ขับรถสาธารณะไร้แอลกอฮอล์
เพื่อความปลอดภัยของทุกชีวิต
ขนส่งทางบกวางกฎเข้ม ผู้ขับรถโดยสารสาธารณะทุกประเภท แอลกอฮอล์ต้องเป็นศูนย์ เริ่มตรวจจับจริง ก.พ.นี้ ย้ำนโยบาย “ปีแห่งความปลอดภัย” พบฝ่าฝืนเปลี่ยนตัวคนขับทันที หากเกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ส่งดำเนินคดี โทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน เจ้าของรถโดนด้วย
นายชัยรัตน์ สงวนชื่อ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผยว่า กรมได้ดำเนินงานตามนโยบาย “2553 ปีแห่งความปลอดภัย” ของกระทรวงคมนาคม โดยได้เข้มงวดในเรื่องความปลอดภัยของผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ กำหนดให้ผู้ขับรถโดยสารสาธารณะ แอลกอฮอล์ต้องเป็นศูนย์ ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้เป็นต้นไป ทั้งนี้ กรมการขนส่งทางบกและสำนักงานขนส่งทั่วประเทศ จะส่งผู้ตรวจการออกตรวจผู้ขับรถโดยสารสาธารณะทุกประเภท ทั้งรถโดยสารประจำทาง รถโดยสารไม่ประจำทาง รถตู้โดยสาร และรถแท็กซี่ เป็นต้น ณ สถานีขนส่งผู้โดยสารต้นทาง และจุดรับ-ส่งระหว่างทาง หากตรวจพบพนักงานขับรถมีปริมาณแอลกอฮอล์เกิน 0 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ จะเปลี่ยนตัวให้ผู้ขับรถที่ไม่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดทำหน้าที่แทนทันที นอกจากนี้จะดำเนินการกับผู้ประกอบการขนส่งในฐานที่ไม่ควบคุมดูแลพนักงานขับรถ โดยส่งเรื่องให้นายทะเบียนพิจารณาเกี่ยวกับการต่ออายุใบอนุญาตประกอบการขนส่ง
ในกรณีที่พนักงานขับรถมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด (50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์) นอกจากตัวพนักงานขับรถจะถูกส่งดำเนินคดีตามกฎหมาย ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน ปรับตั้งแต่ 2,000-10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับแล้ว ผู้ประกอบการขนส่งเองก็มีความผิดต้องระวางโทษ ปรับไม่เกิน 40,000 บาทด้วย
นายชัยรัตน์กล่าวว่า ได้สั่งการไปยังสำนักงานขนส่งจังหวัด เพื่อให้เป็นหน่วยงานหลักในการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ตำรวจภูธรจังหวัด สำนักงานทางหลวงชนบทจังหวัด และองค์การบริหารส่วนจังหวัด เพื่อจัดทำแผนป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนภายในจังหวัด และบูรณาการร่วมกันให้การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพและเป็นไปในแนวทางเดียวกัน
ที่มา: หนังสือพิพม์ไทยโพสต์
update: 27-01-53
อัพเดทเนื้อหาโดย: ภราดร เดชสาร