ข้อปฏิบัติสำหรับผู้ที่กินอาหารเจ
ที่มา : หมอชาวบ้าน
แฟ้มภาพ
การกินอาหารของผู้ถือศีลเจ ถือเป็นกิจอย่างหนึ่งที่พึงระมัดระวัง เพื่อมิให้เกิดการละเมิดศีลข้อใดข้อหนึ่ง “ชาวเจ” ทุกคนทราบดีกว่าอาหารสำคัญที่ต้องละเว้นโดยเคร่งครัดนั้น ก็คือ เนื้อสัตว์ ผลิตภัณฑ์จากสัตว์ และพืชผัก 5 ชนิด
ถ้ามองในแง่คุณค่าทางโภชนาการ คงจะเป็นเรื่องที่สร้างความลำบากใจให้แก่ผู้ที่ต้องการเลิกกินเนื้อสัตว์ค่อนข้างมากสักหน่อย เนื่องจากหลายคนเชื่อว่า เนื้อสัตว์เป็นแหล่งโปรตีนและพลังงานที่สำคัญสำหรับการทำงานของร่างกาย โดยเฉพาะในช่วงวันกำลังเจริญเติบโต ลำพังเพียงแค่การงดเว้นการกินเนื้อสัตว์ช่วงระยะแห่งการถือศีล 9 วันในช่วงเทศกาลคงไม่กระไรนัก แต่ที่หลายคนเป็นห่วง คือ การถือศีลเจที่ตั้งใจจะกระทำตลอดชีวิต (โดยปกติจะต้องถือศีลตลอดชีวิต) นั้นจะทำอย่างไร จึงจะดูแลไม่ให้ร่างกายเกิดภาวะขาดอาหารได้
ข้อปฏิบัติสำหรับผู้ที่กินอาหารเจ
ในหมู่ชนชาวจีน มีคำกล่าวว่าอาหารและยามาจากแหล่งเดียวกันหรือ “อาหารและยาไม่เคยแยกจากกัน” นั้นหมายถึงว่า อาหาร ก็คือ ยา นั่นเอง ตามหลักการแพทย์ของจีนได้มุ่งเน้นไปที่การป้องกันไม่ให้ร่างกายเจ็บป่วยโดยวิธีดูแลสุขภาพให้ดี ไม่ใช่เพียงแต่บำบัดอาการเมื่อเกิดเจ็บป่วยขึ้นแล้วเท่านั้น ดังคำกล่าวที่ว่า หัวใจของการมีสุขภาพที่ดี คือ การกินที่ถูกต้อง อาการที่กินมีผลต่อร่างกายและจิตใจอย่างมาก แต่ก่อนอื่นขอกล่าวถึงหลักการกินอาหารที่ถือนิยมตามแนวคิดของผู้ที่ถือนิยมตามแนวคิดของผู้ที่ถือปฏิบัติศีลเจเสียก่อน ดังนี้
1. งดพืชผัก 5 ชนิด อาหารเจหรืออาหารของผู้ถือศีลเจ เป็นอาหารที่ปรุงขึ้นโดยปราศจากเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ และที่สำคัญคือ ต้องงดการบริโภคพืชผัก 5 ชนิด อันได้แก่
- กระเทียม (หัวกระเทียม ต้นกระเทียม)
- หัวหอม (ต้นหอม ใบหอม หอมแดง หอมขาว หอมหัวใหญ่)
- หลักเกียว (ลักษณะคล้ายหัวกระเทียม แต่เล็กกว่า)
- กุยช่าย (ใบคล้ายใบหอม แต่แบนและเล็กกว่า)
- ยาสูบ (บุหรี่ ยาเส้น ของเสพมึนเมา)
เหตุที่พืชผักเหล่านี้ถูกจัดเป็นของต้องห้ามสำหรับชาวเจ เนื่องเพราะเป็นผักที่มีรสหนัก กลิ่นรุนแรง นอกจากนี้ยังเชื่อว่า มีสารพิษที่ทำลายพลังธาตุทั้ง 5 ของร่างกาย เป็นเหตุให้อวัยวะหลักสำคัญภายในทั้ง 5 ทำงานไม่ปกติด้วย โดยเฉพาะผู้ที่ปฏิบัติสมาธิกรรมฐาน ไม่ควรกินเป็นอย่างยิ่ง เพราะผักดังกล่าวมีฤทธิ์กระตุ้นจิตใจ อารมณ์เร่าร้อน หงุดหงิด โกรธง่าย และยังมีผลทำให้พลังธาตุในกายรวมตัวไม่ติดอีกด้วย
2. กินพืชผักผลไม้ให้ครบสี นอกจากการนำผักสดมาปรุงเป็นอาหารแล้ว ยังจำเป็นต้องกินผลไม้สดหลังอาหารทุกมื้ออย่างสม่ำเสมอด้วย ทั้งนี้เนื่องจากพืชผักผลไม้นับว่าเป็นแหล่งสารอาหารประเภทวิตามินและเกลือแร่ที่สำคัญ และในการเลือกซึ้อเพื่อนำมาปรุงและบริโภคในแต่ละมื้อ ควรจัดให้ได้ครบตามสีของธาตุทั้ง 5 ดังนี้
- สีแดง (แดง ส้ม แสด ชมพู) สัญลักษณ์ธาตุไฟ
- สีดำ (น้ำเงิน ม่วง) สัญลักษณ์ธาตุน้ำ
- สีเหลือง (เหลืองแก่ เหลืองอ่อน) สัญลักษณ์ธาตุดิน
- สีเขียว (เขียวเข้ม เขียวอ่อน) สัญลักษณ์ต้นไม้
- สีขาว (ขาวนวล ขาวละเอียด) สัญลักษณ์ธาตุโลหะ
เมืองไทยเป็นดินแดนที่อุดมด้วยผักและผลไม้มากมายหลายชนิดตลอดทั้งปี ดังนั้นจึงควรเลือกกินให้ได้ครบทุกสี โดยกินสับเปลี่ยนไม่ให้ช้ำกันในแต่ละวัน ไม่เลือกกินเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่งที่ชอบโดยไม่คำนึงถึงคุณประโยชน์ ด้วยพบว่าหลายคนเลือกกินเฉพาะอย่างเพื่อความอร่อยลิ้นเท่านั้น นับว่าเป็นการกินอาหารเจที่ยังไม่ถูกหลัก
3. ถั่ว คือ อาหารหลัก ถั่วในที่นี้หมายรวมถึง เมล็ดธัญพืชทุกชนิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่จะขาดเสียมิได้ คือ ถั่วเหลือง และถั่วเปลือกแข็งทุกประเภท พืชที่เป็นหัวในดิน เช่น เผือก มัน ผู้ที่ไม่กินเนื้ออสัตว์จะทำให้ขาดโปรตีนซึ่งช่วยในการเจริญเติบโต และให้พลังงานต่อร่างกาย ดังนั้นจึงต้องกินถั่วและธัญพืชต่างๆ แทน เนื่องจากมีคุณค่าทางโภชนาการสูงมากดังกล่าว คนที่กินอาหารเจควรกินเป็นประจำ เพื่อบำรุงส่งเสริมให้อวัยวะหลักทั้ง 5 ทำงานได้ดียิ่งขึ้น
ในการกินถั่วต่างๆ เหล่านี้ ตามตำราท่านว่าไว้ว่าควรกินให้ได้ครบทุกสี เพราะนอกจากจะเป็นพืชที่หาซื้อได้ง่าย สนนราคาไม่แพงแล้ว ที่สำคัญทำให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่ดี ซึ่งสูตรอาหารที่นำมาทำให้ถั่วเหล่านี้มีความอร่อยลิ้นมากขึ้นก็มีอยู่ด้วยกันหลายวิธี อาทิ ถั่วดำบด ถั่วแดงต้มน้ำตาล ถั่วเหลืองน้ำกะทิ (เต้าส่วน) ถั่วเขียวต้มน้ำตาลกรวด ถั่วลิสงอบหรือเคลือบน้ำตาล เป็นต้น ทุกอย่างล้วนอร่อยไปคนละแบบ
4. งาเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ ในคนที่กินอาหารเจ ควรจะต้องใช้งาปรุงผสมในอาหารด้วยเสมอ เพราะในเมล็ดงามีกรดไขมันไลโนเลอิกซึ่งจำเป็นต่อร่างกายมาก แต่ร่างกายไม่สามารถสร้างขึ้นเองได้ จึงจำเป็นต้องได้รับจากงาซึ่งมักใช้งาดำ
สำหรับผู้ที่ทำอาหารเจกินเองให้ใช้งาล้างให้สะอาด ทิ้งให้แห้งแล้วคั่วไฟอ่อนๆ จนสุกเหลืองพอดี ต่อจากนั้นจึงนำมาโขลก บด หรือใช้เครื่องปั่นให้แตก จะได้รับประโยชน์จากน้ำมันที่อยู่ในเมล็ดดียิ่งขึ้น สำหรับงาที่บดแล้วจะมีกลิ่นหอม นำมาใช้ปรุงอาหารได้เกือบทุกประเภท ทำให้มีรสดี หอมน่ากิน โดยปกติผู้ที่กินอาหารเจควรกินงาประมาณวันละ 2 ช้อนโต๊ะ ก็ถือว่าเพียงพอ
5. ไม่กินอาหารรสจัดเกินไป ผู้ที่กินอาหารเจ หากกินอาหารรสจัดเกินไป เช่น เผ็ดจัด เปรี้ยวจัด เค็มจัด รสชาติเหล่านี้จะส่งผลไปถึงอวัยวะหลักดังนี้ คือ รสขมส่งผลต่อหัวใจ รสเค็ม-ไต, รสหวาน-ม้าม, รสเปรี้ยว-ตับ, รสเผ็ด-ปอด ดังนั้น จึงควรหลีกเลี่ยงการกินรสจัด และในขณะเดียวกันควรกินให้ได้ครบทุกรสในแต่ละมื้ออาหาร
6. ละเว้นการบริโภคอาหารหมักดอง เช่น ผัก-ผลไม้ดอง อาหารกระป๋อง อาหาร(กึ่ง) สำเร็จรูป ควรพยายามเลือกสรรอาหารที่ใหม่สด หรืออาหารที่ปรุงใหม่ๆ จะทำให้ได้รับประโยชน์ต่อร่างกายดีกว่า