กรมวิทย์ฯเฝ้าระวังคุณภาพถุงยางอนามัย

/data/content/19614/cms/abegjprtux78.jpg          กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ตรวจสอบคุณภาพถุงยางอนามัย ปี 2556 พบเข้ามาตรฐาน ร้อยละ 100 แนะเลือกซื้อถุงยางอนามัยต้องมีเลขใบอนุญาตเครื่องมือแพทย์ที่ผ่านการรับรองจาก อย. ตรวจสอบวันหมดอายุ ไม่ควรซื้อถุงยางอนามัยมาเก็บไว้นานๆ อย่าเก็บไว้ในช่องเก็บของรถยนต์ กระเป๋าใส่ธนบัตร กระเป๋ากางเกงด้านหลัง ระวังการกดทับถุงยางอนามัยอาจฉีกขาดได้ และควรเลือกใช้สารหล่อลื่นที่ละลายในน้ำหรือซิลิโคน ออยล์ ไม่ควรใช้สารหล่อลื่นที่มีน้ำมันเป็นตัวทำละลาย เช่น เบบี้ออยล์ ปิโตรเลียม เจลลี น้ำมันพืช ทำลายคุณภาพถุงยางอนามัย เสี่ยงต่อการรั่วหรือแตก ทำให้ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์หรือการตั้งครรภ์ได้

 

          นายแพทย์อภิชัย มงคล อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากการสำรวจ ของโพลต่างๆ พบว่าในปัจจุบันเยาวชนมีเพศสัมพันธ์เร็วขึ้นและมีอัตราการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะโรคเอดส์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวเพราะนอกจากปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ โดยไม่มีการป้องกันแล้ว ปัญหาการใช้ถุงยางอนามัยที่ไม่ได้มาตรฐาน เป็นอีกกรณีหนึ่งที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงในการติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์และการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ จึงได้ดำเนินการคุ้มครองผู้บริโภคโดยสร้างความมั่นใจในความปลอดภัยของการใช้ถุงยางอนามัยและให้บริการตรวจสอบคุณภาพถุงยางอนามัยที่วางจำหน่ายในท้องตลาด ในปี 2556 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดย สำนักรังสีและเครื่องมือแพทย์ ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สุ่มเก็บตัวอย่างถุงยางอนามัยจากร้านขายยา ผู้แทนจำหน่าย ผู้ผลิต โรงพยาบาล สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด หน่วยงานอื่นๆ และตัวอย่างที่ส่งจากกรมควบคุมโรค รวม 357 ตัวอย่าง เพื่อตรวจสอบคุณภาพด้านความดันและปริมาตรขณะแตกของถุงยางอนามัย พบว่า มีคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน มอก. 625-2554 ร้อยละ 100

          ถุงยางอนามัยเป็นผลิตภัณฑ์ชนิดแรกที่ประกาศเป็นเครื่องมือแพทย์ตามพระราชบัญญัติเครื่องมือแพทย์ พ.ศ. 2551(เดิม พ.ศ. 2531) ซึ่งประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องถุงยางอนามัย พ.ศ. 2556 (ฉบับแรก พ.ศ. 2532) กำหนดให้มีมาตรฐานและข้อกำหนดตาม มอก. 625-2554 หรือ ISO 4074 เป็นการทดสอบคุณภาพถุงยางอนามัยทางกายภาพ/กล และใช้มาตรฐาน มอก. 465 หรือ ISO 2859-1 สำหรับการชักตัวอย่างและเกณฑ์การยอมรับชิ้นบกพร่อง ถุงยางอนามัยเป็นเครื่องมือแพทย์ ที่ต้องมีใบอนุญาตการผลิตหรือนำเข้าและต้องมีการตรวจสอบคุณภาพทุกรุ่นก่อนออกจำหน่ายในท้องตลาด โดยห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ถ้าพบว่าถุงยางอนามัยรุ่นผลิตใดไม่เข้ามาตรฐาน ผู้ผลิตและผู้นำเข้าจะไม่สามารถนำออกจำหน่ายได้

          “วิธีการสังเกตและข้อระวังในการใช้ถุงยางอนามัยว่า ประชาชนควรเลือกซื้อถุงยางอนามัยที่มีเลขใบอนุญาตเครื่องมือแพทย์ ซึ่งรับรองจาก อย. ไม่ควรซื้อถุงยางอนามัยมาเก็บไว้นานๆ สังเกตดูวันหมดอายุ การเก็บรักษาควรเก็บถุงยางอนามัยในที่แห้ง เย็น ไม่ถูกแสงแดดหรือแสงฟลูออเรสเซนต์ ไม่ควรเก็บถุงยางอนามัย ไว้ในช่องเก็บของรถยนต์ กระเป๋าใส่ธนบัตร กระเป๋ากางเกงด้านหลัง ระวังการกดทับ เพราะจะทำให้ถุงยางอนามัยรั่วหรือฉีกขาดได้ นอกจากนี้ควรเลือกใช้สารหล่อลื่นที่ละลายในน้ำหรือซิลิโคน ออยล์ เช่น K-Y jelly และ กลีเซอรีน เป็นต้น ไม่ควรใช้สารหล่อลื่นที่มีน้ำมันเป็นตัวทำละลาย เช่น เบบี้ออยล์ ปิโตรเลียม เจลลี น้ำมันปรุงอาหาร ซึ่งมีความเสี่ยงในการทำลายคุณภาพถุงยางอนามัย ทำให้ถุงยางอนามัยรั่วหรือแตกขาดง่ายขึ้น”

 

ที่มา : เว็บไซด์กระทรวงสาธารณสุข

Shares:
QR Code :
QR Code