ก้าวต่อไปของการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ที่มา : ไทยโพสต์
ภาพประกอบจาก สสส.
สถานการณ์การดื่มสุราในประเทศไทย โดยการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่และดื่มสุราของประชากร 2560 จากสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า จากจำนวนประชากร 15 ปีขึ้นไปทั้งสิ้น 55.9 ล้านคน เป็นผู้ดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ประมาณ 15.9 ล้านคน หรือร้อยละ 28.4 ซึ่งผลกระทบที่เกิดขึ้นนอกจากด้านสุขภาพแล้ว ยังนำไปสู่ผลกระทบด้านความรุนแรง อาชญากรรม อุบัติเหตุและสภาพแวดล้อมที่มีการคุกคามทางร่างกายและจิตใจอีกด้วย
เพื่อสร้างและเผยแพร่องค์ความรู้ นำไปสู่เวที การแสวงหานโยบาย มาตรการกฎหมาย และกลไกการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีประสิทธิ ภาพ ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) หน่วยระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดประชุมวิชาการสุราระดับชาติ ครั้งที่ 10 สะท้อนให้เห็นถึงผลที่เกิดขึ้นในระยะสิบปีหลังการประกาศใช้พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551
โดยการควบคุมแอลกอฮอล์ จำเป็นต้องเกิดความร่วมมือของทุกฝ่ายในการเผยแพร่องค์ความรู้และร่วมผลักดันให้เป็นที่ประจักษ์
นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ประธานกรรมการบริหารแผนคณะที่ 1 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ กล่าวถึงความร่วมมือในการขับเคลื่อนพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ว่า แรงจูงใจที่ดีที่สุดในการที่จะชวนทุกคนมาขับเคลื่อนเรื่องนี้คือ เราไม่ได้มีชีวิตอยู่เพื่อตัวเราเอง แต่เราต้องการเห็นลูกหลานของเราปลอดภัย ถ้าไม่ได้เริ่มทำวันนี้ลูกหลานก็จะไม่ปลอดภัย และขอให้มั่นใจว่าเราจะสามารถปกป้องเด็กและเยาวชนให้ปลอดภัยจากปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งแต่ละคนมีพรสวรรค์ในการให้ที่แตกต่างกัน ลองสำรวจดูตัวเองว่ามีความถนัดในส่วนไหน ซึ่งความสามารถในส่วนนี้จะช่วยกันขับเคลื่อนและผลักดันได้ ทั้งยังร่วมกันแสดงความคิดเห็นเพื่อเป็นแนวทางเสนอไปยังฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง นำไปสู่การเสนอนโยบายต่อรัฐบาลต่อไป
สำหรับพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 ประกอบด้วย 7 หมวด ว่าด้วยเรื่องของการควบคุมควบคุมเครื่องดื่มแอลกอ ฮอล์ โดยหมวดที่ 1-3 ว่าด้วยเรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระดับชาติ หมวดที่ 4 เป็นมาตรการควบคุมทั้งการจัดจำหน่าย สถานที่ เวลา และบุคคล หมวดที่ 5 เป็นเรื่องของการบำบัดรักษา หมวดที่ 6 การแต่งตั้งพนักงานและเจ้าหน้าที่ และหมวดที่ 7 เป็นบทลงโทษ
สถานการณ์การควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา มีข้อจำกัดในการควบคุม การบังคับใช้กฎหมายยังไม่เข้มแข็ง รวมถึงคดีความและใบอนุญาตจำหน่ายไม่ชัดเจน โดย ศ.ดร.พญ. สาวิตรี อัษณางค์กรชัย ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กล่าวว่า ด้านการรับรู้กฎหมายของประชาชน 92% รู้ว่ามีกฎหมายที่ห้ามจำหน่ายสุราในสถานที่ต่างๆ และ 70-90% เห็นด้วยว่าสุราเป็นปัญหาสำคัญของสังคมไทย รวมถึงนำไปสู่ปัญหาอื่นๆ แต่ใน แง่ของการสนับสนุน ได้มีการขับเคลื่อนต่อเนื่องทำให้เกิดการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นอกจาก พ.ร.บ.แล้วยังมียุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติ ใช้เป็นแผนการดำเนินงานช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยการควบคุมราคาและการเข้าถึง ปรับเปลี่ยนทัศนคติ ลดอันตรายจากการดื่ม และการจัดการปัญหาแอลกอฮอล์ในทุกพื้นที่
ด้าน นพ.นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวว่า บทบาทของภาครัฐในการผลักดันและขับเคลื่อนประเด็นการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คือ การพัฒนานโยบาย แผนงาน มาตรการ หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขเพื่อการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เฝ้าระวังและบังคับใช้กฎหมาย รวมถึงประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อที่จะนำไปสู่ผลกระทบต่อสังคมน้อยที่สุด
"เชื่อว่าภาครัฐเป็นส่วนหนึ่งในกลไกขับเคลื่อนก้าวต่อไปของการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คือ เพิ่มความเข้มแข็งและบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด ใช้กลไกคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จังหวัดดำเนินการในระดับพื้นที่ และมีมาตรการชุมชน ประเพณีปลอดเหล้า โดยเน้นการปรับเปลี่ยนทัศนคติ" นพ.นิพนธ์กล่าว
ด้าน ภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า กล่าวถึงบทบาทของภาคประชาชนในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ว่า บทบาทของภาคประชาชนคือ เป็น 1 ใน 3 ของไตรพลัง รณรงค์ให้คน ลด ละ เลิกสุรา กระตุ้นให้เกิดสิ่งแวดล้อมที่เหมาะกับการไม่ดื่ม รวมไปถึงสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ทั้งนี้การทำงานควบคุมเรื่องดังกล่าวต้องเริ่มจากการเอาพื้นที่เป็นตัวตั้งและทำงานเชื่อมประสานกับหน่วยงานอื่นๆ นับว่าภาคประชาชนเป็นตัวสำคัญในการผลักดันกฎหมาย ทั้งนี้โจทย์ใหญ่ในเรื่องของการสกัดกั้นและลดจำนวนนักดื่มหน้าใหม่ยังมีไม่มากพอ ซึ่งกฎหมายก็จะเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าภาคประชาชนและสังคมไม่ร่วมมือกัน
ในการรณรงค์ครั้งนี้ยังมีการประกาศเจตนา รมณ์ต่อการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 5 ประการ ได้แก่ รณรงค์ให้งดการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในงานรื่นเริงของหน่วยงานราชการ สร้างเสริมความรู้เท่าทันกลยุทธ์ทางการตลาดและการโฆษณาของอุตสาหกรรมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สนับสนุนให้มีมาตรการทางกฎหมาย ห้ามมิให้สินค้าประเภทอื่นใช้ตราสินค้าที่เหมือนหรือคล้ายคลึงกับตราสินค้าของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผลักดันให้มีมาตรการห้ามขายและห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รอบสถานศึกษา และจำกัดการออกใบอนุญาตจำหน่ายสุรา
อย่างไรก็ตาม 10 ปีหลังจาก พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บังคับใช้ พบว่า จุดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลง และเข้าถึงยากมากขึ้น ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี และเป็นกำลังใจให้คนทำงานได้มีพลังรณรงค์และขับเคลื่อนต่อไป