การกำจัดสิ่งปฏิกูลยามน้ำท่วม

ถ่ายใส่ถุงดำ-ปิดปากถุงให้แน่น

 

การกำจัดสิ่งปฏิกูลยามน้ำท่วม

         

          ช่วงนี้เห็นจะเป็นวิกฤติการเป็นอยู่ของบ้านเราไม่น้อย เพราะหลายพื้นที่โดยเฉพาะภาคอีสานประสบภัยน้ำท่วมชนิดที่เรียกว่า อ่วมพอควร หลายบ้าน หลายครัวเรือน ที่จมอยู่ใต้น้ำ บางแห่งการช่วยเหลือก็ยังเข้าไม่ถึง อาหารการกิน หยูกยาที่จำเป็นก็ร่อยหรอลงไป แต่สิ่งหนึ่งที่เรายังมองเห็นก็คือน้ำใจของคนไทยด้วยกัน ที่ร่วมออกมาบริจาค บ้างก็บริจาคเงิน บ้างก็บริจาคข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นตามแต่สะดวก แต่นั่นคือเรื่องที่เราพอนึกๆ กันได้ก็รีบช่วยกันก่อน แต่อย่าลืมว่าเรื่องของสิ่งปฏิกูลที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นขยะเปียก ขยะแห้ง สิ่งปฏิกูลการขับถ่ายต่างๆ ก็จำเป็นไม่น้อยที่ต้องรับรู้ไว้เพื่อการดูแลที่ถูกวิธี

 

          อย่างห้องน้ำที่จะใช้ขณะน้ำท่วม เช่น ห้องน้ำบนชั้นบนของบ้านเพราะห้องน้ำชั้นล่างจะใช้ไม่ได้
ก็ควรป้องกันการไหลย้อนกลับออกมาทางห้องส้วมชั้นล่างด้วยการอุดโถส้วมชั้นล่างด้วยผ้าผืนโต พอที่จะไม่หลุดลงไปในท่อและทับไว้ด้วยของหนักๆ


          นพ.ประดิษฐ์ วินิจจะกูล รองอธิบดีกรมอนามัย ได้ให้สัมภาษณ์เรื่องการจัดการสิ่งปฏิกูลในบ้านช่วงน้ำท่วมเอาไว้ว่า ในกรณีที่ไม่สามารถใช้ห้องส้วมได้ ขอให้ประชาชนขับถ่ายอุจจาระในถุง ถ้ามีปูนขาวหรือน้ำยาฆ่าเชื้อให้ใส่ลงในถุงอุจจาระก่อน แล้วปิดปากถุงให้แน่น หรือถ้าไม่มีปูนขาวหรือน้ำยาฆ่าเชื้อ หลังถ่ายอุจจาระเสร็จให้รัดปากถุงให้แน่น แล้วรวบรวมส่งให้ทางการนำไปกำจัดต่อไป สำหรับขยะภายในบ้านก็ให้เก็บรวบรวมใส่ถุงแล้วผูกปากถุงให้แน่น แล้วรวบรวมส่งให้ทางการนำไปกำจัดต่อไปเช่นกัน ซึ่งประชาชนทุกคนต้องให้ความร่วมมือไม่ถ่ายอุจจาระและทิ้งขยะลงไปในน้ำ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการระบาดของโรคอุจจาระร่วง

 

          นี่เป็นเรื่องหลักของการกำจัดสิ่งปฏิกูลที่บางพื้นที่ก็คงทำได้ ไม่ยากเย็นอะไร แต่ในบางพื้นที่ก็น่าเห็นใจที่อาจจะยากหน่อยต่อการปฏิบัติ…

 

          นอกจากนี้เรื่องอาหารที่ได้รับมาจากการบริจาคต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอาหารแห้ง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และอาหารกระป๋อง เช่น ปลากระป๋อง ผักกาดดองกระป๋อง ที่สำคัญควรดูวันหมดอายุ สภาพ สี กลิ่น และภาชนะบรรจุของน้ำดื่มและอาหารนั้น ๆ ก่อนบริโภคให้ดี ถ้าสามารถปรุงอาหารให้สุกก่อนรับประทานได้ก็จะเป็นการดี

 

          สำหรับน้ำดื่ม หากเป็นน้ำดื่มบรรจุขวดที่สะอาดปราศจากเชื้อโรคก็คงไม่มีปัญหา เพราะสามารถบริโภคได้ตามปกติ แต่ก็อยากจะแนะนำวิธีการทำน้ำให้สะอาดที่สะดวกและประหยัด คือการต้มน้ำให้เดือด ซึ่งน้ำที่ต้มแล้วเหมาะแก่การดื่มเพราะผ่านการฆ่าเชื้อโรคด้วยความร้อนแล้ว หรืออีกวิธีคือการตกตะกอน เป็นวิธีการทำน้ำให้สะอาด โดยการใช้สารส้มแกว่งในน้ำจะทำให้สิ่งที่เจือปนอยู่ในน้ำตกตะกอนสามารถนำไปใช้อาบและซักผ้า แต่ไม่เหมาะที่จะนำมาดื่ม เพราะยังไม่ผ่านการฆ่าเชื้อโรค

 

          สุดท้ายนี้ก็คงต้องขอร่วมเป็นอีกหนึ่งกำลังแรงใจส่งไปยังผู้ประสบภัยทุกคน ขอให้มีความหวังและลุกขึ้นสู้กับปัญหาต่อไป

           

 

 

 

 

 

ที่มา : สุนันทา สุขสุมิตร Teamcontent www.thaihealth.or.th

 

 

 

 

Update : 21-10-53

อัพเดทเนื้อหาโดย : สุนันทา สุขสุมิตร

Shares:
QR Code :
QR Code