ขับเคลื่อนการศึกษาไทยสู่ ไทยแลนด์ 4.0
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
แฟ้มภาพ
ในปัจจุบันสังคมไทยก้าวเข้าสู่โลกยุคดิจิตอลอย่างเต็มตัว ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจสังคมล้วนดำเนินไปอย่างรวดเร็ว มีการแข่งขันสูง การเข้าถึงแหล่งข้อมูลปริมาณมหาศาลผ่านโลกออนไลน์มากขึ้น ส่งผลให้คุณลักษณะเด็กเปลี่ยนไป ประกอบกับรัฐบาลได้ประกาศนโยบายไทยแลนด์ 4.0 มีเป้าหมายให้ประเทศไทยก้าวออกจากกับดักรายได้ปานกลาง และก้าวไปสู่ประเทศรายได้สูงโดย ใช้นวัตกรรมทางเศรษฐกิจสังคมและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพสูงเพื่อการขับเคลื่อนประเทศ
การศึกษาจึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการยกระดับคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ในประเทศ เพื่อเตรียมกำลังคนให้พร้อมในการเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทยสู่เวทีเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ ในงานเสวนาหัวข้อ “การศึกษาไทย 4.0” โดยสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อแลกเปลี่ยนถึงการจัดการศึกษาด้วยการบูรณาการเชิงสร้างสรรค์เพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมที่กำลังจะก้าวเข้าสู่โลกยุคดิจิตอล
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายเศรษฐศาสตร์การศึกษา สสค. กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นจากการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 ในตลาดแรงงาน คือการแข่งขันที่สูงขึ้น ซึ่งจะไม่ใช่แต่การแข่งขันระหว่างคนด้วยกันเองอีกต่อไป แต่จะเป็นการแข่งกันระหว่างคนกับเทคโนโลยีด้วย ทำให้คนมีความเสี่ยงในการตกงานมากขึ้น เพราะมีการใช้เทคโนโลยีและเครื่องจักรเข้ามาแทนที่แรงงานมนุษย์ โดยเฉพาะแรงงานที่ใช้ทักษะการทำซ้ำเป็นประจำ (Routine Skill) จะถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย เช่น หุ่นยนต์ คอมพิวเตอร์ที่มีปัญญาประดิษฐ์ เครื่องพิมพ์ 3 มิติ และระบบอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับอินเตอร์เน็ตทั้งหมด เป็นต้น ซึ่งมีประสิทธิภาพสูงกว่ามนุษย์ และมีต้นทุนต่อหน่วยที่ถูกกว่า
แล้วทักษะใดที่นายจ้างยุคเศรษฐกิจ 4.0 ต้องการ ดร.ไกรยส ชี้ให้เห็นถึงรายงานเวทีเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Forum ถึง 10 ทักษะ ที่ตลาดแรงงานโลกต้องการอย่างในปี 2020 ดังนี้ 1. ทักษะการแก้ไขปัญหาที่ทับซ้อน 2. การคิดวิเคราะห์ 3. ความคิดสร้างสรรค์ 4. การจัดการบุคคล 5. การทำงานร่วมกัน 6. ความฉลาดทางอารมณ์ 7. รู้จักประเมินและการตัดสินใจ 8. มีใจรักบริการ 9. การเจรจาต่อรอง 10. ความยืดหยุ่นทางความคิดสอดคล้องกับผลสำรวจความต้องการแรงงานของนายจ้างและองค์กรเกิดใหม่ในปี 2557 ขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) พบว่า นายจ้างขององค์กรในศตวรรษที่ 21 คาดหวังให้พนักงานในองค์กรมีทักษะด้านการคิดวิเคราะห์ (Critical Thinking) และความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) มากที่สุด ดังนั้นแรงงานที่จะยังคงปลอดภัย และมีความก้าวหน้าในการประกอบอาชีพ คือ แรงงานที่มีทักษะที่หลากหลายทั้งทางปัญญา และทางการสื่อสาร เช่น ทักษะความคิดสร้างสรรค์ และทักษะการคิดวิเคราะห์ เป็นต้น ส่วนแรงงานที่ยังพึ่งพาทักษะซ้ำ ๆ ในการประกอบอาชีพอยู่ในปัจจุบันจะเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงมากที่จะตกงานในอนาคต
สำหรับพื้นที่เป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ที่ระบบการศึกษาไทยจะต้องพัฒนาเพื่อหนุนนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาล จากการศึกษาวิจัยร่วมกันระหว่าง สสค. และธนาคารโลกโดยอาศัยประสบการณ์จากการปฏิรูปการศึกษาในระดับนานาชาติ คือ การพัฒนาโรงเรียนขนาดกลางที่มีคุณภาพ ที่อยู่ตามพื้นที่ในทุกตำบลของประเทศไทย ถ้าเกิดมีโรงเรียนขนาดกลางที่มีคุณภาพที่ดี และเป็นศูนย์กลางให้กับพื้นที่ได้และทำงานเชื่อมโยงกับกลไก กศจ. ที่ดำเนินการอยู่ของกระทรวงศึกษาธิการแล้ว โรงเรียนเหล่านั้นจะสามารถพัฒนากำลังคนในตำบลนั้น แล้วขยายการพัฒนาไปสู่โรงเรียนขนาดเล็กข้างเคียงได้อีกด้วย และจะสามารถครอบคลุมการพัฒนาคุณภาพเด็กและเยาวชนได้มากกว่า 50% ของประเทศที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานในอนาคต ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่แนวคิดนี้ถูกเอาไปใช้ในกระทรวงศึกษาธิการแล้ว คือโรงเรียนแม่เหล็ก ที่ สพฐ. ได้เริ่มดำเนินการ
“หากเราดึงทุกพื้นที่ ท้องถิ่น มหาวิทยาลัย ผู้ปกครอง ภาคผู้ประกอบการ ภาคประชาสังคม เข้ามาร่วมกันจัดการในระดับจังหวัด โดยมีคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดเป็นแกนกลาง เพื่อร่วมกันยกระดับคุณภาพโรงเรียนแม่เหล็กเหล่านี้ เราก็จะมีกลไกการจัดการในระดับจังหวัด ระดับตำบล ทำให้สามารถที่จะพัฒนาเด็กไปเป็นตามเป้าหมายเฉพาะของแต่ละพื้นที่ 77 จังหวัด ที่สอดคล้องตามบริบทของท้องถิ่นอย่างแท้จริง” ดร.ไกรยส ให้ข้อเสนอแนะ
รศ.นพ.กำจร ตติยกวี อดีตปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การจัดการศึกษาในระดับประถมโดยเฉพาะปฐมวัย จะต้องฝึกให้ใช้ทักษะการคิดมากกว่าใช้ความจำ รวมถึงสามารถที่จะคิดวิเคราะห์มีเหตุมีผล สามารถที่จะเข้าใจ เรียนรู้ได้ถูกทิศถูกทางและต้องให้ความสำคัญในเรื่องของการ เพราะทุกวันนี้เรายังสื่อสารภาษาอังกฤษยังไม่คล่อง รวมไปถึงการที่มีครูที่เก่ง คือ สามารถสร้างนักเรียนที่เก่ง ไม่ได้เป็นครูที่มีความรู้เพียงอย่างเดียว เพราะครูเป็นรากฐานสำคัญของการปฏิรูปการศึกษา ที่จะต้องแสวงหาความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ และส่งเสริมนวัตกรรม ทั้งนี้ การศึกษาไทยในยุค 4.0 จึงต้องจัดการศึกษาทั้งระบบตั้งแต่ประถม มัธยม อาชีวศึกษา ไปจนถึงอุดมศึกษา โดยงานวิจัยต่าง ๆ ของอุดมศึกษาต้องเอามาใช้ได้จริง เพราะอุดมศึกษาเป็นส่วนสำคัญในการชี้นำสังคม
“ขณะนี้ สพฐ. ก็ได้ขับเคลื่อนไปแล้ว คือ การตั้งคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัด โดยมุ่งหวังที่จะให้แต่ละจังหวัดสร้างแผนพัฒนาการศึกษาในระดับจังหวัดของตนเอง ในวันนี้ จ.อุดรธานี มีการทุ่มงบโดยตั้งเป้าหมายไว้ว่า เด็กอุดรจะต้องมีความสามารถด้านภาษาอังกฤษมากกว่าจังหวัดอื่น หากทุกจังหวัดทำเช่นนี้ แน่นอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือคุณภาพของเด็กนักเรียนที่ดีขึ้นนั่นเอง” รศ.นพ.กำจร กล่าว
เป็นที่แน่นอนว่า การที่ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่การศึกษาไทยในยุค 4.0 ได้อย่างยั่งยืนได้นั้น จะต้องมีการเชื่อมโยงในหลากหลายมิติ ให้สอดคล้องต่อการพัฒนาประเทศ เพื่อมุ่งสร้างคนให้มีคุณภาพ ตอบโจทย์ทิศทางการเปลี่ยนแปลงของโลกในอนาคต