ก.อุตสาหกรรม – ชมรมจักรยานฯ MOU พัฒนามาตรฐานจักรยาน

คนไทยฮิตปั่นจักรยานเพิ่มขึ้น 5-10 เท่า ก.อุตสาหกรรม – ชมรมจักรยานฯ MOU พัฒนามาตรฐานจักรยาน หลังพบล้าสมัยใช้มา 40 ปี สกัดจักรยานนอกราคาถูกแต่ไร้คุณภาพทะลักขายในไทย พร้อมพัฒนาอุปกรณ์เสริมหนุนคนพิการ หวังช่วยคนไทยใช้จักรยานที่ปลอดภัย

เมื่อวันที่ 9 มกราคม ที่กระทรวงอุตสาหกรรม มีการลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) กระทรวงอุตสาหกรรม และชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เพื่อสร้างความร่วมมือในการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เรื่อง การจัดระบบและโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการเดินและการใช้จักรยานในชีวิตประจำวัน

โดย ดร.วิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีการทำMOU กับชมรมจักรยานฯ ซึ่งกรอบความร่วมมือ ประกอบด้วย 1.ความร่วมมือทางวิชาการเพื่อพัฒนาระบบการส่งเสริม สนับสนุนภาคอุตสาหกรรมจักรยานและอุปกรณ์เครื่องช่วยคนพิการ 2.การประสานด้านการประชาสัมพันธ์ให้คำแนะนำต่อคนเดินเท้าและผู้ใช้จักรยานในชีวิตประจำวันตลอดจนคนพิการ และ 3.การส่งเสริมอุตสาหกรรมตามแผนงานสนับสนุนผู้ประกอบการธุรกิจและอุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์การเดินและจักรยาน รวมทั้ง อุปกรณ์อำนวยความสะดวกในการเดินทางแก่คนพิการ

ศ.กิตติคุณ ดร.ธงชัย พรรณสวัสดิ์ ประธานชมรมจักรยานเพื่อสุขภาพแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์การใช้จักรยานของคนไทย ไม่มีหน่วยงานใดจัดเก็บจึงไม่มีตัวเลขที่ชัดเจน ซึ่งชมรมฯ ได้ขอความร่วมมือไปยังสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ให้ดำเนินการแล้ว อย่างไรก็ตาม จากการที่ชมรมฯ ได้ดำเนินการรณรงค์ให้การใช้จักรยานมาเป็นเวลากว่า  20 ปี พบว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา คนไทยมีการใช้จักรยานเพิ่มขึ้นเร็วมากประมาณ 5-10 เท่า ทั้งในรูปแบบการปั่นเร็วระยะทางไกล และการปั่นช้าระยะทางใกล้  

ทั้งนี้ เป็นผลจากกระแสโลก การที่ชมรมจักรยานฯ และ สสส. ได้รณรงค์ในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง ทำให้คนไทยเข้าใจว่าการปั่นจักรยานมีข้อดีอย่างไร  รวมถึงภาคธุรกิจมีการดำเนินธุรกิจที่ตอบสนองต่อผู้ใช้จักรยานมากขึ้น และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เริ่มรณรงค์การใช้จักรยานในชุมชน ขณะนี้มี อปท. ที่เป็นต้นแบบ 10 แห่ง แต่ยังมีอปท. อีกหลาย 100 แห่ง ที่มีความสนใจเรื่องนี้ 

“หลังการ MOU ร่วมกับกระทรวงอุตสาหกรรม จะมีการตั้งคณะทำงานเพื่อปรับปรุงมาตรฐานจักรยานของประเทศไทย ซึ่งพบว่าฉบับล่าสุดที่มีการใช้อยู่ออกเมื่อ 40 ปีก่อนทำให้มีความล้าสมัย โดยจะทำให้คนไทยได้ใช้จักรยานที่มีความปลอดภัยต่อคนใช้ เพราะปัจจุบันมีการนำเข้าจักรยานจากต่างประเทศที่มีราคาถูกแต่ไม่ได้มาตรฐาน ส่งผลให้ผู้ใช้เสี่ยงต่อการได้รับอันตราย ขณะเดียวกันเป็นมาตรฐานในการส่งออกจักรยานไปต่างประเทศด้วย” ศ.กิตติคุณ ดร.ธงชัยกล่าว

นอกจากนี้ จะการดำเนินการในเรื่องอุปกรณ์เพื่อคนพิการในการเคลื่อนที่เพื่อเดินทาง เช่น สัญญาณคนเดินข้ามถนนที่เป็นไฟเขียว-ไฟแดงจะต้องเพิ่มสัญญาณเสี่ยงกระดิ่งให้คนตาบอดใช้งาน หรือลิฟท์เฉพาะสำหรับคนพิการตรงบริเวณบันไดที่ไม่มีบันไดเลื่อน ซึ่งหากมีการดำเนินการทั้งประเทศ ภาคอุตสาหกรรมสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อคนพิการ

 

 

ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข

Shares:
QR Code :
QR Code