กินอาหารไม่ปลอดภัย-ดื่มแอลกอฮอล์-สูบบุหรี่-ไม่ออกกำลังกาย เสี่ยง NCDs
ที่มา : เดลินิวส์
ภาพโดย สสส. และแฟ้มภาพ
ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs อาทิ ความดัน หัวใจ เบาหวาน มะเร็ง โรคไต ถึงร้อยละ 75 หรือประมาณ 320,000 คนต่อปี เฉลี่ยชั่วโมงละ 37 คน
ซึ่งประเทศไทยต้องรับภาระค่ารักษาพยาบาลมากกว่า 25,000 ล้านบาทต่อปี ขณะที่ทั้งโลกมีคนเสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตมากกว่า 36 ล้านคนทั่วโลกในแต่ละปี หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 63 ของสาเหตุการตาย
สาเหตุของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังมาจาก พฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่ปลอดภัย ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ และขาดการออกกำลังกาย
"ทศวรรษหลังประชาชนต้องเผชิญกับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อาทิ หัวใจ มะเร็ง อุบัติเหตุ เบาหวาน โรคเหล่านี้ไม่ได้มาจากเชื้อโรค ดังนั้นปัจจัยสังคมกำหนดสุขภาพทวีความสำคัญขึ้นเรื่อย ๆ การให้การรักษาทางการแพทย์ของระบบสาธารณสุขในปัจจุบันใช้เงินงบประมาณจากภาครัฐถึง 90 เปอร์เซ็นต์ ใน 10 เปอร์เซ็นต์ ที่เหลือคือการทำงานป้องกันโรค อย่างไรก็ตามงบประมาณของ สสส. ที่ได้มาจากภาษีเหล้าบุหรี่ที่ได้มา 0.7% นั้นมองไปที่การทำงานต้นน้ำ หรือต้นเหตุของการไม่เกิดโรคติดต่อเรื้อรังต่าง ๆ โดยทำเรื่องการสื่อสาร ขณะเดียวกันต้องไปปรับระบบบริการสุขภาพ ไม่ใช่แค่รอรับคนเจ็บป่วย แต่ทำงานในเชิงรุกเพื่อไปลดปัญหาให้ทุก ๆ คน" นพ.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวในเวทีประชุมวิชาการและแลกเปลี่ยนเรียนรู้เสียงที่คนอื่นไม่ได้ยิน : ประชากรกลุ่มเฉพาะ " Voice of the voiceless: the vulnerable populations เมื่อเร็ว ๆ นี้
หน่วยงานของ สสส. ได้มีบทบาทหนึ่งในการสื่อสร้างความรู้ความเข้าใจของคนไทย เพื่อให้ลดเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง