ขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์แรงงานนอกระบบ
ที่มา : เดลินิวส์
ภาพประกอบจากเว็บไซต์กระทรวงแรงงาน
แรงงานนอกระบบมีจำนวน 21.4 ล้านคน หรือร้อยละ 55.9 ของจำนวนผู้มีงานทำทั้งหมด แต่กลับเป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ขาดความมั่นคงทางด้านอาชีพ ไร้ซึ่งหลักประกันทางสังคม และได้รับผลกระทบโดยตรงจากปัญหาความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง
ปัจจุบัน แรงงานนอกระบบส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป กำลังจะก้าวเข้าวัยผู้สูงอายุที่ต้องได้รับการคุ้มครอง ส่งเสริมและพัฒนาให้เป็นผู้ที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งขณะที่ยังอยู่ในวัยทำงาน และเมื่อเกษียณอายุไปแล้ว จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนจะต้องผนึกกำลังกันเพื่อให้แรงงานนอกระบบเหล่านี้มีความมั่นคงทางอาชีพ มีหลักประกัน ลดความเหลื่อมล้ำ และมีรายได้เพิ่มขึ้น
กระทรวงแรงงาน จึงได้ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุน การสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย ลงนามข้อตกลงเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2560-2564 ไปสู่การปฏิบัติ
อนุรักษ์ ทศรัตน์ รองปลัดกระทรวง กล่าวว่า แรงงานนอกระบบเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ หรือมีกิจการเป็นของตนเอง อาทิ นักร้อง แท็กซี่ พ่อค้าแม่ค้า เกษตรกร ฟรีแลนซ์ต่างๆ การที่แรงงานเหล่านี้จะเข้าถึงระบบบริการของรัฐ หรือเข้าถึงสิทธิตามกฎหมายต่างๆ ยังไม่ครอบคลุม เป้าหมายของการลงนามคือ ทำให้แรงงานนอกระบบมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถได้รับบริการของรัฐได้อย่างทั่วถึง รวดเร็ว
"คุณภาพชีวิตที่ดีหมายถึงการมีอาชีพ และมีรายได้ที่เหมาะสม ได้รับการบริการทางด้านสาธารณสุขที่ดี มีหลักประกันในชีวิต เช่น เป็นผู้ประกันตนตาม ม.40 ประกันสังคม เป็นต้น เหล่านี้เป็นยุทธ ศาสตร์ที่เราได้วางไว้ในการทำให้แรงงานนอกระบบได้เข้าถึงบริการของรัฐในด้านต่าง ๆ เพื่อความอยู่ดีกินดีของแรงงานนอกระบบ"
แผนการดำเนินงานจะแบ่งเป็น 3 ยุทธศาสตร์หลัก คือ 1. การสร้างหลักประกันและขยายการคุ้มครองให้ทั่วถึง ในการแก้กฎหมาย การดูแลสุขภาพและความปลอดภัย 2. เสริมสร้างองค์ความรู้และพัฒนาสมรรถนะในการพัฒนาทักษะที่มีมาตรฐานและมีผลิตภาพ 3. การเพิ่มสมรรถนะการบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ ผ่านระบบไอที เครือข่ายและหน่วยงานในท้องถิ่น
โดยมีจังหวัดนำร่อง 16 พื้นที่ ครอบคลุมทั่วประเทศ เน้นการพัฒนาเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาวะแรงงานนอกระบบ รวมถึงการเพิ่มศักยภาพบุคคล ผู้นำแรงงาน องค์กร กลไกการจัดการ และรวบรวมองค์ความรู้ที่ใช้สนับสนุนการดำเนินงาน เพื่อบูรณาการทรัพยากรการทำงานในระดับจังหวัดให้เกิดการปฏิบัติอย่างแท้จริง ตั้งเป้าให้แรงงานนอกระบบมีงานทำ มีรายได้ที่ดี เข้าถึงบริการของรัฐได้อย่างสะดวก ทั่วถึง จนเกิดเป็นพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงานนอกระบบ นำไปสู่การขยายผลความสำเร็จต่อไป
สำหรับนโยบายของคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) ให้มีการขยายความคุ้มครองแรงงานนอกระบบ เข้าสู่ระบบประกันสังคม จากเดิม 1.3 ล้านคน ได้มีการตั้งเป้าให้เพิ่มเป็น 3 ล้านคน
"ปัญหาของแรงงานนอกระบบคือการขาด หลักประกันทางสังคม แม้ประเทศไทยเราจะมีแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ แต่ไม่มีการนำไปสู่การปฏิบัติ การบันทึกข้อตกลงร่วมกันเพื่อการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์ฯ ฉบับที่ 2 เน้นจังหวัดนำร่อง 15 จังหวัด เป็นต้นแบบให้กับจังหวัดที่เหลือ เป็นการนำแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแรงงานนอกระบบ พ.ศ. 2560-2564 ไปสู่การปฏิบัติจริง เน้นที่การทำงานร่วมกัน กลไกบูรณาการ จะเป็นตัวเชื่อมร้อย หลักประกันสุขภาพ อาชีพ การออม สุขภาพ แบ่งงานกันทำ"อรพิน วิมลภูษิต ผู้จัดการแผนพัฒนาคุณภาพชีวิตแรงงาน กล่าวสรุป