันโรคภัยตามธรรมชาติ เหมาะสำหรับผู้รักษาสุขภาพทั่วไป รวมทั้งเด็กที่กำลังเจริญเติบโต ส่วนการคัดเลือกพันธุ์ข้าว เพื่อนำมาเป็นข้าวกล้องปรุงเบญจกระยาทิพย์ แรกผลิ ๖ นั้น ได้ทำโครงการวิจัยการผสมพันธุ์ข้าว ทำการคัดเลือกพันธุ์ข้าวชั้นยอด 5 สายพันธุ์ ประกอบด้วยข้าวขาวดอกมะลิ 105 ชั้น 1 ข้าว กล้องขาวดอกมะลิ 105 ข้าวเหนียวกล้อง กข.6 ข้าวกล้องหอมกุหลาบ หรือข้าวกล้อง หอมแดง และข้าว กล่ำดอยมูเซอที่ปลูกในหุบเขาสูงเหนือระดับน้ำทะเลเฉลี่ย 900-1,000 เมตร ในพื้นที่ที่ปราศ จากมลพิษในสิ่งแวดล้อมและสารเคมีเป็นข้าวที่มีเส้นใยสูง มีโปรตีน วิตามิน และแร่ธาตุสูง คาร์โบไฮเดรตต่ำ โดยนำข้าวทั้ง 5 สายพันธุ์มาผ่านกระบวนการปรุงแต่งเพิ่มคุณค่าทางโภชนาการผสมกันในสัดส่วนที่กำหนด
สำหรับกรรมวิธีการผลิต ยอดข้าวราชินี ข้าวเบญจกระยาทิพย์แรกผลิ ๖ นั้น คุณหญิงพรรณทอง กล่าวว่า ขั้นแรกต้องนำข้าวทั้ง 5 สายพันธุ์ มาแช่น้ำไว้ 4-8 ชั่วโมง เมื่อแช่ข้าวครบ ตามเวลาแล้วนำข้าวไปเพาะหนึ่งคืนเพื่อให้รากงอก สังเกตว่าข้าวที่นำไปแช่น้ำ เพื่อให้รากงอกเป็นข้าวที่ผ่านการสีเป็นข้าวสารเรียบร้อยแล้ว ไม่ใช่ข้าวที่ยังเป็นข้าวเปลือก ข้าวที่สีจมูกข้าวยังอยู่ครบ จากนั้นนำข้าวที่แช่น้ำแล้วไปนึ่ง 5-7 นาที แล้วนำข้าวที่นึ่งไปตากแดด เพื่อให้ความชื้นลดลงเหลือเพียง 13-15% แล้วแยกข้าวแต่ละสายพันธุ์ไว้ หลังจากนั้นจะเป็นการผสมพันธุ์ข้าวเข้าด้วยกันตามสูตรการผสมพันธุ์ข้าวจนได้เป็น “ยอดข้าวราชินี ข้าวกล้องปรุงเบญจกระยาทิพย์แรกผลิ ๖” แล้วบรรจุข้าวลงในถุงผ้าดิบ ถุงละ 1 กิโลกรัม เพื่อนำออกจำหน่าย ซึ่ง การหุงข้าวกล้องปรุงเบญจกระยาทิพย์ เพื่อรับประทาน ก็หุงง่าย โดยไม่ต้องแช่ไม่ต้องล้าง การหุงใส่ข้าว 1 ถ้วยตวง ต่อน้ำ 1 เศษ 1 ส่วน 2 ถ้วยตวง หุงได้ทันทีในอุณหภูมิต่ำ กด mixed rice สำหรับหม้อ หุงข้าวคอมพิวเตอร์ แต่ถ้าเป็นหม้อหุง ข้าวธรรมดาความร้อนจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงควรใช้ปริมาณข้าวและน้ำต่างกันคือ ใช้ข้าว 1 ถ้วยตวง ต่อน้ำ 1 ถ้วย กับ เศษ 3 ส่วน 4 ถ้วยตวง เมื่อข้าวสุกจะได้เมล็ดข้าวที่ไม่แตก สวยงาม อ่อนนุ่มเหนียวเกาะกันข้าวนุ่มนวล ปริมาณข้าวมากขึ้น ข้าวมีรสชาติอร่อยไม่จืดชืด หรือนำไปทำเป็นข้าวปั้นญี่ปุ่นก็จะอ่อนนุ่ม แม้ข้าวเย็นก็ จะไม่แข็ง
คุณหญิงพรรณทอง กล่าวอีกว่า พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข ผู้บัญชาการทหารอากาศ และ ผศ.ดร.พรทิพย์ พุกผาสุข นายกสมาคมแม่บ้านทหารอากาศ ได้เล็งเห็นความสำคัญของโครง การฯ จึงได้สนับสนุนงบประมาณจัดสร้างอาคารสถานที่โรงสีข้าว จัดซื้อเครื่องสีข้าวชุมชน ขนาด 500 กิโลกรัมต่อชั่วโมง จำนวน 1 เครื่อง จัดสร้างอาคารบรรจุและเก็บผลิตภัณฑ์ อาคารแช่ข้าว อาคารตากข้าว และอาคารนึ่งข้าว พร้อมทั้งสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็กเพื่อเชื่อมระหว่างอาคารต่าง ๆ เพื่อเป็นการส่งเสริมการผลิตข้าวกล้องให้เป็นมาตรฐานสากล โดยจัดให้มีเจ้าหน้าที่ของกรมพลาธิการทหารอากาศ เข้าไปร่วมปฏิบัติงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ของโครงการฟาร์มฯ โดยตลอด
ทางด้านนายธนบดี อินทะมาต เจ้าหน้าที่บริหารงานในพระองค์ และผู้จัดการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริบ้านยางน้อยในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เปิดเผยว่า ด้วยพระราชปณิธานขององค์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในอันที่จะให้ประชาชนมีสุขภาพที่สมบูรณ์ และประเทศไทยจะมีแหล่งผลิตอาหารที่มีคุณภาพและปลอดภัยสู่โลก จึงมีพระราชดำริให้จัดตั้งโครงการฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริบ้านยางน้อย ต.ก่อเอ้ อ.เขื่องใน เมื่อปี พ.ศ. 2547 บนพื้นที่ 210 ไร่ ติดเส้นทางหลวงหมายเลข 23 อุบลราชธานี-ยโสธร ถนนแจ้งสนิท ห่างจากตัวจังหวัดอุบลฯ 31 กิโลเมตร และอำเภอเขื่องใน 8 กิโลเมตร
การดำเนินงานของฟาร์มตัวอย่างตามพระราชดำริบ้านยางน้อย เป็นไปในลักษณะของการเกษตรแบบผสมผสาน (inte grated agriculture) โดยนำหลาย ๆ หลักการมาปรับใช้ เพื่อให้เกิดผลผลิตที่ปลอดสารพิษ (pesticide free) มีการใช้ที่ดินอย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่าสูงสุด เช่น การปลูกผักผลไม้ ไม้ดอกไม้ประดับ การเพาะเห็ดเศรษฐกิจ การเลี้ยงสัตว์ ปศุสัตว์ และประมง การทำนาเพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวบริสุทธิ์ หม่อนไหม พืชสมุนไพร โรงสีข้าวกล้อง การผลิตข้าวกล้องเบญจกระยาทิพย์ และการแปรรูปผลผลิตต่าง ๆ ภายในฟาร์ม เพื่อให้ต่อเนื่องและสามารถเก็บเกี่ยวได้ทุกวัน การดำเนินการเป็นไปตามหลักของเกษตรยั่งยืน ผู้บริโภคยั่งยืน ผู้ผลิตยั่งยืน สิ่งแวดล้อมยั่งยืน ซึ่งทางฟาร์มได้นำเศษวัสดุเหลือใช้ภายในฟาร์มมาจัดทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยชีวภาพ การปลูกหญ้าแฝก และพืชตระกูลถั่วนำมาทำเป็นปุ๋ยพืชสดเพื่อปรับปรุงบำรุงดิน พร้อมได้นำเอาเทคโนโลยีชีวภาพมาใช้ในการป้องกันกำจัดศัตรูพืช (bio control) ได้แก่ พืชไล่แมลง เช่น การปลูกกะเพรา การปลูกดาวเรือง การปลูกตะไคร้หอมในขอบแปลงผักและแปลงผลไม้รวมทั้ง การใช้ สาร อินทรีย์ สารสกัดน้ำหมักชีวภาพ เพื่อบำรุงพืชผักและป้อง กันโรคและแมลงศัตรูพืช ซึ่งเป็นการรักษาความสมดุลให้กับสิ่งแวดล้อมธรรมชาติยั่งยืน และการดำเนินงานของฟาร์มยังมีวัตถุประสงค์ เพื่อเป็นแหล่งจ้างงาน สร้างรายได้เสริมให้แก่ราษฎรในพื้นที่ เป็นแหล่งเรียนรู้วิชาการด้านการเกษตรที่สมบูรณ์แบบ เช่น แปลงข้าวพันธุ์บริสุทธิ์ ผักปลอดสารพิษ สมุนไพร พืชไร่ ไม้ผล เห็ด พืชอินทรีย์ ไม้ประดับ ปศุสัตว์ ประมง และปลูกหม่อนเลี้ยงไหมพันธุ์พื้นเมืองแห่งเดียวในประเทศไทย เพื่อผลิตไหมคุณภาพระดับ royal thai silk และเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่ครบวงจรทุก ๆ ด้าน ส่วนผลผลิตอื่น ๆ ของศูนย์ศิลปาชีพบ้านยางน้อยยังมีอีกมากมาย ทั้งผ้ามัดหมี่ ผ้ากาบบัว ผ้าบาติก เครื่องทองเหลือง ชุบเงินชุบทอง เครื่องปั้นดินเผา ดอกไม้ประดิษฐ์ ส่วนผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ทางศูนย์ศิลปาชีพบ้านยางน้อย เปิดจำหน่ายทุกวัน
นอกจากนี้ทางรถไฟฟ้าบีทีเอสซึ่งเป็นพันธ มิตรกับกองทัพอากาศ ที่เป็นผู้สนับสนุนโครงการข้าวกล้องปรุงเบญจกระยาทิพย์แรกผลิ ๖ จะได้จัด งาน “ยอดข้าวราชินี ข้าวกล้องปรุงเบญจกระยาทิพย์ แรกผลิ ๖ เฉลิมพระเกียรติ” ในวันที่ 1-7 สิงหาคม 2551 ที่บริเวณทางเดินเชื่อมสถานีรถไฟฟ้า สนามกีฬาแห่งชาติ โดยในงานจะมีนิทรรศการขั้นตอน กระบวนการผลิตข้าวกล้อง พร้อมทั้งการสาธิตการทำอาหารเมนูพิเศษจากข้าวกล้องฯ.
ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์
update: 29-07-51