กทม.-ภาคีเครือข่ายฯ ร่วมถกคุมเข้มน้ำเมา ลดนักดื่มหน้าใหม่
กทม. จับมือภาคีเครือข่ายเลิกเหล้า เดินหน้าแผนบูรณาการควบคุมแอลกอฮอล์กรุงเทพฯ ป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ สร้างแรงจูงใจเยาวชนและประชาชนลด ละ เลิก ดื่ม
วันที่ 28 ก.พ. 54 ณ ห้องราชา 1 โรงแรมปริ๊นซ์พาเลซ มหานาค พญ.มาลินี สุขเวชชวรกิจ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานเปิดการประชุมโครงการ “จัดทำแผนบูรณาการการควบคุมเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์กรุงเทพมหานคร” เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ ของกรุงเทพมหานคร ที่ปฏิบัติงานด้านการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน สอดคล้องตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 และเพื่อให้ผู้เข้าร่วมประชุมมีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
ทั้งนี้ มีข้าราชการกรุงเทพมหานคร จากสำนักการแพทย์ สำนักอนามัย สำนักเทศกิจ สำนักพัฒนาสังคม สำนักวัฒนธรรม กีฬาและการท่องเที่ยวสำนักงานเขต และผู้แทนหน่วยงานภาคเอกชน ที่เกี่ยวข้องในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใน พื้นที่กรุงเทพฯรวม 155 คน เข้าร่วมประชุม พร้อมทั้งรับฟังการบรรยาย อภิปราย และแลกเปลี่ยนความรู้เนื้อหาเรื่องการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในมุมมองของนักวิชาการ ด้าน กฎหมาย สังคม การแพทย์และสาธารณสุข สถานการณ์ปัญหาสุราในประเทศไทย แผนยุทธศาสตร์นโยบายแอลกอฮอล์ระดับชาติ และแผนบูรณาการการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์กรุงเทพมหานคร โดยวิทยากรจาก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กรมสุขภาพจิต สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา และมูลนิธิเพื่อนหญิง
พญ.มาลินี กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่ง กรุงเทพมหานคร ให้ความสำคัญและตระหนักถึงปัญหามาโดยตลอด อีกทั้งดำเนินการด้านต่างๆ ตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2553 อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้จำนวนนักดื่มลดลงมากที่สุด และเป็นรูปธรรม
“การกำหนดกลยุทธ์การพัฒนาสภาพแวดล้อมของสถานศึกษา ให้ปลอดจากแหล่งอบายมุขเป็นเรื่องสำคัญ ที่ช่วยป้องกันเยาวชนจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ รวมทั้ง การส่งเสริมมาตรการควบคุมการเข้าถึงแหล่งอบายมุขหรือสถานที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และจัดสภาพแวดล้อมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ ให้เยาวชนตระหนักถึงปัญหายาเสพติด และอบายมุข ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาสุขภาพคนเมืองกรุงเทพมหานคร 2553-2556 เพื่อให้กรุงเทพมหานครก้าวสู่เป้าหมายการเป็นเมืองที่ปลอดภัย” พญ.มาลินี กล่าว
ทั้งนี้ การร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐเอกชน มูลนิธิ เครือข่ายประชาชน และเยาวชน จะเป็นกำลังสำคัญในการควบคุมและแก้ไขปัญหาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่กรุงเทพฯ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดผลสำเร็จและประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและสังคมต่อไป
ที่มา: หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย