กำจัดจุดอ่อนเหล่านี้!! ก่อนตกหลุมพรางข่าวปลอม

ที่มา : คู่มือรู้ทันข่าว News Literacy

 


กำจัดจุดอ่อนเหล่านี้!! ก่อนตกหลุมพรางข่าวปลอม thaihealth


แฟ้มภาพ


มีเหตุผลมากมายที่ทำให้คนส่วนใหญ่ยังหลงเชื่อใน ‘ข่าวปลอม’ ต่างๆ ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของข่าวปลอมอีก ลองมาดูกันดีกว่าว่า จุดอ่อนที่อาจทำให้เราหลงเชื่ออยู่ตรงไหน? จะช่วยให้เราระมัดระวังกันมากขึ้น


1. ตกหลุมพราง : ผู้อ่านมีแนวโน้มที่จะแชร์ข่าวปลอมที่ตรงกับความคิดความเชื่อของตนเองอยู่แล้ว คนสร้างข่าวปลอมจึงสร้างข่าวปลอมที่เร้าอารมณ์ดึงความสนใจกลุ่มเป้าหมาย เพื่อให้เกิดความรู้สึกร่วม โดยเฉพาะเมื่อเป็นข่าวที่ตรงข้ามกับขั้วตรงข้ามของตน พวกเขารู้สึกว่าต้องมีปฏิกิริยาตอบกลับอย่างใดอย่างหนึ่งต่อประเด็นเนื้อหาที่ข่าวนำเสนอ ด้วยการกดชอบ/ไม่ชอบ ส่งต่อ แชร์ หรือแสดงความเห็นต่อข่าวนั้น ทำให้ข่าวปลอมได้รับความสนใจมากขึ้น


2.ไม่แยกแยะข่าวบนหน้าเว็บ : ในปัจจุบันที่ผู้อ่านข่าวส่วนใหญ่รับข้อมูลข่าวสารผ่านสื่อออนไลน์ ซึ่งเป็นสื่อที่ข่าวปลอมถูกทำให้กลมกลืนกับข่าวจริง ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการจัดหน้า หรือการแอบอ้างเป็นแหล่งข่าว จึงทำให้ผู้อ่านสับสนและยากที่จะแยกแยะข่าวปลอม


3. เป็นข่าวที่เพื่อน ครอบครัว หรือคนที่ชื่นชอบแชร์ต่อกันมา : เมื่อมีเพื่อนหรือคนในครอบครัวส่งต่อข่าวมาให้อ่านผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ ผู้อ่านมักจะไม่ตระหนักหรือใช้วิจารณญาณในการตรวจสอบข่าวนั้นๆ ก่อน เพราะคิดว่าผู้ส่งคงกลั่นกรองมาเรียบร้อยแล้ว ในกรณีข่าวที่เขียนโดยคอลัมนิสต์จากสำนักข่าว บล็อกเกอร์ หรือผู้ดูแลแฟนเพจรายงานข่าวในเฟซบุ๊กก็เช่นเดียวกัน หากเป็นบุคคลที่ผู้อ่านข่าวชื่นชมและติดตาม พวกเขาก็จะพร้อมที่จะเชื่อข่าวที่นำเสนอมาได้อย่างง่ายดาย


4.โดนเล่นกับความรู้สึก : ผู้สร้างข่าวปลอมฉลาดที่จะเล่นกับความรู้สึกของผู้อ่าน ด้วยการเน้น พาดหัวที่หวือหวา เนื้อข่าวที่เร้าอารมณ์ เช่น ความไม่ยุติธรรมในสังคม การเอาเปรียบทางชนชั้น ข่าวลับลวงพราง พวกเขารู้ว่าคนอ่านจะถูกกระตุ้นอารมณ์ให้มีปฏิกิริยาต่อข่าวนั้นๆ เช่นการกดเข้าไป อ่าน กดไลก์ แสดงความเห็นและช่วยแชร์ข่าวออกไป


5.มีช่วงความสนใจสั้น :  เนื่องจากข้อมูลข่าวสารที่เราได้รับในแต่ละวัน มีจำนวนมหาศาล ผู้คนจึงมักใช้เวลาอ่านเพียงพาดหัวข่าวหรือข้อความในย่อหน้าแรกก่อนแชร์เรื่องราวนั้นต่อ ผู้ประสงค์ร้ายจึงฉวยโอกาสนี้ด้วยการเขียนพาดหัวข่าวและย่อหน้าแรกที่ตรงไปตรงมาและประกอบด้วยข้อเท็จจริง โดยเรื่องราวส่วนที่เหลือเป็นข่าวปลอมและข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง

Shares:
QR Code :
QR Code

ใส่ความเห็น

ระบุข้อความ