การสร้างปัญญาแก่ประชาชน คือ การสร้างชาติ

หนึ่งตำบล หนึ่งศูนย์เรียนรู้ สู่ชุมชน รากหญ้า

         

การสร้างปัญญาแก่ประชาชน คือ การสร้างชาติ            ในระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมารัฐได้ทุ่มเทงบประมาณลงไปสู่ชุมชน “รากหญ้า” จำนวนมหาศาล แม้อาจจะเกิดผลดีทางเศรษฐกิจและการเมือง ประชาชนมีโอกาสเข้าถึงงบประมาณมากยิ่งขึ้น แต่ยังมีมิติการพัฒนาปัญญาที่ขาดหายไป ซึ่งรัฐควรลงทุนเสริมหรือเพิ่มเติม

 

            แม้ว่าการดำเนินนโยบายและมาตรการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของรัฐในระยะ 6 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2544 – 254๙ มีส่วนทำให้ภาวะอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันในสังคมไทยมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่ยังอยู่ในระดับที่ไม่น่าพอใจ (ค่าดัชนีร้อยละ 64.02 ในปี 254๙) ซึ่งข้อมูลชี้ว่าคนไทยมีการพัฒนาสุขภาพกาย สุขภาพจิต และความสามารถในการเรียนรู้ที่ “คิดเป็นทำเป็น” ดีขึ้นเป็นลำดับ ในขณะที่จิตสำนึกในคุณธรรม จริยธรรมกลับเสื่อมถอยลง และขณะเดียวกันคุณภาพการศึกษา หรือการเรียนรู้ที่มีคุณภาพยังอยู่ในระดับต่ำ (ข้อมูลรายงานสถานการณ์ความอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันในสังคมไทย สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 2550)

 

            หากมองสังคมไทยปัจจุบันโดยรวมพบว่ากลุ่มที่มีแนวโน้มปัญหาสุขภาวะที่รุนแรงขึ้นคือกลุ่มเยาวชน โดยเฉพาะจากพฤติกรรมเสี่ยงจากการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอุบัติเหตุ เพศสัมพันธ์ การเสพติด ทั้งเหล้า บุหรี่ และยาเสพติด ที่กลุ่มผู้เสพมีอายุน้อยลงเรื่อยๆ รวมถึงพฤติกรรมความเสี่ยงที่เกิดจากการเสพสื่อที่ไม่เหมาะสม ในขณะที่คุณภาพการศึกษาหรือการเรียนรู้ที่มีคุณภาพอยู่ในระดับต่ำ แม้การศึกษาโดยเฉลี่ยสูงขึ้นเป็น 8.5 ต่อปี แต่ยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียที่มีค่าเฉลี่ยประมาณ 10-12 ปี ผู้เรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานส่วนใหญ่มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนตามหลักสูตรต่ำ

 

            ความสามารถในการอ่านอยู่ในระดับต่ำกว่าพื้นฐานร้อยละ 43 (ข้อมูล PISA ปี 2003) ขาดทักษะในการแสวงหาความรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง และเยาวชนจำนวนมากยังขาดโอกาสศึกษาอย่างมีคุณภาพ ประกอบกับระบบการศึกษายังขาดความสัมพันธ์ขององค์ประกอบต่างๆ เช่น หลักสูตร การเรียนการสอน การวัดและประเมินผู้เรียน การพัฒนาครู การเพิ่มวิทยฐานะครู ทำให้ไม่สามารถขับเคลื่อนคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง ด้านครอบครัว สมาชิกในครอบครัวขาดความตระหนักในบทบาทหน้าที่ในการอบรมเลี้ยงดูเด็กและเยาวชนให้เป็นคนดี มีคุณภาพ ขาดการดูแลผู้สูงอายุในครอบครัว รวมถึงปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัวถดถอยลง

 

            ข้อมูลข้างต้นบ่งชี้ว่า การพัฒนาปัญญาแก่เด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นปัจจุบันและอนาคตของชาติโดยอาศัยเพียงการเรียนรู้ในโรงเรียน (ในระบบ) ยังคงมีข้อจำกัดมากมาย อีกทั้งเป็นการเรียนรู้ที่เน้นรู้ “วิชา” มิใช่เกิด “ปัญญา” จึงจำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ใหม่ที่จะเร่งสร้างปัญญาแก่เด็ก เยาวชน และประชาชน โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมสร้างกลไกขับเคลื่อนการปฏิรูปการเรียนรู้ เป็นเรื่องที่ควรได้รับการสนับสนุนอย่างยิ่ง

 

            หนึ่งตำบล หนึ่งศูนย์เรียนรู้ : ยุทธศาสตร์การพัฒนาปัญญาเชิงพื้นที่

 

            การเรียนรู้ต้องเข้าไปเชื่อมกับฐานชุมชนให้มากที่สุด เนื่องจากชุมชนเป็นหน่วยพื้นฐานที่มีระบบความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน ทั้งเรื่องความรู้ การเรียนรู้ คุณธรรม ครอบครัว สังคม เศรษฐกิจ วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม สุขภาพ และประชาธิปไตย ชุมชนที่เข้มแข็งจะทำหน้าที่ในการคัดกรอง ปกป้องดูแลเด็กและเยาวชน ครอบครัว และคนในชุมชน ดังนั้น การเรียนรู้เพื่อพัฒนาปัญญาของคนจึงขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคนในชุมชน เลือกทิศทางนวัตกรรมการเรียนรู้ที่จะต้องสอดคล้องกับบริบทและความต้องการของชุมชนและสังคมที่เป็นอยู่ จึงจะเป็นรากฐานสำคัญในการป้องกันปัญหาพื้นฐานสังคมได้ทุกรูปแบบ

 

            รัฐบาลควรทำอะไร?

 

            1.รัฐบาลโดยรวม (มิใช่กระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง) ประกาศนโยบายสนับสนุนให้ทุกจังหวัดมียุทธศาสตร์การพัฒนากลไกเชิงพื้นที่สำหรับเด็ก เยาวชน และครอบครัว อย่างเป็นรูปธรรม โดยสนับสนุนส่งเสริมให้ทุกตำบลมีศูนย์การเรียนรู้ระดับตำบล (ห้องสมุด ศูนย์ศิลปะ ศูนย์กีฬา พิพิธภัณฑ์ สวนพฤกษศาสตร์ ศูนย์เรียนรู้พิเศษ เป็นต้น) ทั้งนี้โดยปรัชญาให้เยาวชนมีโอกาสเรียนรู้จากภูมิปัญญา และบุคลากรของสถาบันในท้องถิ่น ผ่านศูนย์การเรียนรู้ดังกล่าว โดยรัฐลงทุนในกิจกรรมเรียนรู้ (มิใช่จัดงบประมาณเพื่อก่อสร้าง/วัตถุเป็นหลัก) เช่น สนับสนุนการตั้งกลุ่ม/ชมรมรักการอ่านระดับหมู่บ้านก่อน แล้วค่อยพัฒนากิจกรรมและขยายพื้นที่ รวมถึงปรับเป็นรูปแบบกิจกรรมให้หลากหลายมากขึ้น ตามความสนใจของคนในชุมชน

 

            2.ระดมทรัพยากรจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีการจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนกิจกรรมการเรียนรู้ของชุมชน อาจมีมาตรการลดหย่อนภาษีแก่ผู้บริจาคสมทบ ทั้งนี้รัฐบาลส่วนกลางจัดงบประมาณสมสบให้ส่วนหนึ่ง

 

            3.จัดงบประมาณดำเนินงานเป็นขั้นตอน โดยเน้นพัฒนาคุณภาพก่อนแล้วจึงขยายจำนวนให้ครอบคลุมทั้งประเทศ โดยอาจเป็นปีที่ 1 ประมาณ 800 ล้านบาท (ร้อยละ 10 ของพื้นที่) ปีที่ 2 ประมาณ 2, 500 ล้านบาท ปีที่ 3 ประมาณ 5,000 ล้านบาท และเมื่อขยายเต็มพื้นที่จะใช้งบประมาณราวปีละ 8,000 ล้านบาท

 

            นโยบายลงทุนเพื่อสร้างปัญญาแก่ประชาชนในระดับชุมชนทั่วประเทศ แตกต่างจากการทุ่มเทงบประมาณลงไปสู่รากหญ้าเพียงเพื่อผลทางเศรษฐกิจซึ่งขาดหลักประกันว่าจะนำไปสู่การลงทุนและพัฒนาที่ยั่งยืน

 

             สสส. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ www.thaihealth.or.th สอบถาม 0-22980500 ต่อ 1222

 

 

 

 

 

 

เรื่องโดย :         นางเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์

                        ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการสร้างการเรียนรู้และสุขภาวะองค์กร

                        สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ที่มา       :          หนังสือพิมพ์มติชน

 

 

Update 25-07-51

Shares:
QR Code :
QR Code