ขยายศูนย์การเรียนรู้สู่การสร้างสังคมสุขภาวะที่ยั่งยืน

ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามรัฐ


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


ขยายศูนย์การเรียนรู้สู่การสร้างสังคมสุขภาวะที่ยั่งยืน thaihealth


"ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะภูมิภาค"พื้นที่ที่พร้อมเผยแพร่องค์ความรู้ด้านสุขภาวะ ผ่านสื่อการเรียนรู้และกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาวะต่างๆ อันจะนำไปสู่การสร้างแรงบันดาลใจในการปรับเปลี่ยนทัศนคติ และพฤติกรรมของตนเองและคนรอบข้างเพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ความเข้าใจด้านสุขภาวะให้แก่ เด็กเยาวชน และประชาชน


ในโอกาสนี้เพื่อให้เกิดการรับรู้ต่อการขับเคลื่อนงาน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงได้จับมือกับ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานครสวรรค์ตั้ง "ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะภูมิภาค" จ.นครสวรรค์ แห่งที่ 6 ต่อยอดพัฒนาพื้นที่เรียนรู้สุขภาวะต้นแบบ เพื่อเป็นสัญญาณในการเริ่มต้นให้บริการความรู้ด้านสุขภาวะที่หลากหลายสร้างแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาวะ พร้อมส่งมอบชุดนิทรรศการกระเป๋ายืมคืนทั้ง 3 ชุดคือ 1.ชุดรัก (เรา) ไร้ควันประเด็น "บุหรี่และยาสูบ" 2.ชุดเหล้าอยากเล่า ประเด็น "เครื่องดื่มแอลกอฮอล์" และ 3.ชุด Food&Fit สร้างชีวิตให้ Strong ประเด็น "อาหารและการออกกำลังกาย"


โดย ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวในการเปิดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ"ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะภูมิภาค" ว่า สสส. มีหน้าที่หลักคือการเสริมสร้างสุขภาพของคนไทยโดยรวมที่ไม่ใช่แค่การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และการออกกำลังกายเท่านั้น แต่ยังมีกิจกรรมอีกหลายอย่างที่สัมพันธ์กัน นั่นก็คือการสร้างการเรียนรู้ ผ่านสื่อมวลชน โซเชียลมีเดีย รวมไปถึงกระบวนการเรียนรู้ที่ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. และเพื่อเป็นการลดข้อจำกัดและเพิ่มช่องทางให้แก่ประชาชนได้สามารถเข้าถึงข้อมูลการเรียน รู้ได้สสส.จึงทำให้เกิด"ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะภูมิภาค"


ขยายศูนย์การเรียนรู้สู่การสร้างสังคมสุขภาวะที่ยั่งยืน thaihealth


"ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานครสวรรค์ ถือเป็นศูนย์เรียนรู้ภูมิภาคแห่งที่ 6 ซึ่งนอกจากเป็นศูนย์ที่อยู่ภายใต้การดูแลของสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยแล้ว ยังทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการสร้างการเรียนรู้ที่ดี ให้แก่เด็ก เยาวชนครอบครัว และชุมชน ครอบคลุมทั้งพื้นที่ 5 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ได้แก่ จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดอุทัยธานี จังหวัดพิจิตร จังหวัดตาก และจังหวัดเพชรบูรณ์ นับว่าเป็นพื้นที่ที่สร้างระบบการคิด เข้าใจกระบวนการวิทยาศาสตร์ ในการดูแลสุขภาพ และพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ที่มีความสร้างสรรค์ โดยมีกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลายสะท้อนให้เห็นถึงพลังของชาวนครสวรรค์ที่ร่วมกันขับเคลื่อนสิ่งที่มีคุณค่าให้เกิดขึ้นในพื้นที่ของตน ซึ่งล้วนเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนสุขภาวะของชาวเมืองนครสวรรค์ทั้งสิ้น"ดร.สุปรีดา กล่าว


"ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะภูมิภาค" ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ จึงเป็นเสมือนอีกหนึ่งฟันเฟืองที่จะมาร่วมจุดประกาย กระตุ้น สานและเสริมพลัง เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่มีขีดความสามารถที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาวะผ่านการสร้างการเรียนรู้จากข้อมูลและสื่อการเรียนรู้ การสร้างสรรค์กิจกรรมสร้างเสริมสุขภาวะ ตลอดจนการเสริมศักยภาพเครือข่ายการทำงานด้านสุขภาวะให้เป็นเมืองที่มีการตื่นตัวและสนับสนุนการเรียนรู้ด้านสุขภาวะอย่างต่อเนื่อง


ขยายศูนย์การเรียนรู้สู่การสร้างสังคมสุขภาวะที่ยั่งยืน thaihealth


ด้าน นางสาวเบญจมาภรณ์ ลิมปิษเฐียร ผู้อำนวยการศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. กล่าวถึงความสำคัญของศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. ว่า นับตั้งแต่ปี 2558 ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. ได้ร่วมมือกับพันธมิตรเครือข่ายแหล่งเรียนรู้ จำนวน 4 แห่ง ประกอบด้วย ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาลำปาง ศูนย์วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมเพื่อการศึกษาร้อยเอ็ด ศูนย์การเรียนรู้เมืองฉะเชิงเทราอุทยานการเรียนรู้ยะลา พัฒนาให้เกิดพื้นที่เรียนรู้ด้านสุขภาวะขึ้นภายใต้ชื่อ "ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะภูมิภาค" เพื่อส่งเสริมให้เด็กเยาวชน และประชาชนเกิดตระหนักถึงการเรียนรู้และมีทักษะด้านการใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาวะ สามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้รวมทั้งเพื่อให้เครือข่ายในพื้นที่ได้เชื่อมโยงต่อยอดการสร้างเสริมสุขภาพที่เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการขยายฐานผู้รับประโยชน์องค์ความรู้สุขภาวะให้กว้างขวางขึ้น ในปี 2561 นี้ สสส.จึงได้มีการขยายพื้นที่"ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะภูมิภาค" เพิ่มใหม่จำนวน 4 แห่ง โดยมี ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานครสวรรค์เป็นหนึ่งในพื้นที่ ดังกล่าว


ขยายศูนย์การเรียนรู้สู่การสร้างสังคมสุขภาวะที่ยั่งยืน thaihealth


ซึ่งการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสดีที่ สสส. และศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานครสวรรค์ จะร่วมกันสนับสนุนกระบวนการทำงานระหว่างกัน ให้บรรลุภารกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดระยะเวลา 3 ปี ต่อจากนี้


ในส่วน นางสาวจันทร์ทิพย์ สินธุวงษานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษานครสวรรค์ กล่าวว่า ศูนย์วิทยาศาสตร์แห่งนี้เป็นพื้นที่นำร่องในการจัดและส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อมให้กับผู้เรียน ประชาชน และคนชุมชนในพื้นที่รับบริการอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ เพื่อสร้างระบบคิด ปลูกจิตวิทยาศาสตร์และพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ รวมทั้งช่วยกระตุ้นและส่งเสริมการเรียนรู้ให้เยาวชนปีละไม่น้อยกว่า 100,000 คน และในปีที่ 15 ของศูนย์ฯ นี้ ถือเป็นการเติบโตครั้งสำคัญที่ได้มีโอกาสสร้างความร่วมมือกับ สสส.ในการสร้างการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาพที่ดีของประชาชน เผยแพร่องค์ความรู้และกิจกรรมสร้างเสริม สุขภาพกาย จิต สังคม ปัญญา รวมทั้งสร้างแรงกระตุ้นและการเชื่อมโยงให้แต่ละคน แต่ละชุมชน ที่จะได้มีโอกาสพัฒนาศักยภาพของตนสู่การสร้างสังคมสุขภาวะที่ยั่งยืน

Shares:
QR Code :
QR Code