การละเล่นไทยช่วยเพิ่มกิจกรรมทางกายเด็กยุค4.0
ที่มา : ไทยโพสต์
ภาพประกอบจาก สสส.
การละเล่นของเด็กในยุคสมัยที่ยังไม่มีสมาร์ทโฟนหรือเกมส์ออนไลน์บนมือถือ มีวิธีการเล่นที่สนุกสนาน เล่นกันเป็นกลุ่ม กระตุ้นให้เด็กเกิดไหวพริบในการแก้ปัญหา ฝึกน้ำใจเป็นนักกีฬา ที่สำคัญปลูกฝังความรักความสามัคคีในหมู่เด็กเยาวชน ปฏิเสธไม่ได้ว่าการละเล่นไทยเป็นอีกปัจจัยสำคัญช่วยหนุนพัฒนาการเรียนรู้ด้านต่างๆ ของเด็กไทย เพราะมีกิจกรรมทางกายที่เหมาะสมและเพียงพอ แต่ทุกวันนี้การละเล่นไทยหาดูได้ไม่บ่อยนัก เด็กรุ่นใหม่ไม่ค่อยรู้จักคุ้นเคย
การสร้างทางเลือกในการส่งเสริมการเคลื่อน ไหวและการมีกิจกรรมทางกาย เด็กไทยมีความสำคัญ จากผลสำรวจพบว่า เด็กไทยมีพฤติกรรมเนือยนิ่งที่ไม่ รวมเวลานอนหลับมากกว่า 13 ชั่วโมงต่อวัน พฤติ กรรมดังกล่าวส่งผลไปยังพัฒนาการทางด้านสมองและการเรียนรู้ด้านอื่นๆ เหตุนี้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล และสมาคมกีฬาแห่งประเทศญี่ปุ่น จัดทำข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการเพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางกายเด็กและเยาวชนในโรงเรียนที่สนใจเข้าร่วมกิจกรรม เพื่อบูรณาการและต่อยอดแนวคิดการเล่นเพื่อส่งเสริมพัฒนาการ (Active Child Program : ACP) จากประเทศญี่ปุ่นเข้ากับการละเล่นดั้งเดิมของไทย
การประยุกต์กิจกรรมการละเล่นของไทยรวมถึงการละเล่นของญี่ปุ่นในโครงการ THAI-ACP ในภาคการศึกษานี้จะเริ่มดำเนินการ 10 โรงเรียนนำร่องในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยประเทศญี่ปุ่นมองว่า เด็กเป็นทรัพยากรที่สำคัญ ได้หารือร่วมกับประเทศไทยซึ่งให้ความสำคัญกับเด็กเช่นกัน
นายชิฮารุ อิบาชิ ผู้จัดการทั่วไปสำนักส่งเสริมการกีฬา สมาคมกีฬาแห่งประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า กิจกรรม ACP ในญี่ปุ่นเริ่มต้นจากการจัดให้มีการทดสอบสมรรถภาพ ตั้งแต่ปี ค.ศ.1985 เป็นต้นมา โดยพบว่า สมรรถภาพทางร่างกายเด็กมีแนวโน้มถดถอยจึงได้คิดค้นโปรแกรม ACP นำไปใช้กับสโมสรกีฬา หลังจากนั้นได้กำหนดตัวชี้วัดในเด็กปฐมวัยมาจากแนวคิดที่จะให้เด็กออกกำลังกาย เมื่อดำเนินกิจกรรมพบว่า เด็กออกกำลังกายเพิ่มมากขึ้น สนุก และช่วยลดความเครียด
ปัญหาวิกฤติโรคภัยที่เปลี่ยนจากการติดเชื้อ มาเป็นโรคจากพฤติกรรมสุขภาพ อย่างโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ตัวแปรสำคัญเป็นการออกกำลังกายที่ไม่เพียงพอ ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า สสส.พยายามพัฒนาศักยภาพเด็ก หนึ่งในยุทธศาสตร์คือการพัฒนาคนให้มีศักยภาพ ควบคุมพฤติกรรมและออกแบบชีวิตตัวเองได้ เด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้าต้องอาศัยการสร้างชุดความรู้จากพ่อแม่ ครู และสื่อ กิจกรรมครั้งนี้เน้นการนันทนาการ ถือเป็นปัจจัยสำคัญและมีผลกระทบต่อสมอง ทั้งนี้ผลวิจัยระบุว่า การเล่นทำให้พัฒนาการและสมองดีขึ้น ถ้าเล่น เรียน และอ่านหนังสือไปด้วยจะทำให้มีศักยภาพที่ดีขึ้น ความร่วมมือกับญี่ปุ่นอยากให้เด็กมีพฤติกรรมและการเรียนรู้ที่ดี เป็นโอกาสนำหลักการของญี่ปุ่นบูรณาการร่วมกับการละเล่นไทย
"เด็กมีพฤติกรรมเนือยนิ่งมากและติดหน้าจอ มีการเล่นน้อย จะส่งผลต่อสุขภาพและการเรียนรู้ ญี่ปุ่นมีองค์ความรู้ มีรูปแบบที่เคยประสบความสำเร็จ เช่นเดียวกับไทยพยายามขับเคลื่อนเรื่องนี้อยู่ และครูเริ่มตระหนักว่ากำลังเผชิญปัญหานี้เช่นกันจึงนำโครงการของญี่ปุ่นมาประยุกต์กับไทยผ่านการเชื่อมโยงการละเล่นไทย จัดอบรมครูที่สนใจเข้าร่วมโครงการเพื่อนำการเปลี่ยนแปลงไปสู่โรงเรียน เราคาดหวังว่าความร่วมมือครั้งนี้จะขยายให้ครอบคลุมทั้งประเทศ และส่งต่อไปเป็นตัวอย่างให้ประเทศข้างเคียง ซึ่งมีสังคมวัฒนธรรมที่คล้ายกันได้ นำไปปรับใช้" ดร.นพ.ไพโรจน์กล่าว
ด้าน รศ.ดร.รศรินทร์ เกรย์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้มหาวิทยาลัยมหิดลสนับสนุนข้อมูลทางด้านวิชาการและองค์ความรู้ในเรื่องพฤติ กรรมเนือยนิ่ง และผลจากการที่เด็กมีกิจกรรมทางกายที่เหมาะสมและเพียงพอ นอกจากนี้ยังต้องพิสูจน์ให้ได้ว่า กิจกรรมดังกล่าวลดการเนือยนิ่งของเด็กได้จริง ซึ่งจะส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กและเยาวชนทุกด้าน การนำการละเล่นของไทยมาประยุกต์จะช่วยฟื้นฟูวัฒนธรรมการเล่นและทำให้เด็กแข็งแรง อนาคตโครงการนี้จะเป็นประโยชน์กับประเทศไทยและประเทศข้างเคียง
เช่นเดียวกับ นายปัญญา ชูเลิศ หัวหน้าโครง การวิจัยเพื่อพัฒนาต้นแบบส่งเสริมการเล่นในบริบทไทยเพื่อสร้างทักษะสำหรับเด็กและเยาวชน หรือ THAI-ACP กล่าวถึงการนำการละเล่นไทยมาบูรณาการในโรงเรียนว่า มีการส่งเสริมการเล่นในโรงเรียนอยู่แล้วแต่มีลักษณะเป็นทางการ 2 แบบ คือ การเรียนการสอนในชั่วโมงพลศึกษา และการเล่นกีฬา แต่กิจกรรมนี้เน้นการเล่น ไม่จำเป็นต้องจัดในรูปแบบกีฬา แต่ทำอย่างไรให้เด็กได้วิ่งเล่นเคลื่อนไหวร่างกาย และโรงเรียนจัดเวลาให้เด็กมีโอกาสได้เล่นมากขึ้น ก่อนเรียน พักกลางวัน และหลังเลิกเรียน
"การเล่นแบบไทยๆ ที่ทำให้เด็กมีพัฒนาการและกิจกรรมทางกายมีหลากหลาย เช่น งูกินหาง กาฟักไข่ ไล่แปะแข็ง เน้นให้เด็กสามารถไปเล่นต่อที่บ้านได้ และไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ เพียงแค่รวมกลุ่มกันก็เล่นได้แล้ว โดยเริ่มแรกครูผู้สอนได้นำกิจกรรมการละเล่นไทย จากนั้นจึงให้เด็กผลัดมาเป็นผู้นำและชวนเพื่อนเล่นด้วยตนเอง" นายปัญญากล่าว
การเล่นทำให้เด็กได้เรียนรู้และมีสังคมมากขึ้น โครงการ THAI-ACP ยังได้สอดแทรกการละเล่นแบบไทย นับเป็นการอนุรักษ์และเรียนรู้การละเล่นที่สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น และยังบูรณาการให้พวกเขามีกิจกรรมทางกายที่เพียงพอ 60 นาทีต่อวันอีกด้วย