‘ขุขันธ์’ ชุมชนต้นแบบ งดเหล้าสืบสานพระราชปณิธาน ลดละเลิกอบายมุข
ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามรัฐ
แฟ้มภาพ
'ขุขันธ์' ชุมชนต้นแบบ งดเหล้าสืบสานพระราชปณิธาน ลดละเลิกอบายมุขถวาย 'พ่อหลวง'
"อำเภอขุขันธ์" จังหวัดศรีสะเกษ เป็นเมืองเก่า ที่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาในการสร้างบ้านแปงเมืองมาอย่างยาวนาน อีกทั้งยังมีความหลากหลายของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ที่ตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่ในพื้นที่ ที่มีทั้งเขมร กูย ลาวและเยอ ด้วยต้นทุนเช่นนี้ คนขุขันธุ์จึงมีความภาคภูมิใจในรากเหง้าของตนเอง มีกระบวนการสืบค้นข้อมูลองค์ความรู้ออกมาเผยแพร่สาธารณะ มีกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และบ่มเพาะเด็ก เยาวชน คนรุ่นใหม่ด้วยหลักสูตรท้องถิ่นมีสภาวัฒนธรรมที่ขับเคลื่อนด้วยผู้นำ ปราชญ์ท้องถิ่นที่หลากหลาย และยังมีวัดเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวที่สำคัญ รวมถึงเครือข่ายประชาสังคมขุขันธ์ การรวมตัวของคนขุขันธ์ที่มีความตั้งใจจะร่วมกันจะพัฒนาเมืองขุขันธ์ให้น่าอยู่
"อำเภอขุขันธ์" เป็นอำเภอขนาดใหญ่ประกอบด้วย 22 ตำบล ซึ่งสถานการณ์การดื่มเหล้าของอำเภอขุขันธ์ก็ไม่ต่างไปจากชุมชนในภูมิภาคอื่นๆ เรื่องเหล้าอยู่ในวีถีชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนขุขันธุ์มีวัฒนธรรม – ประเพณี ซึ่งล้วนมีพิธีกรรมตามวิถีพราหมณ์ ที่มีเหล้านั้นเป็นหัวใจสำคัญของพิธีกรรม ประเพณี ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูล จปฐ. ในช่วงปี 54-55 พบว่าอำเภอขุขันธ์เป็นอำเภอที่ดื่มแอลกอฮอล์มากเป็นอันดับต้นๆ ของจังหวัด มีสถิติจากการเกิดอุบัติเหตุท้องถนนของวัยรุ่นร้อยละ 60 เกิดจากเมาแล้วขับ ปัญหาอาชญากรรม ร้อยละ 50 เกิดจากแอลกอฮอล์ มีคนป่วยจากการดื่มเหล้า ติดเหล้าเป็นโรคที่สำคัญที่มารักษา มานอนในโรงพยาบาล เป็นภาระค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ซึ่งเกิดพฤติกรรมการดื่ม ส่งผลให้โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของอำเภอ โดยสาเหตุสำคัญมาจากการดื่มเหล้า จากปัญหาดังกล่าวอำเภอขุขันธ์ โดยภาคประชาสังคมและกลไกราชการ จึงได้ดำเนินการเพื่อให้ประชาชนลดละเลิกการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างต่อเนื่อง ภายใต้ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนงาน "ขุขันธ์ก้าวหน้า ชาวประชาร่วมใจ"
ภายใต้สถานการณ์เช่นนี้ ในปี พ.ศ.2543 ทำให้ "คนขุขันธุ์" เริ่มมีการเชิญผู้นำท้องที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มาประชุมร่วมกันทั้งอำเภอ และยังมีการพูดคุยต่อเนื่องเรื่อยมาในรูปแบบที่หลากหลายทั้งทางการไม่ทางการ ผ่านวงคุยเครือข่ายประชาสังคมขุขันธ์ เครือข่ายสภาวัฒนธรรม วงคุยขบวนเครือข่ายสุขภาวะ ที่มีตัวแทนจากทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมด้วยประกอบกับการมี รพ.สต. ที่มีความแข็งขัน เอาจริงเอาจังในการทำงาน ที่มองเรื่องประเด็นเหล้าในมิติสุขภาวะ จึงเกิดการให้ข้อมูลทั้งเพื่อสร้างความตระหนัก ความเข้าใจและรณรงค์ไปพร้อมๆ กันโดยผ่านกลไก อสม.ที่มีอยู่ทุกหมู่บ้าน และการสื่อสารในรูปแบบต่างๆ จึงเกิดการขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมภายในชุมชน เนื่องจากชาวบ้านเล็งเห็นถึงความเสียหายที่เกิดจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
โดย "สสส.-สคล." หนุนยกระดับงานบุญออกพรรษาเป็นงานบุญปลอดเหล้างานที่ 14 ชู "คนพันธุ์เสียวปลอดเหล้าเข้ากระดูกดำ"สืบสานพระราชปณิธาน เศรษฐกิจพอเพียงลดละ เลิกอบายมุข ตามรอยในหลวงรัชกาลที่ 9 สู่เป้าหมายการเลิกเหล้าตลอดชีวิต ผลจัดงานบุญปลอดเหล้า-พนัน ปี 56-60 ชาวศรีสะเกษประหยัดเงิน 430 กว่าล้านบาท ภาพรวมทั้งประเทศ งดเหล้าเข้าพรรษา ปี 59 ประหยัดเงิน 13,459 ล้านบาท
นายเมธี สุพรรณฝ่าย รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ เป็นประธานจัดกิจกรรม "ออกพรรษาปลอดเหล้าจังหวัดศรีสะเกษ ประจำปี2560" กล่าวว่า ข้อมูลจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษ ปี 2560 ชาวศรีสะเกษมีผู้ดื่มสุราอายุ 15 ปี ขึ้นไป 119,822 คน ในจำนวนนี้มีผู้ติดสุราอายุ 15 – 19 ปี 13,522 คนการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นสาเหตุทำให้เกิดอุบัติเหตุ การทะเลาะวิวาท เสียสุขภาพและการเสียค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น โดยจังหวัดศรีสะเกษ ได้ขับเคลื่อนการแก้ปัญหาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ด้วยการจัดโครงการ
งานบุญปลอดเหล้า ปลอดการพนัน โดยน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ลด ละ เลิก อบายมุขของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาปฏิบัติใช้ มีเป้าหมายเพื่อให้เจ้าภาพ ลด ละ เลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการพนันในงานบุญ รวมถึงการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ครอบคลุมทุกเทศกาลโดยผลักดันเป็นนโยบายของท้องถิ่น ทั้งระดับชุมชน ตำบล อำเภอ เสนอเป็นวาระจังหวัด โดยประกาศนโยบายงานบุญประเพณีปลอดเหล้าครบทั้ง 22 อำเภอ ทำให้เกิดพื้นที่ต้นแบบที่มีกระบวนการทำงานให้เกิดผลสำเร็จเช่นที่ ตำบลเสียว อำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ มีการขับเคลื่อนผ่านงานบุญปลอดเหล้าได้ 13 งาน และเตรียมที่จะยกระดับงานบุญออกพรรษาเป็นงานบุญปลอดเหล้างานที่ 14 เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9
ดร.นพ.บัณฑิต ศรไพศาล รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถือเป็นพันธกิจหลักของ สสส. เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี สถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ของกลุ่มวัยรุ่นและประชาชนทั่วไปยังคงอยู่ในความเสี่ยงมาก โดยพบว่าเทศกาลงานบุญประเพณีต่างๆถูกใช้เป็นช่องทางและเป็นโอกาสส่งเสริมให้มีการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จำนวนมาก ก่อให้เกิดปัญหาและผลกระทบต่อทั้งตัวผู้ดื่มและคนรอบข้างในครอบครัว ชุมชน และสังคม ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาได้โดยฉับพลันและแบบเรื้อรัง สสส. ได้ริเริ่มและสนับสนุนงานบุญปลอดเหล้าโดยเฉพาะการงดเหล้าเข้าพรรษา ได้จัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 15 จากปี 2546 ซึ่งเป็นปีแรกในการรณรงค์มีผู้เข้าร่วมงดเหล้าเข้าพรรษาเพียง ร้อยละ 40.4 ได้เพิ่มขึ้นในปี 2559 เป็นร้อยละ 67.1 หรือราว 12 ล้านคน สามารถประหยัดค่าซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ 13,459 ล้านบาท
"สสส. เน้นส่งเสริมให้เกิดพื้นที่รูปธรรมในการจัดการตนเอง ทบทวนประสบการณ์ความรู้ ตอกย้ำแนวทางการทำงานให้เป็นเจ้าของการแก้ไขปัญหา และสามารถขยายผลยกระดับให้เป็นแหล่งเรียนรู้ เป็นแนวทางให้พื้นที่อื่นๆ รวมทั้งการสื่อสารสาธารณะกับสังคมให้ร่วมตระหนัก และนำความรู้ไปขับเคลื่อนสังคมต่อไป โดยจังหวัดศรีสะเกษ เป็นอีกจังหวัดหนึ่งที่มีการควบคุมและแก้ไขปัญหาแอลกอฮอล์อย่างได้ผล โดยใช้ความเข้มแข็งของชุมชนขับเคลื่อนจากระดับตำบล สู่การสร้างรูปธรรมการทำงานบุญประเพณีระดับอำเภอ เป็น "อำเภอยุทธศาสตร์งานบุญประเพณีปลอดเหล้า" ต้องขอชื่นชมความจริงจังของชาวจังหวัดศรีสะเกษที่ทุกภาคส่วนร่วมกันดำเนินการจนประสบความสำเร็จ" รองผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าว
นายบำรุง เป็นสุข ผู้ประสานงาน สคล.ภาคอีสานตอนล่าง กล่าวว่า ศูนย์ประสานงานฯรับผิดชอบ 9 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิบุรีรัมย์ สุรินทร์ มุกดาหาร อำนาจเจริญ ยโสธรอุบลราชธานี และศรีสะเกษ การขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เน้นชุมชนเป็นฐาน มีประชาคมงดเหล้าเป็นผู้ประสานการขับเคลื่อนงาน กำหนดยุทธศาสตร์การทำงานให้เหมาะสมกับสถานการณ์ การสร้างพื้นที่รูปธรรมบุญประเพณีปลอดเหล้า การให้ความรู้เท่าทันกลยุทธ์ของธุรกิจแอลกอฮอล์ สร้างความตระหนักรู้ ปรับเปลี่ยนค่านิยมหรือให้ประชาชนมีสำนึกในการลด ลด ละ เลิกการดื่ม รวมทั้งการประหยัดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เน้นกระบวนการประชาคมเพื่อกำหนดเป็นกติกาหรือมาตรการชุมชนงานบุญประเพณีปลอดเหล้าและขยายไปสู่ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ซึ่งคาดว่ากระบวนการเหล่านี้จะช่วยลดจำนวนนักดื่มทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ลงได้ในอนาคตอันใกล้นี้
"ผลการรณรงค์งดเหล้าเข้าพรรษาปี2560 เฉพาะภาคอีสานตอนล่างทั้ง 9 จังหวัดจากผู้ร่วมปฏิญาณตนบวชใจงดเหล้า มีคนร่วมปฏิญาณตนงดเหล้า รวม 8,806 คน แบ่งเป็นปฏิญาณตนงดเหล้าครบพรรษาจำนวน 4,744 คน ประหยัดค่าใช้จ่าย 11,385,600 บาท ปฏิญาณตนงดดื่มตลอดชีวิต 2,090 คน ประหยัดค่าใช้จ่าย 5,016,000 บาท ส่วนผู้ที่ไม่งดแต่ลดปริมาณการดื่ม จำนวน 1,972 คน ประหยัดค่าใช้จ่าย 2,662,200 บาท รวมทั้งสิ้นประหยัดได้ 19,063,800 บาท ซึ่งช่วงออกพรรษาจะจัดเวทีฉลองชัยคนหัวใจหินและเชิดชูคนหัวใจเพชรเป็นกระบวนการเสริมแรงให้คนที่เลิกเหล้าตลอดสามเดือนได้เลิกเหล้าต่อไปอีก หรือบางรายอาจตัดสินใจเลิกเหล้าได้ตลอดชีวิต"
ครูจันทร์ โต๊ะสิงห์ ผู้ประสานงานประชาคมงดเหล้าจังหวัดศรีสะเกษ นักรณรงค์ชวนคนเลิกเหล้ารางวัลคนดีแทนคุณแผ่นดิน/รางวัลครูดีไม่มีอบายมุขปี 2559 จากกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า จังหวัดศรีสะเกษได้ดำเนินงานนโยบายบุญประเพณีปลอดเหล้ามาตั้งแต่ปี 2553 โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษ ได้รวบรวมข้อมูลการประหยัดค่าใช้จ่ายการจัดงานบุญปลอดเหล้า-ปลอดการพนัน ระหว่างปี 2556-2560 มีงานบุญปลอดเหล้า 24,833 งาน ประหยัดเงินได้จากการจัดงานปลอดเหล้า 431,496,324 บาท โดยในส่วนของตำบลเสียว อำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นแบบจัดงานบุญปลอดเหล้าครบรอบ 10 ปี สามารถยกระดับงานบุญปลอดเหล้าได้ 13 งาน ใน 12 เดือน ได้แก่ 1)งานปีใหม่ 2)สงกรานต์ 3)บั้งไฟ 4)ทอดกฐิน 5)ทอดผ้าป่า 6)งานศพ 7)งานบวช 8)งานบุญอัฐิ (ทำบุญกระดูก) 9)งานบุญซำฮะ (งานบุญข้าวประดับดิน) 10)งานรำอ้อ(รำไหว้ผีบรรพบุรุษ) 11)งานลอยกระทง 12)งานขึ้นบ้านใหม่ 13)งานแต่งงาน
ครูจันทร์ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้ "ร้านค้าไม่ขาย คนไม่ดื่ม งดเหล้าครบพรรษา" หัวใจสำคัญคือความร่วมมือของทุกคนในชุมชนที่ร่วมกันรักษากติกาชุมชน กระบวนการชุมชนนี้จึงเป็นที่มาของการเป็นหมู่บ้านปลอดเหล้าร้อยเปอร์เซ็นต์ อีกทั้งยังมีการส่งต่อแนวความคิดให้เด็กและเยาวชนรู้จักป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ร่วมเป็นเจ้าของปัญหาที่เกิดจากน้ำเมา ภายใต้กลุ่ม "เยาวชนคนพันธุ์เสียวสร้างสุข" ถือเป็นการทำงานอย่างมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน เพราะมีผู้นำที่ทำจริง มีผู้ตามที่ให้ความร่วมมือ เรียกได้ว่า "คนพันธุ์เสียวปลอดเหล้าเข้ากระดูกดำ"อย่างแท้จริง ทั้งนี้ ปีนี้มีวาระสำคัญของประเทศ ที่คนตำบลเสียวพร้อมใจ ร่วมกันปฏิบัติทำความดี "งดเหล้าสืบสานพระราชปณิธาน" ด้วยการยกระดับให้งานออกพรรษา เป็นงานบุญปลอดเหล้า "ออกพรรษางดเหล้าตลอดปี ชีวีเป็นสุข" โดยน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ลด ละ เลิก อบายมุขตามรอยพ่อ ถวายเป็นพระราชกุศลแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9
"หมู่บ้านปลอดเหล้าร้อยเปอร์เซ็นต์ อีกทั้งยังมีการส่งต่อแนวความคิดให้เด็กและเยาวชนรู้จักป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ร่วมเป็นเจ้าของปัญหาที่เกิดจากน้ำเมา ภายใต้กลุ่ม "เยาวชนคนพันธุ์เสียวสร้างสุข" ถือเป็นการทำงานอย่างมีส่วนร่วมทุกภาคส่วน เพราะมีผู้นำที่ทำจริง มีผู้ตามที่ให้ความร่วมมือ เรียกได้ว่า "คนพันธุ์เสียวปลอดเหล้าเข้ากระดูกดำ" อย่างแท้จริง ทั้งนี้ ปีนี้มีวาระสำคัญของประเทศ ที่คนตำบลเสียวพร้อมใจ ร่วมกันปฏิบัติทำความดี "งดเหล้าสืบสานพระราชปณิธาน" ด้วยการยกระดับให้งานออกพรรษา เป็นงานบุญปลอดเหล้า
"ออกพรรษา งดเหล้าตลอดปี ชีวีเป็นสุข" โดยน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ลด ละ เลิก อบายมุข ตามรอยพ่อ ถวายเป็นพระราชกุศลแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9"