‘กรีนออฟฟิศ’ ดีต่อกายและใจ
ที่มา : MGR Online
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
ความสำเร็จขององค์กรยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่าง กูเกิล ยูทูบ เฟซบุ๊ก หรือเลโก้ มาจากการมีไอเดียสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ สม่ำเสมอ ซึ่งการจัดสิ่งแวดล้อมในที่ทำงานให้หลีกหนีจากความเครียด การนั่งอุดอู้คิดงานอยู่แต่ในห้องสี่เหลี่ยมทึบทึม ด้วยการดีไซน์ออฟฟิศให้สวยงาม เก๋กู๊ด ทันสมัย ชวนให้อยากทำงาน ต่างเป็นสิ่งที่องค์กรระดับบิ๊กเหล่านี้หันมาให้ความสนใจทั้งสิ้น
นอกจากการออกแบบออฟฟิศให้เอื้อต่อการมีความคิดสร้างสรรค์ของ “พนักงาน” แล้ว การออกแบบอาคารที่ทำงานให้เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดีก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม
บนเนื้อที่ 3 ไร่เศษ ของที่ดินราชพัสดุ ซอยงามดูพลี ถนนพระราม 4 กรุงเทพมหานคร อันเป็นที่ตั้งของศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ถือเป็นอีกหนึ่งอาคารต้นแบบของประเทศไทยที่มีการออกแบบอาคารตามแนวคิดที่เรียกว่า “อาคารสีเขียว” ซึ่งเป็นลักษณะของอาคารที่ประหยัดพลังงาน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ช่วยให้คนทำงานมีสุขภาพกายและใจที่ดี เกิดความคิดสร้างสรรค์ในการทำงาน
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการ สสส. กล่าวว่า นับตั้งแต่ตื่นขึ้นมา คนเราใช้เวลาครึ่งหนึ่งหรือมากกว่าครึ่งหนึ่งของวันอยู่ในที่ทำงาน แน่นอนว่าลักษณะของสถานที่ทำงาน ออฟฟิศ หรืออาคารที่อยู่นั้น ย่อมส่งผลต่อสุขภาพของคนทำงานแน่นอน ยกตัวอย่างง่ายๆ หากเราอยู่ในพื้นที่สลัม พื้นที่ที่มีมลพิษ หรือพื้นที่ศึกสงคราม แน่นอนว่าสุขภาพย่อมไม่ดี การใช้ชีวิตในออฟฟิศก็เช่นกัน หากไม่มีการจัดสิ่งแวดล้อมที่ดี เอื้อต่อการมีสุขภาพที่ดี เอื้อต่อการมีความคิดสร้างสรรค์ ก็ส่งผลต่อสุขภาพของพนักงานแน่นอน
ดร.สุปรีดา กล่าวว่า ในฐานะที่ สสส.ทำงานด้านการส่งเสริมสุขภาพ แน่นอนว่าก่อนการสร้างอาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. ย่อมต้องมีการออกแบบเพื่อรองรับการส่งเสริมสุขภาวะ โดยออกแบบภายใต้แนวคิด ดังนี้ 1. อาคารที่เป็นมิตรกับสังคมและสิ่งแวดล้อม คือ บริเวณต่างๆ ของอาคารได้รับการออกแบบให้เป็นพื้นที่สาธารณะที่เอื้อต่อคนทุกกลุ่ม (Universal Design) ครอบคลุมทั้งเด็ก สตรี คนชรา และคนพิการ เพื่อสะท้อนแนวคิดการสร้างสังคมที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตของคนทุกกลุ่มอย่างมีสิทธิและศักดิ์ศรีเท่าเทียมกัน ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีทั้งทางลาด ห้องน้ำสำหรับเด็กและผู้สูงอายุ เป็นต้น
2. ก่อสร้างอาคารด้วยแนวคิด “สถาปัตยกรรมสีเขียว (Green Architecture) โดยยึดตามหลักเกณฑ์ในการประเมินอาคารและรับรองตามมาตรฐาน LEED (Leadership in Energy & Environmental Design) คือคำนึงถึงการประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยอาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะแห่งนี้ ประหยัดการใช้พลังงานมากกว่าอาคารทั่วไปถึงร้อยละ 30 ด้วยการออกแบบและก่อสร้างที่มุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากธรรมชาติให้มากที่สุด เช่น แสง ลม และน้ำ โดยมีระบบอัจฉริยะแสดงผลประหยัดพลังงาน เพื่อควบคุมการเปิด-ปิด และแสดงผลการใช้พลังงานไฟฟ้าแยกตามส่วนงาน และการติดกระจกสองชั้นเคลือบฉนวนกันรังสีความร้อน การใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
“การใช้ประโยชน์จากธรรมชาตินั้น คือมีการใช้แผงรับแสงอาทิตย์ (Solar Cell) บนดาดฟ้า เพื่อเป็นพลังงานไฟฟ้าสำหรับไฟส่องสว่างบริเวณที่จอดรถชั้นใต้ดินตลอดวัน หรือเท่ากับร้อยละ 3 ของพลังงานทั้งหมดที่ใช้ในอาคาร ตัวโถงกลางของอาคารก็เป็นแบบเปิดโล่ง สบาย รับลมและแสงจากธรรมชาติ ลดการใช้พลังงานไฟฟ้าภายในอาคาร และสามารถมองเห็นกันได้จากทุกทิศทางตั้งแต่ชั้น 1 ถึงชั้นดาดฟ้า การติดแผงกันแดดที่ช่วยควบคุมปริมาณแสงส่องสว่าง ลดความร้อนสะสมภายในอาคาร และลดการใช้พลังงานจากเครื่องปรับอากาศ มีการใช้ระบบบำบัดน้ำเสียเก็บกักน้ำฝน บำบัดน้ำเสีย และปรับปรุงคุณภาพน้ำทิ้ง ก่อนนำหมุนเวียนใช้ใหม่ในระบบสุขภัณฑ์ประหยัดน้ำ เพื่อลดปริมาณการใช้น้ำโดยรวมของอาคาร ” ดร.สุปรีดา กล่าว
ดร.สุปรีดา กล่าวอีกว่า ส่วนในแง่ของการออกแบบเพื่อส่งเสริมสุขภาพและสุขภาวะของคนทำงาน มีทั้งเรื่องของหลังคาเขียว โดยบริเวณดาดฟ้าของอาคารออกแบบให้เป็นแปลงสาธิตการปลูกผักปลอดสารพิษด้วยตนเอง ตอบสนองวิถีชีวิตของคนเมืองในปัจจุบัน การใช้เครื่องตรวจวัดความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ช่วยควบคุมอัตราการเติมอากาศบริสุทธิ์ตามความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ภายในพื้นที่ พร้อมระบบกรองอากาศสองชั้น ช่วยกำจัดฝุ่นและแบคทีเรียในอากาศ ส่วนบันไดก็เปิดโล่ง กว้างเชื่อมโยงถึงกันในแต่ละชั้น ส่งเสริมให้คนทำงานมีสุขภาพกายที่แข็งแรงด้วยการขยับก้าวเดินขึ้น-ลงบันได เพิ่มการเคลื่อนไหวกิจกรรมทางกาย รวมถึงมีห้องฟิตเนส และโรงอาหารที่เน้นการให้ความรู้เรื่องโภชนาการ
นอกจากนี้ ยังมีระเบียงเขียว เป็นเส้นทางเดินและเส้นทางสัญจรที่เชื่อมต่อระหว่างภายในและภายนอกอาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ ออกแบบให้มีเอกลักษณ์ของพื้นที่ชาน และระเบียงบ้าน เชื่อมโยงพื้นที่สวนกับพื้นที่ใช้สอยส่วนต่างๆ ของทุกชั้นในอาคาร เช่น พื้นที่ภายนอกห้องประชุม และห้องทำงาน จะเชื่อมต่อกับสวนตรงระเบียง (Green Terrace) ซึ่งนอกจากเป็นมุมผ่อนคลายแล้ว ยังเป็นพื้นที่สนทนาอย่างไม่เป็นทางการ และพื้นที่เหล่านี้ยังเป็นต้นแบบของอาคารปลอดบุหรี่อย่างสมบูรณ์แบบ พร้อมกับเชิญศิลปินที่มีชื่อเสียงระดับประเทศ 10 ท่าน มาร่วมคิด ร่วมสร้างสรรค์งานประติมากรรมอันทรงคุณค่าและความหมายในทางศิลปะ ภายใต้แนวคิด “ศิลป์สร้างสุข” ที่มีรูปแบบร่วมสมัย สามารถสื่อสารกับผู้คนได้ทุกเพศวัย รวมทั้งมีความสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของอาคาร เป็นอีกส่วนหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมสุขภาวะทางจิตและปัญญาผ่านความงาม และความสุขจากงานศิลปะ ส่งผลถึงการทำงานที่ไม่เครียด เพื่อส่งเสริมการเกิดไอเดีย ความคิดสร้างสรรค์ในการทำงาน
ล่าสุด ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. ได้รับรางวัลอาคารประหยัดพลังงาน หรือ LEED (Leadership in Energy & Environmental Design) ในระดับ Platinum โดย The US Green Building Council หรือ USGBC ประเทศสหรัฐอเมริกา โดย LEED เป็นมาตรฐานรางวัลที่ได้รับความน่าเชื่อถือที่สุดสำหรับอาคารสีเขียวในระดับโลก
สำหรับการปรับออฟฟิศให้กลายเป็นออฟฟิศสีเขียว หรือเป็นอาคารสีเขียว เพื่อส่งเสริมสุขภาวะคนทำงาน ส่งเสริมพนักงานเกิดความคิดสร้างสรรค์นั้น ดร.สุปรีดา แนะนำว่า สำหรับอาคารที่สร้างมาแล้วอาจจะต้องดูว่าโครงสร้างของอาคารมีสิ่งใดที่เอื้อต่อการส่งเสริมสุขภาวะบ้าง ก็อาจจะเน้นในส่วนนั้น เช่น ส่งเสริมการใช้บันได หรืออาจมีการตกแต่งสถานที่ให้เอื้อมากขึ้น ส่วนอาคารที่กำลังก่อสร้างอาจจะมาเรียนรู้จากศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส.ได้ ซึ่งอาจไม่ต้องทำครบทั้งหมดอย่างที่ สสส.ทำ แต่อาจเลือกเรื่องที่เหมาะสมกับอาคารของตัวเองไปปรับใช้แทนได้
เรียกได้ว่าสิ่งแวดล้อมออฟฟิศดีก็มีชัยไปกว่าครึ่ง “วิน-วิน” ทั้งนายจ้างและพนักงาน โดยนายจ้างก็ได้ผลงานดี พนักงานเกิดความคิดสร้างสรรค์ สุขภาพดีทั้งกายและใจ