กระดูกพรุน ภัยเงียบคนไทย
ป้องกันและรักษา ก่อนที่จะสายเกินไป
มูลนิธิโรคกระดูกพรุนแห่งประเทศไทย ในพระอุปถัมภ์ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ร่วมกับ บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ไทย) จำกัด แถลงข่าว “กิจกรรมวันสากลโรคกระดูกพรุน” เพื่อปลุกกระแสไทยรู้เท่าทันภัยจากโรคกระดูกพรุน พร้อมเปิดตัวพรีเซ็นเตอร์รณรงค์ต้านภัยกระดูกพรุน ปอ-ปุณยวีร์ สุขกุลวรเศรษฐ์ กระเต็น-วราภรณ์ สมพงษ์ ปราย ธนาอัมพุช และ ดาว-อภิสรา นุตยกุล สี่สาวจากรายการ 30 ยังแจ๋ว ที่อาคารมาลีนนท์
ในประเทศไทยสาเหตุการเสียชีวิตของผู้หญิงไทยจากโรคกระดูกสะโพกหักเนื่องจากกระดูกพรุน มาเป็นอันดับ 6 ของการเสียชีวิต และจากการสำรวจพบว่าเมื่อกระดูกสะโพกหักแล้วจะเสียชีวิตภายใน 1 ปี ประมาณ 7 พันคน คิดเป็น 1 ใน 6 ซึ่งสูงกว่าการเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านม และเมื่อติดตามผลไปในระยะเวลา 5 ปี พบว่า 1 ใน 3 ของผู้ที่เกิดกระดูกสะโพกหักจะเสียชีวิต
นอกจากนี้ ผู้หญิงที่อายุมากกว่า 50 ปี เป็นวัยที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือนหรือวัยทองประมาณ 6.7 ล้านคน พบว่าเป็นโรคกระดูกพรุนที่กระดูกสะโพกร้อยละ 13.6 หรือ 1 ล้านคน ส่วนผู้ชาย ร้อยละ 12.6 หรือประมาณ 7 แสนคน ส่วนกระดูกพรุนที่กระดูกสันหลังของผู้หญิงพบร้อยละ 19.8 หรือ 13 ล้านคน ขณะที่ผู้ชายเองตรวจพบน้อยเพียงร้อยละ 4.6 หรือประมาณ 2.5 แสนคน
ผศ.น.พ.สุรศักดิ์ นิลกานุวงศ์ ประธานมูลนิธิโรคกระดูกพรุนแห่งประเทศไทย กล่าวถึงสถานการณ์โรคกระดูกพรุนว่า เพราะมนุษย์เราเก่งและอายุยืนขึ้น จาก 10 ปีที่ผ่านมาผู้หญิงอายุเฉลี่ย 65 ปี ส่วนผู้ชาย 60 ปี ปัจจุบันอายุเฉลี่ยของผู้หญิงคือ 70 ปี ส่วนผู้ชาย 65 ปี และการที่ประชากรอายุยืนยาวขึ้นสิ่งที่ตามมาคือกระดูกที่สูญเสียตามอายุที่ยาวขึ้น นอกจากนี้ ในผู้หญิงหลังหมดประจำเดือนเกิดการสูญเสียมวลกระดูก และคนไทยที่อายุเกิน 60 ปี จะเป็นโรคกระดูกพรุน โดยมีอัตราส่วนคือผู้หญิง 1 ใน 3 ขณะที่ผู้ชาย 1 ใน 5 ที่เป็นโรคนี้
คนไทยมี 65 ล้านคน คนที่อายุเกิน 60 ปี มีร้อยละ 10 คือ 6 ล้านเศษ เป็นผู้หญิงประมาณ 3 ล้าน และในจำนวนนี้ ผู้หญิง 1 ใน 3 จะมีภาวะกระดูกพรุนหรือประมาณ 1 ล้านคน ซึ่งเป็นตัวเลขที่เยอะ และคนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่ากระดูกพรุนเป็นภัยเงียบ เพราะอาการของโรคกระดูกพรุนไม่ปรากฏ ยกเว้นเป็นโรคกระดูกพรุนและเกิดกระดูกหัก และกระดูกหักที่พบเห็นเป็นประจำคือกระดูกสันหลังเริ่มยุบตัวลงและมีอาการปวด
ประธานมูลนิธิโรคกระดูกพรุนแห่งประเทศไทย กล่าวต่อว่า วิธีป้องกันโรคกระดูกพรุนที่ดีที่สุด คือรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมอย่างเพียงพอตั้งแต่วัยเด็ก ที่จะเป็นต้นทุนให้เรามีแคลเซียม มีมวลกระดูกที่ดี หลังจากที่อยู่ในวัยหมดประจำเดือนเราต้องสูญเสียแคลเซียม วิธีการที่ดีที่สุด คือการออกกำลังกายและรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมอย่างเพียงพอ ซึ่งวัยนี้ต้องการแคลเซียม 1,000-1,200 มิลลิกรัม รวมถึงการรับวิตามินดีจากแสงแดดหรือรับประทานอาหารเสริม
ผศ.น.พ.สุรศักดิ์กล่าวถึงการดื่มนมว่า เป็นการเพิ่มต้นทุนสะสมไม่ให้เป็นโรคกระดูกพรุน ในประเทศอินเดียดื่มนม 5 หมื่นล้านคน ส่วนจีน 1.75 หมื่นล้านคน ญี่ปุ่น 6 พันล้านคน ส่วนประเทศไทยมีเพียง 1.6 พันล้านคนที่ดื่มนม ซึ่งมีจำนวนน้อยมาก สำหรับคนที่แพ้นมสัตว์ก็รับประทานนมจากพืช หรือถ้าแพ้ทั้ง 2 อย่างให้เลิกกินและทานแคลเซียมเม็ดแทน
พ.ต.อ.น.พ.ธนา ธุระเจน เลขาธิการและกรรมการมูลนิธิโรคกระดูกพรุนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การสร้างกระดูกใช้เวลา 4 เดือน ขณะที่การทำลายเพียง 4 สัปดาห์เท่านั้น ระยะเวลาในการสร้างกระดูกเป็น 4 เท่า ในสมัยก่อนคนมีอายุมากส่วนสูงจะลดลง วันนี้เราจะรอให้คนไทยกระดูกพรุนแล้วรักษาโครงสร้างให้เหมือนเดิม หรือจะปล่อยให้โครงสร้างร่างกายซึ่งเป็นเหมือนตึกดีๆ ของเราเสียหายก่อนแล้วค่อยซ่อม สิ่งเหล่านี้เราป้องกันได้ แม้ว่าเรามีสิ่งที่เลือกได้และเลือกไม่ได้ เช่น อายุ ประวัติในครอบครัวหรือกรรมพันธุ์ ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคที่เราเลือกไม่ได้ แต่เราเลือกออกกำลังกาย รับประทานอาหาร และรับแสงแดดในตอนเช้าเวลา 08.30-10.30 น. ประมาณ 20 นาทีได้ จะเป็นการป้องกันโรคกระดูกพรุน
“แนวทางการแพทย์สมัยใหม่ เราจะดูแลคุณภาพชีวิตมากกว่ารับประทานยา โรงพยาบาลไม่ใช่ที่รักษาแต่จะเป็นเพียงที่ให้คำปรึกษาเท่านั้น” พ.ต.อ.น.พ.ธนากล่าวและว่า ตามทฤษฎีให้ตรวจกระดูกพรุนตั้งแต่อายุ 60-65 ปี เพราะเครื่องที่ใช้มีขนาดใหญ่และมีจำกัด รวมถึงราคาในการตรวจที่ประมาณ 4-5 พันบาท เรามีคนอายุเกิน 50 ปีกว่า 1 ล้านคน ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายมหาศาล แต่เราถูกพัฒนาให้มีระบบการคัดกรองผู้ป่วย และมูลนิธิได้ศึกษาวิจัยการทดสอบความแม่นยำของการใช้ “โนโมแกรม” เพื่อทำนายความเสี่ยงในการเกิดโรคกระดูกพรุน โดยใช้ฐานข้อมูลของคนไทย ซึ่งมีหัวหน้าโครงการคือ รศ.น.พ.ทวี ทรงพัฒนาศิลป์ และรศ.น.พ.ฉัตรเลิศ พงษ์ไชยกุล ซึ่งในอนาคตหวังว่าอาจโหลดได้จากเว็บไซต์
“สุขภาพของประชาชนที่ดีต้องเป็นของคนไทยทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนในแผ่นดินไทย สิ่งเหล่านี้เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะไปถึงคนไทยทุกคน โดยที่ทุกคนเข้าถึงและมีความแม่นยำในการวินิจฉัย สิ่งสำคัญคนที่ยังไม่ได้เป็นโรคกระดูกพรุนจะได้เริ่มป้องกัน ส่วนคนเป็นแล้วจะได้รักษาด้วยความรวดเร็ว โดยไม่มีข้อจำกัดด้านราคาและเวลา ผลที่เราอยากได้คือสุขภาพที่ดีของคนไทยส่วนรวม และสิ่งที่พยายามทำคือให้คนไทยสนใจและป้องกันก่อนโรคจะย่างกรายเข้ามาถึงเรา เหมือนกับว่าถ้าเราให้ความสำคัญกับบ้านมากเท่าไหร่ก็ต้องให้ความสำคัญกับกระดูกมากเท่านั้น เพราะบ้านเป็นที่อยู่ของทุกอย่างเช่นกันกับกระดูก” เลขาธิการและกรรมการมูลนิธิโรคกระดูกพรุนแห่งประเทศไทยกล่าวทิ้งท้าย
สนใจร่วมงาน “วันสากลโรคกระดูกพรุน” ได้ในวันที่ 25 ต.ค. ที่ลานกิจกรรมชั้น 7 เซ็นทรัลเวิลด์ เวลา 11.00 น. ภายในงานมีการสาธิตสูตรอาหารป้องกันโรคกระดูกพรุน การออกกำลังกายด้วยวิธีง่ายๆ พร้อมตรวจวัดระดับมวลกระดูก โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
ที่มา: หนังสือพิมพ์ข่าวสด
update 14-10-51