ก้าวต่อไป ‘มหาวิทยาลัยสยาม’

ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า


ภาพประกอบจากเว็บไซต์แนวหน้า


ก้าวต่อไป 'มหาวิทยาลัยสยาม' thaihealth


"ถ้าพูดถึงตลาดแรงงาน ผมคิดว่าวันนี้มันคงจะดูลำบาก แต่ถ้าเราทำให้นักศึกษามีความสามารถ ในการพัฒนาตัวเอง ปรับเปลี่ยนได้ และ ที่สำคัญคือมีความเชื่อมั่นในตัวเอง สามารถคิดในสิ่งที่ออกไปจากกรอบเดิมๆ ได้ อันนั้นคือสิ่งที่ผมคิดว่าเป็น สิ่งที่ตลาดแรงงานต้องการในอนาคต"


นี่คือมุมมองของ "ดร.พรชัย มงคลวนิช" อธิการบดีมหาวิทยาลัยสยาม ที่หากนับแต่อดีตเมื่อแรกก่อตั้ง สถาบันในปี 2516 จากเวลานั้นที่มีเพียงคณะวิศวกรรมศาสตร์กับคณะบริหารธุรกิจ ต่อมาได้เพิ่มขึ้นอีก 11 คณะ คือคณะวิทยาศาสตร์ คณะเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเภสัชศาสตร์ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ วิทยาลัยศิลปะการแสดง วิทยาลัยนานาชาติ บัณฑิตวิทยาลัย และล่าสุดคือคณะแพทยศาสตร์ มีนักศึกษารวมกัน ทุกหลักสูตรราว 15,000 คน


ความยิ่งใหญ่ของมหาวิทยาลัยสยามในวันนี้ การจัดการเรียนการสอนรวมถึงการบริหารจัดการตั้งอยู่บน 3 เสาหลัก "เสาแรก : สร้างบัณฑิตให้ตรงกับตลาดแรงงาน" โดยให้ความสำคัญกับ "สหกิจศึกษา" ซึ่ง ดร.พรชัย อธิบายว่า ต่างจากการฝึกงานอันเป็นคำที่คุ้นเคยอยู่พอสมควร กล่าวคือ สหกิจศึกษาไม่ใช่เข้าไปเรียนรู้เพียงให้ทำงานนั้นเป็น แต่ต้องสามารถคิดค้นต่อยอดสร้างนวัตกรรมเพื่อพัฒนางานนั้นให้ดีขึ้นได้ด้วย ผ่านการทำโครงงานและการสอบที่ผู้ให้คะแนนจะมีทั้งผู้รับผิดชอบในสถานประกอบการและอาจารย์ในสถาบันการศึกษาเป็นกรรมการร่วมกัน


"หลังจากไปทำสหกิจศึกษามา ก็จะเป็นตัวชี้วัดการเรียนการสอนของเราว่าจริงๆ มันถูกหรือมันผิด หรือมันมีอะไรต้องเพิ่มเติม ส่วนฝึกงานคือการเข้าไปเรียนรู้ว่าสถานประกอบการเขาทำงานกันอย่างไร แล้วเราก็จะสามารถทำงานอย่างที่สถานประกอบการเขาต้องการได้ แต่ที่ต่างกัน หนึ่งคือความคิดริเริ่ม สองคือต้องเสนอผลงานหลังสิ้นสุดการไปทำสหกิจศึกษา


สหกิจศึกษาเราทำมา 12-13 ปีแล้ว อาจารย์ก็ต้องดูแลนักศึกษาว่าเขาไปทำงานแล้วเข้าใจระบบงานไหม? แต่ทางสถานประกอบการ ก็จะรู้จักมหาวิทยาลัยสยามได้ดีมาก อาจารย์เราก็จะไม่ได้รู้แต่ทฤษฎีในหนังสือ แต่รู้สภาพจริงว่าเขาทำงานกันอย่างไร อาจารย์กับสถาน ประกอบการก็จะต้องร่วมมือกัน ไม่เช่นนั้นสหกิจศึกษาก็จะเกิดขึ้นไม่ได้" อธิการบดีมหาวิทยาลัยสยาม อธิบาย


ดร.พรชัย เปิดเผยว่า สหกิจศึกษา สำหรับมหาวิทยาลัยสยาม ปัจจุบันไม่ได้มีเพียงทำในประเทศเท่านั้น แต่ยังขยายไปในระดับนานาชาติ ซึ่งเข้ากับ "เสาที่สอง : สร้างคนให้เข้าใจความหลากหลายทางวัฒนธรรม" มีทั้งส่งนักศึกษาไทยไปต่างประเทศ โดยมีมหาวิทยาลัยในประเทศนั้นๆ ที่มีข้อตกลงความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยสยามเป็นผู้ดูแล เช่น เคยส่งนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์กับคณะบริหาร ธุรกิจไปไกลถึงแอฟริกาใต้ หรือส่งนักศึกษาคณะนิเทศศาสตร์ไปฟิลิปปินส์


ในทางกลับกัน มหาวิทยาลัยสยามก็รับนักศึกษาจากต่างประเทศเข้ามาร่วมโครงการสหกิจศึกษา ในประเทศไทย และได้รับเสียงตอบรับค่อนข้างดี เช่น มีหนหนึ่งรับนักศึกษาจากประเทศเนปาลเข้ามา ช่วงแรกๆ ทางสถานประกอบการก็ไม่มั่นใจ แต่เมื่อได้เห็นทั้งความตั้งใจทำงานจริงๆ ของนักศึกษาต่างชาติ โดยเฉพาะ จุดเด่นคือทักษะการใช้ภาษาอังกฤษ ระยะหลังๆ ก็มีสถานประกอบการให้ความสนใจมากขึ้น


"ทำไมต้องส่งเด็กไทยไปต่างชาติ? ผมคิดว่าในอนาคตเด็กเราความคิดมันต้องหลากหลาย อย่างต่อไปประเทศไทยก็จะเป็นส่วนหนึ่งของอาเซียน การค้าขายมันต้องเข้าใจบริบทแบบนี้ อย่างไปฟิลิปปินส์ มหาวิทยาลัยที่นั่นก็จะดูแลนักศึกษาของเราว่าไปทำอะไรบ้าง แล้วเขาก็จะช่วยประเมินกลับมา นักศึกษาเราก็จะเข้าใจว่าบริบทของฟิลิปปินส์เป็นอย่างไร หรืออย่างที่แอฟริกาใต้ ผมมองว่าทวีปแอฟริกามีความน่าสนใจ เพราะเป็นทวีปที่ใหญ่มาก มีคนหลาย ร้อยล้านคน มันเป็นโอกาส" ดร.พรชัย กล่าว


นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยสยามยังมี "เสาที่สาม : สร้างสถาบันการศึกษาให้มีประโยชน์กับชุมชน" ด้วยการร่วมพัฒนาเขตภาษีเจริญอันเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยให้เป็น "พื้นที่ สุขภาวะ" (Healthy Space) โดยได้รับ การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งเขตภาษีเจริญนั้นทางกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ยกเป็นพื้นที่ต้นแบบสำหรับให้ผู้สนใจมาศึกษาดูงาน


จากบทบาทและจุดยืนของมหาวิทยาลัยสยาม ดร.พรชัย ยังมองภาพรวมของการศึกษากับการพัฒนา ประเทศไทยโดยรวม ว่า รู้สึก "เสียดาย" ใน 2 ด้าน คือ "แวดวงอุดมศึกษาไทยยังถูกจำกัดโดยกรอบระเบียบ ทำให้ไม่สามารถรับนักศึกษาต่างชาติได้เต็มที่" ทั้งที่หากทำได้จะเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจของชาติอย่างมาก เพราะคนที่ข้ามน้ำข้ามทะเลไปเรียนในประเทศใดก็จะมีแนวโน้มประทับใจ ในประเทศนั้น ในอนาคตก็จะซื้อสินค้ารวมถึงกลับมาท่องเที่ยวประเทศนั้นอีก ดังตัวอย่างคนไทยที่มีโอกาสได้ไปเรียนในยุโรปบ้าง สหรัฐอเมริกาบ้าง ก็รู้สึกแบบนั้นเช่นกัน


ขณะเดียวกัน "สถาบันอุดมศึกษาของไทยเองก็ยังไม่สามารถออกไปเปิดสาขาในต่างแดนได้อย่างเต็มที่ เพราะอาจารย์ไทยอาจยังไม่มีความพร้อมในการสอนเป็นภาษาอังกฤษอย่างเต็มร้อย" ซึ่งหากสถาบันใดทำได้ก็จะไม่ต้องห่วงว่าจะอยู่ไม่รอด เพราะต้องยอมรับความจริงที่ว่าท้ายที่สุดผู้เรียนในประเทศย่อมมีจำกัดตามจำนวนประชากร จึงต้องขยายไปหาผู้เรียนในต่างแดน แต่ก็เชื่อว่าการทำให้คนไทยใช้ภาษาอังกฤษได้ดีนั้นสามารถทำได้


"ผมเคยอ่านเจอ เขาบอกว่าคนไทยที่พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ไม่ใช่เพราะคนไทยกลัวฝรั่ง แต่คนไทยกลัวคนไทยด้วยกันเอง เราพูดผิดฝรั่งเขาไม่ว่า แต่เราจะเจอคนไทยด้วยกันเหน็บแนมให้เราหมดความมั่นใจ ผมคิดว่าถ้าเราแก้เรื่องนี้ได้มันน่าจะทำให้ภาษาอังกฤษของคนไทยดีขึ้น พูดง่ายๆ คือในขณะที่ครูสอนเด็ก ครูกำลังให้ความรู้เด็กแต่ครูก็กำลังเอาความมั่นใจออกจากเด็ก ผมคิดว่าภาษาเป็นเรื่องสำคัญ และ ไม่คิดว่าอาจารย์ไทยจะปรับปรุงไม่ได้ มันปรับปรุงได้ถ้าเรามีวิธีการที่เหมาะสม" อธิการบดีมหาวิทยาลัยสยาม ให้ข้อคิด


ในท้ายที่สุดเมื่อถามว่าอะไรคือสิ่งที่มหาวิทยาลัยสยามจะทำต่อไป? ดร.พรชัย กล่าวว่า 1.เพิ่มอิสระ ในการพัฒนาศักยภาพของแต่ละคนด้วยการเปิดช่องให้นักศึกษาสามารถลงเรียนวิชาเลือกข้ามสาขาได้มากขึ้น เช่น คณะแพทยศาสตร์อาจไปเรียนวิชาเลือกของคณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะบริหารธุรกิจอาจไปเรียนวิชาเลือกของคณะคณะนิติศาสตร์ คณะนิเทศศาสตร์อาจไปเรียนวิชาเลือกของคณะเทคโนโลยีสารสนเทศ ให้ผู้เรียนสามารถนำความรู้หลากหลายแขนงมาประยุกต์เข้าด้วยกัน กับ 2.ปลูกฝังนิสัยหนักเอาเบาสู้ มีความขยันและอดทนในการทำงาน


"เราไม่คิดว่าเราเป็นมหาวิทยาลัย วิทยาศาสตร์หรือมหาวิทยาลัยสังคมศาสตร์ทางใดทางหนึ่ง แต่มหาวิทยาลัยสยามเราสอนให้เด็กคิดนอกกรอบ ทำในกรอบและทำนอกกรอบ และทำงานขยันขันแข็ง อันนี้ คือสิ่งที่เราอยากจะทำ" อธิการบดีมหาวิทยาลัยสยาม กล่าวในท้ายที่สุด


ดร.พรชัย มงคลวนิช เกิดเมื่อวันที่ 25 พ.ย. 2501 สำเร็จการศึกษาหลักสูตร วศ.บ. สาขาวิศวกรรมเครื่องกล จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปี 2524, หลักสูตร MBA สาขา Finance Investment and Banking จาก University of Wisconsin-Madison สหรัฐอเมริกา ปี 2526, หลักสูตร IEM สาขา Higher Education Management จาก Graduate School of Education Harvard University สหรัฐอเมริกา ปี 2543 และปริญญาบัตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (หลักสูตร ปรอ.) ปี 2547


นอกจากนี้ยังได้รับปริญญากิตติมศักดิ์ อาทิ Ed.D. (Educational Management) จาก Angeles Institute of Education ประเทศฟิลิปปินส์ ปี 2547, Doctor of Humanities honoris causa จาก Philippines Women's University ประเทศฟิลิปปินส์ ปี 2549 , Doctor of Education honoris causa จาก Asia e-University ประเทศมาเลเซีย ปี 2554 และ Doctor of Humanities honoris causa จาก Cordilleras University ประเทศฟิลิปปินส์ ปี 2555

Shares:
QR Code :
QR Code