“ของร้อน” หรือ “ของเย็น”กินเป็นเลือกได้
เคยฟังผู้ใหญ่เล่ามาว่าเวลาเขาจะจับจระเข้เกเรแต่ก่อนนั้นเขาใช้ต้มฟักเขียวให้ร้อนจัดแล้วเอาฟักร้อนนั้นโยนลงไปใส่ปากจระเข้ที่หิวโซ ซึ่งมันก็จะกลืนเข้าไปโดยไม่รู้เหนือใต้จากนั้นจระเข้ก็จะเริ่มดิ้นพราดฟาดน้ำกระจายจากฤทธิ์ฟักลูกโตที่ร้อนระอุก็จะไปลวกเผาเครื่องในจระเข้จนพังแล้วชาลันลา เอ๊ย…ชาละวันก็จะม้วยมรณา
ขึ้นมาลอยหงายตายในเวลาไม่นาน เรื่องนี้มักผุดขึ้นมาเมื่อสมัยยังเป็นนิสิตแพทย์กินและนอนอยู่ที่หอครับ ตื่นเช้ามาก็ต้องรีบอาบน้ำจัดการตัวเองให้เสร็จเพื่อไปเตรียมประวัติคนไข้ไว้ให้อาจารย์หมอตั้งแต่ก่อนเจ็ดโมงเช้า ดังนั้นเวลากินข้าวที่เหลืออยู่ก็คือก่อนหกโมงครึ่ง สมัยทำงานใหม่ๆ ตัวผมเองเป็นคนอาบน้ำไว(พูดง่ายๆ คือขี้เกียจ) ให้น้ำโดนตัวได้พอสังเขปขัดถูหน่อยเป็นเสร็จพิธี จะมาประจงแต่งองค์สรงน้ำหอมนั้นไม่มีวัน
มีบอดี้ประดุจอาวุธชีวภาพจากนั้นก็วิ่งหน้าตั้งลงมาส่องหาร้านข้าวแกงใต้หอหาว่าร้านไหนเปิดบ้างจะได้รีบกินก่อน ซึ่งก็มีอยู่แค่ 3 ร้านหลัก ที่จำได้ดีก็มีร้านของคุณป้าคนหนึ่ง ซึ่งเห็นใจนิสิตผู้ยากจึงได้อุตส่าห์ลุกขึ้นหุงข้าวต้มแกงใส่หม้อมหึมาให้เสร็จตั้งแต่ตีห้า พอผมลงมาหกโมงก็จะเริ่มมีแกงมาไว้ราดข้าวบ้างแล้ว โดยแกงประจำก็คือ “แกงไก่ใส่ฟัก”ซึ่งมีฟักเขียวลอยเต็มควันฉุยขึ้นมา ถ้าโชคดีหน่อยไข่พะโล้ก็จะเสร็จทันมาตั้งเคียงกันเป็นเพื่อนอยู่ข้างๆ แต่โดยมากแล้วจะมีแกงฟักนี่ยืนพื้น
ฟักเขียวร้อนจัดตักใส่ข้าวถ้ามีเวลากินสักหน่อยจะอร่อยมาก แต่เวลาย่ำรุ่งเช่นนี้เป็นเวลาที่นิสิตแพทย์ผู้ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตชั้นเล็กสุดในห่วงโซ่อาหารโรงเรียนแพทย์จะต้องขึ้นวอร์ดไปตระเตรียมประวัติคนไข้ให้พร้อมก่อนแพทย์ประจำบ้านและหมอรุ่นพี่จะมาดูตอนเริ่มงานแปดโมง
กินไปดูเวลาไปด้วยความสามารถในการเคี้ยวไปพร้อมกับการเป่าลมจากคอทำให้ฟักที่ว่าร้อนระอุจนควันลอยนั้นกลายเป็นเย็นพอกลืนลงคอได้ พอกินเสร็จก็เป็นอันว่าได้รอยฟักลวกปากฝากไว้ในกระพุ้งแก้มและเพดานอ่อนอยู่เป็นเนืองนิจ
ทุกเช้าเวลากินชวนให้คิดว่าเป็นจระเข้กินฟักนั้นอยู่ทุกทีไป
ว่าที่จริงการกินของร้อนปรุงใหม่นั้นดูเป็นของดีที่เป็นหนึ่งในสุขบำบัด แต่นานไปคนก็เริ่มพบว่าอาหารร้อนนั้นทำให้เกิดมะเร็งในช่องปากช่องคอมากขึ้น ดังในคนญี่ปุ่นกับจีนที่พบมะเร็งหลอดอาหารจากอาหารร้อนมากจนต้องคอยส่องกล้องตรวจหลอดคอกันทุกปี
ส่วนคนไทยเรานี้เป็นชาติที่กลางๆ ครับ ไม่ได้เน้นต้องกินของร้อนลวกปากคออยู่ทุกมื้อทุกคราว เรายังมีอาหารที่กินแบบเย็นก็อร่อยได้ อย่างข้าวแช่ชื่นใจ, น้ำในคนโฑดินเผาเย็นเจี๊ยบลอยดอกมะลิหรือแม้แต่ขนมน้ำแข็งไสในหน้าร้อนก็ให้ความสดชื่นเข้ากันดีแถมมีธาตุอาหารที่เข้ากันด้วย
ช่วยให้กินเย็นก็เป็นยาได้ ดังต่อไปนี้ครับ
ของร้อน
น้ำอุ่น กินแล้วทำให้ลำไส้ไม่บีบตัวปวดมากขึ้น เหมาะกับช่วงท้องเสียและปวดรอบเดือน
ชาร้อน ความร้อนช่วยคงแอนตี้ออกซิแดนท์ที่ดีไว้ แต่ถ้าร้อนไปจะไปเพิ่มเสี่ยงต่อมะเร็งหลอดอาหารมากขึ้น ดังที่พบมากในคนจีนและญี่ปุ่นที่ชอบซดชาร้อนเป็นประจำ
ซุปไก่ จะซื้อกินก็ได้หรือตุนกินเองทั้งตัวได้น้ำแกงใสปน “คอลลาเจน” จากไก่ กินร้อนๆ ช่วยไล่หวัดดีนัก ถ้าให้ดีจะใส่เกากี้และโป๊ยกั้กเข้าไว้ด้วยก็ยิ่งดี
ก๋วยเตี๋ยว หิวซ่กมาอะไรจะดีไปกว่าบะหมี่ร้อนๆ สักชาม ฝรั่งยังรู้สึกว่าเป็นอาหารจานเดียวที่ได้ “ครบ” ดีทั้งแป้ง, โปรตีนและวิตามิน ซึ่งการกินร้อนนี้จะทำให้ไขมันกับคอลลาเจนยังไม่จับตัวเป็นไขครับ
ข้าวโพดต้ม งานวิจัยจากเยลบอกว่ายิ่งต้มนานก็ยิ่งมีธาตุต้านมะเร็ง(ferruric acid)ออกมามากขึ้น ส่วนข้าวโพดที่เลือกก็เป็นพันธุ์สีเหลืองสวีทคอร์นทั่วไปนี่แหละครับ
ข้าวต้ม แทนน้ำข้าวได้ ไม่ต้องหุงข้าวเช็ดน้ำให้ลำบากถ้าอยากได้วิตามินก็แค่เอาข้าวกล้องหรือข้าวกล้องงอกมาต้มซดน้ำร้อนๆ ก็ดีไม่แพ้กันครับ
น้ำมันร้อน ใช้ทอดของแบบน้ำมันท่วมเช่นน้ำมันปาล์ม อาจใช้นำไปก่อนแล้วเมื่อผ่อนไฟแล้วค่อยเอาน้ำมันเย็นเข้ามาปรุงต่อได้
ผัดผัก แม้ผักจะสลบไสลเสียหายวิตามินแต่อย่าลืมว่าถ้าผัดด้วยน้ำมันและไม่หั่นทิ้งไว้นานนั้นจะทำให้ผักยังเปี่ยมวิตามิน ส่วนน้ำมันนั้นจะยิ่งทำให้วิตามินดูดซึมได้ดีมากขึ้นกว่ากินสดครับ
ของเย็น
น้ำเย็น ดูดซึมได้ดีกว่าน้ำอุ่นเหมาะกับคนที่ขาดน้ำหรือนักกีฬาที่เหนื่อยมาจัด
ชาเย็น เป็นของกินเล่นที่เพิ่มน้ำหนักดีนักแลเพราะมีทั้งน้ำตาลและนมผสมประดังลงไป ชาเขียวขวดใสหาซื้อง่ายนั้นก็ยังถือว่ามีประโยชน์อยู่บ้างพอตัว
ซุปใส ฝรั่งมีซุปเย็นอยู่หลายชนิดอย่าง “วิชิซัวส์” ซึ่งเป็นซุปข้นแบบฝรั่งเศสเสิร์ฟเย็นเคี่ยวจากต้นหอม, หัวหอมหรือบางทีก็เป็นอโวคาโด นอกจากนั้นยังมี “กาสปาโช่” ซึ่งเป็นซุปผักเย็นแบบสเปน ซึ่งก็ช่วยให้ชื่นใจดีไม่แพ้ซุปร้อนควันฉุยเลยทีเดียว
บะหมี่เย็น ใส่เส้น “บัควีท(buckwheat)” ของญี่ปุ่นก็ดูดีอยู่ไม่น้อย หรือซุปเส้นพาสต้าแบบติตาลีที่ใช้แป้งข้าวรัมก็เหมาะที่จะกินสำหรับผู้รักสุขภาพเพราะรวมไว้ด้วยไฟเบอร์ที่ทำให้เส้นหนึบหนับ ที่สำคัญไม่อ้วนเหมือนเส้นแป้งขาวด้วย
ข้าวโพดคั่ว มีแอนตี้ออกซิแดนท์กลุ่มโพลีฟีนอลอยู่มากกว่าอาหารสดหลายชนิด แต่ให้ดีต้องลดเกลือกับเนยที่ผสมลงไปด้วย
ข้าวเย็น เห็นจะเหมาะเป็นข้าวผัดได้อย่างเดียว เพราะข้าวเก่านั้นเอามาผัดจะร่วนดีไม่แฉะ ถ้าได้มะเขือเทศอีกนิดตอกไข่อีกหน่อยก็จะยิ่งดีมากครับ
น้ำมันเย็น เป็นน้ำมันราคาแพงทั้งหลายอย่างมะกอก, ดอกทานตะวัน,มะพร้าว, เมล็ดชาหรือคาโนล่า ขออย่าเอาไปทอดร้อนจัดไปจะทำให้แอนตี้ออกซิแดนท์หนีกลับหมดครับ
สลัดผัก กินแล้วชื่นใจได้วิตามินครบแต่ควรใส่น้ำสลัดมันๆ เช่นน้ำมันมะกอกด้วยจะได้ช่วยดึงวิตามินที่ละลายไขมันออกมาอย่างพวก เอ, ดี, อีและเค
ของร้อนถ้าเป็นอาหารมักถูกจัดว่าดีแต่ถ้าเป็น “เงินร้อน” แล้วนั้นจะให้โทษแก่ อาหารร้อนจัดควันฉุยอาจให้ความรู้สึก “สดใหม่”และปลอดภัยแก่เราได้ แต่ขอให้อย่าลืมของเย็นไปเสียเลยเพราะธาตุอาหารหลายตัวก็ถูกถนอมเอาไว้ได้ด้วยความเย็นเหมือนกัน ไม่จำเป็นว่ากินเย็นแล้วไม่เป็นยาหรือว่าทำให้เจ็บคอแต่เพียงอย่างเดียวเสมอไป บางที “ของร้อน” เสียอีกที่ทำให้เจ็บป่วยได้ ขอเพียงแค่เข้าใจจัดให้สมดุลกันทั้งสองขั้ว
จะร้อนหรือเย็นก็เป็นยาได้ครือกัน
ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ
update:22-09-53
อัพเดทเนื้อหาโดย:คีตฌาณ์ ลอยเลิศ