ขึ้นบัญชีดำ “ปลาหิมะ” อุรุกวัย
เผยพบสารปรอทอื้อ เสี่ยงสมองฝ่อ
พบสารปรอทในปลาหิมะจากอุรุกวัย เกินมาตรฐานถึง 1 เท่า พร้อมขึ้นบัญชีดำเป็นอาหารกักกัน เตือนปลาลอตเดียวกันกระจายสู่ตลาดแล้ว หวั่นลูกค้ารับสารปรอท ชี้อันตรายถึงสมองฝ่อ แขนขาไม่มีแรงคล้ายคนพิการ จี้รัฐควบคุมอาหารทะเลนำเข้า
แม้ว่าสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จะมีการกล่าวเตือนสารพิษที่ผสมในอาหารชนิดต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง แต่เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา อย.ได้สั่งเปรียบเทียบปรับบริษัทนำเข้าปลาหิมะ อาหารทะเลนำเข้าราคาแพง หลังตรวจพบสารปรอทในปริมาณสูงเกินกว่ามาตรฐาน 1 เท่า และขึ้นบัญชีดำเป็นอาหารกักกัน แต่ปลาหิมะที่เหลือในตู้คอนเทนเนอร์เดียวกันไม่ทราบว่า ได้กระจายไปยังร้านอาหารหรือผู้บริโภคอย่างไรบ้าง
นายเสน่ห์ ดิษฐอ่วม เจ้าหน้าที่ด่านอาหารและยาการรถไฟลาดกระบัง ให้ข้อมูลว่า เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ได้สุ่มตรวจอาหารทะเลแช่แข็งนำเข้าของบริษัทนำเข้า-ส่งออกแห่งหนึ่ง ซึ่งนำเข้าปลาหิมะจากประเทศอุรุกวัย และที่ผ่านมายังไม่เคยมีรายงานการตรวจปลาหิมะนำเข้าจากประเทศนี้มาก่อน โดยสุ่มหยิบปลาหิมะแช่แข็ง 1 ตัว ส่งไปให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจว่า มีสารตกค้างอันตรายหรือสารโลหะหนักหรือไม่
“ปกติการสุ่มตรวจ 1 ตัวจากทั้งหมดเป็นการทำตามขั้นตอนที่กำหนดไว้อยู่แล้ว แต่จำไม่ได้ว่าในตู้คอนเทนเนอร์นั้นมีปลาหิมะอยู่จำนวนเท่าไร เพราะแต่ละวันต้องสุ่มตรวจอาหารแช่แข็งจำนวนมาก จำได้เพียงว่าไม่เคยตรวจมีปลาหิมะแช่แข็งจากอุรุกวัยมาก่อน เลยส่งตัวอย่างไปให้ห้องแล็บกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตรวจหาสารอันตรายทุกชนิด เช่น สารปรอท ตะกั่ว ฟอร์มาลิน ฯลฯ ใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ พอรู้ว่ามีสารปรอทถึง 1.06 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งถือว่าสูงมากเพราะมาตรฐานกำหนดให้ปนเปื้อนสารปรอทได้ไม่เกิน 0.5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม จึงส่งเรื่องไปที่ฝ่ายนิติกร เพื่อให้แจ้งข้อหาไปที่บริษัทนำเข้า แต่เราก็ไม่รู้ว่าปลาหิมะที่ไม่ได้สุ่มตรวจนั้นกระจายส่งไปขายที่ไหนแล้วบ้าง” นายเสน่ห์กล่าว
เจ้าหน้าที่ด่าน อย.ลาดกระบัง อธิบายเพิ่มเติมว่า แม้จะไม่สามารถติดตามปลาหิมะที่ปนเปื้อนสารปรอทชุดที่แล้วได้ แต่ในอนาคตจะขึ้นบัญชีดำของระบบกักกัน หมายความว่าตามกฎระเบียบ อย.หากตรวจพบสารปรอทเกินมาตรฐาน 1 ครั้งในอาหารประเภทใดแล้วก็ตาม อาหารประเภทนั้นจะถูกขึ้นบัญชีดำ หากนำเข้าครั้งต่อไปต้องถูกสุ่มตรวจสอบทุกตู้จนปลอดภัยครบ 3 ครั้ง จึงจะหลุดออกจากบัญชีรายชื่อในระบบกักกัน เช่นเดียวกับปลาหิมะจากอุรุกวัย หากมีการขออนุญาตนำเข้าก็ต้องสุ่มตรวจก่อนหากปลอดภัยครบ 3 ครั้ง จึงจะออกจากระบบกักกัน แต่ช่วงนี้ยังไม่พบการนำเข้าปลาชนิดนี้จากอุรุกวัยแต่อย่างใด
ด้านเจ้าหน้าที่กลุ่มกฎหมายและยา อย.กล่าวว่า ขณะนี้ อย.ได้สั่งปรับบริษัทนำเข้าปลาหิมะจากอุรุกวัยแล้ว ถือเป็นกรณีแรกที่ตรวจพบสารปรอทจากปลาหิมะแช่แข็ง จึงสั่งปรับผู้ดำเนินกิจการ 5,000 บาท และสั่งปรับบริษัทอีก 5,000 บาท รวมเป็น 1 หมื่นบาท จึงอยากเตือนให้ผู้ที่นิยมบริโภคปลาชนิดนี้ระวังสารปรอทตกค้างด้วย เพราะเป็นสารโลหะหนักที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย นอกจากปลาหิมะแล้วยังตรวจพบสารปรอทในเห็ดหอมอีกด้วย
ขณะที่พนักงานบริษัทนำเข้า-ส่งออกเจ้าของปลาหิมะสารปรอทยอมรับว่า มีการนำเข้าปลาหิมะจากอุรุกวัยจริง ซึ่งบริษัทเองก็ไม่รู้ว่าเหตุใดถึงมีสารปรอทเจือปน เพราะที่ผ่านมาไม่เคยถูกสุ่มตรวจสอบมาก่อน พร้อมกันนี้พนักงานคนเดิมอ้างว่าปลาหิมะชุดนั้นได้ถูกทำลายทิ้งไปหมดแล้ว
นพ.ณรงค์ สายวงศ์ ผู้อำนวยการกองโภชนาการ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงอันตรายจากการกินอาหารปนเปื้อนสารปรอทว่า จะมีการสะสมในร่างกายโดยเฉพาะสารปรอทที่เป็นโลหะหนัก จะมีอันตรายต่อสมองและอวัยวะต่างๆ สำหรับปลาหิมะปนเปื้อนสารปรอทหากนำมาบริโภคเป็นปลาดิบก็จะยิ่งอันตราย เพราะร่างกายได้รับสารตะกั่วโดยตรง หากไม่แน่ใจว่าปลานำเข้าชนิดใดปลอดภัยหรือไม่ ให้กินปลาไทยแทน เพราะสารอาหารไม่ต่างกันมาก มีทั้งโปรตีนและโอเมก้า 3
เช่นเดียวกับ รศ.ดร.ทรงศักดิ์ ศรีอนุชาติ อดีตผู้อำนวยการสถาบันวิจัยโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ปลาหิมะที่มีการปนเปื้อนสารปรอทเกินมาตรฐานถึง 1 เท่า ถือว่ามีความเสี่ยงสูง โดยเฉพาะกับผู้ที่กินบ่อยๆ อย่างต่อเนื่อง เพราะสารปรอทจะเข้าไปสะสมในร่างกาย และส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบปราสาท ทำให้สมองฝ่อ แขนขาอ่อนแรง คล้ายคนพิการ สารปรอทเป็นสารโลหะหนักถ้าปนเปื้อนในอาหารแล้ว ไม่ว่าจะนำอาหารไปปรุงรสหรือผ่านความร้อนก็ไม่สามารถทำให้สารปรอทหายไปได้ ยิ่งไปกว่านั้นตับและไตที่มีหน้าที่ขับของเสียออกจากร่างกายก็แทบจะไม่สามารถขับสารปรอทออกจากร่างกายได้ เหมือนกรณีโรคมินามาตะในญี่ปุ่น ที่เกิดจากการกินปลาปนเปื้อนสารปรอท
“ถ้าตรวจพบว่าปลาหิมะนำเข้าจากต่างประเทศมีสารปรอทปนเปื้อนอยู่จริงต้องรีบออกมาเตือนประชาชน เพราะคนที่กินอาหารที่มีสารปรอทผสม จะไม่รู้ตัวและไม่มีอาการอะไรเลย จนกระทั่งร่างกายสะสมจนถึงระดับหนึ่งสารปรอทค่อยๆ สะสมเป็นก้อนใหญ่จับตัวกับเนื้อเยื่อในระบบประสาท จนส่งผลให้กลายเป็นโรคสมองฝ่อหรือร่างกายพิการ เพราะฉะนั้นการนำเข้าอาหารทะเลแช่แข็งทุกชนิดรัฐบาลต้องเข้มงวด และระมัดระวังตรวจสอบความปลอดภัยจากสารพิษทุกประเภท” นักวิจัยด้านอาหารกล่าว
โรคมินามาตะ (minamata) เป็นโรคที่เกิดจากพิษสารปรอทที่สะสมในร่างกาย ทำอันตรายต่อระบบประสาทและกล้ามเนื้อ ถ้าสะสมไว้ในปริมาณมากก็จะทำให้ตายได้ พบครั้งแรกที่เมืองมินามาตะ ประเทศญี่ปุ่น เนื่องจากโรงงานอุตสาหกรรมปล่อยน้ำเสียที่มีสารปรอทเจือปนลงในอ่าวมินามาตะ สารปรอทจึงเข้าไปสะสมอยู่ในปลาและสัตว์น้ำอื่นๆ ประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นนำปลาและสัตว์ทะเลมารับประทาน จนประชาชนบริเวณอ่าวมินามาตะกว่า 2,000 คนมีอาการปวดท้อง ท้องร่วง ระบบกล้ามเนื้อถูกทำลาย ประสาทตาและหูเสื่อม โดยตรวจพบผู้ป่วยด้วยโรคนี้รายแรกเมื่อปี 2499 มีผู้เสียชีวิตจากโรคมินามาตะแล้วกว่า 2,000 คน
สำหรับปลาหิมะถูกแปลมาจากภาษาจีนกวางตุ้ง เรียกว่าปลาซิดหยี โดย “ซิด” แปลว่า หิมะ ส่วน “หยี” แปลว่า ปลา ขณะที่ต่างชาติเรียกปลาชนิดนี้ว่า ซาเบิลฟิช (sable fish) แต่ก่อนจะมีเฉพาะตามร้านอาหารญี่ปุ่นในโรงแรมห้าดาว แต่ประมาณ 10 ปีให้หลังภัตตาคารจีนเริ่มนำมานึ่งซีอิ๊วปรุงรส โดยเนื้อปลาที่สั่งเข้ามาจากต่างประเทศยังคงใสเหมือนเดิม และมีการอ้างว่าให้โปรตีนสูงแต่ไขมันต่ำ ทำให้ได้รับความนิยมมากขึ้น ปัจจุบันร้านอาหารทั่วไปเริ่มนำปลาหิมะมาดัดแปลงเป็นอาหารหลากหลายชนิดขึ้น พร้อมกับราคาที่ลดลงเหลือเพียงจานละ 300-500 บาท เช่น ปลาหิมะทรงเครื่อง ปลาหิมะน้ำแดง ปลาหิมะราดซอสเสฉวน ปลาหิมะผัดเต้าซี่ ฯลฯ
ผู้เชี่ยวชาญการทำอาหารจีนภัตตาคารซีฟู้ดชื่อดังแห่งหนึ่ง บอกว่า ปลาหิมะที่นิยมขายในร้านอาหารทั่วไปจะสั่งนำเข้ามาจากหลายประเทศ เช่น สวิตเซอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ ฯลฯ โดยราคาจะแตกต่างกัน แต่ปลาหิมะจากสวิตเซอร์แลนด์จะมีราคาแพงที่สุด ต้องสั่งนำเข้ามาขายเป็นตัว เมื่อแล่เนื้อปลาออกมาแล้วจะขายราคาจานเล็ก 2 ชิ้น 800 บาท ส่วนจานใหญ่ 3-4 ชิ้น 1,600 บาท ลูกค้าส่วนใหญ่มักนิยมสั่งปลาหิมะต้มซีอิ๊ว เพราะจะได้รสชาติมันๆ ของเนื้อปลา
ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
update : 26-08-51