กฐินปลอดเหล้า ต่อยอดลด ละ เลิกให้ยั่งยืน
ลดการสูญเสีย ค่าใช้จ่าย สร้างสุขให้สังคม
ผ่านไปแล้วกับช่วงนี้เวลาแห่งการลด ละ เลิกเหล้าเข้าพรรษา ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีแห่งการเริ่มต้นเลิกเหล้า แต่เมื่อถึงคราวต้องออกพรรษาล่ะ!!! ทำไมบางคนกลับ “ดื่มเหล้า” เหมือนเดิม!! ตามค่านิยมที่หยั่งรากฝังลึกในจิตใจของคนไทย ไม่ว่าจะมีงานบุญ งานมงคล งานอัปมงคล ก็ต้องมีเหล้าเป็นส่วนประกอบด้วยกันทั้งสิ้น และนั่นก็หมายความว่าคนไทยกลับไปตกเป็นทาสของน้ำเมาเช่นเดิม…
ด้วยเหตุนี้จึงทำให้เกิดการรณรงค์ กฐินปลอดเหล้า เกิดขึ้น เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายธีระ วัชรปราณี ผู้จัดการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า สคล. กล่าวกับเราว่า ที่ผ่านมาจากข้อมูลจากโรงพยาบาลเครือข่ายใน ระบบเฝ้าระวังการบาดเจ็บแห่งชาติ ปี 2552 จำนวน 28 โรงพยาบาล พบว่า ช่วงเข้าพรรษาซึ่งเป็นเดือนที่ประชาชนงดเหล้า ทำให้จำนวนผู้บาดเจ็บขั้นรุนแรง และเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ ลดลงจากเดือนอื่นๆ โดยช่วงเข้าพรรษามีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยเดือนละ 284 ราย บาดเจ็บ 5,566 ราย ในขณะที่เดือนอื่นๆ จะมีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยมากถึงเดือนละ 371 ราย และบาดเจ็บอีก 6,128 ราย เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้คน ลดละเลิกเหล้าต่อเนื่องจากเข้าพรรษา จึงเกิดโครงการรณรงค์กฐินปลอดเหล้าขึ้น
“กฐินปลอดเหล้านี้ ทางเครือข่ายได้รณรงค์มาอย่างต่อเนื่องทุกปี เพราะหลังจากเทศกาลออกพรรษาจะมีการจัดทอดกฐิน ผ้าป่า ทั่วทุกภาคของประเทศไทย จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรณรงค์ให้ประชาชนปรับเปลี่ยนค่านิยมการดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในงานบุญประเพณีต่างๆ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องในการลดละเลิกเหล้า ซึ่งนอกจากจะช่วยลดความสิ้นเปลืองในการจัดงานแต่ละครั้งแล้ว ยังช่วยลดปัญหาที่จะตามมาเช่น ปัญหาหนี้สิน สุขภาพทรุดโทรม ปัญหาครอบครัวการก่ออาชญากรรม อุบัติเหตุและการเสียชีวิตอีกด้วย” ธีระกล่าว
ตอนนี้พื้นที่กฐินปลอดเหล้าได้มีครอบคลุมในหลายจังหวัดและมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งนี้มีข้อมูลยืนยันว่า เมื่อจัดงานกฐินหรือผ้าป่าปลอดเหล้า จะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงเหล้าลง 1 ใน 3 ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด หรือประมาณ 1-3 หมื่นบาทต่องาน ซึ่งแต่ละจังหวัดได้ขยายผลไปสู่งานผ้าป่าปลอดเหล้า รวมทั้ง งานบุญออกพรรษา งานแข่งเรืองานไหลเรือไฟ งานชักพระ งานแห่ปราสาทผึ้ง
ผู้จัดการฯ สคล. กล่าวต่อว่า การรณรงค์งดเหล้าไม่ว่าจะเข้าพรรษา ออกพรรษา หรือเทศกาลงานบุญต่างๆ จำเป็นต้องสร้างกระแสให้สังคมตระหนักถึงปัญหาที่เกิดจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แม้จะไม่สามารถให้ทุกคนเลิกดื่มได้ทั้งหมด แต่อย่างน้อยก็ต้องทำให้การดื่มในสังคมลดลง หากงานบุญกฐินมีเหล้า คนที่มาทำบุญก็กลับได้บาป ซึ่งการรณรงค์เรื่องนี้จะบรรลุเป้าหมายนั้น จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากเจ้าภาพงานกฐิน วัด คนร่วมบุญกฐิน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เห็นความสำคัญจากผลกระทบของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร่วมถึงการบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะการผลักดันมาตรการห้ามดื่มในรถหรือท้ายกระบะ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิต
นี่ถือเป็นการก่อเกิดสิ่งดีๆเล็กๆ ที่ต้องการให้งานบุญให้เป็นงานบุญจริงๆ และกำลังขยายพื้นที่ให้มากขึ้น ท่ามกลางกระแสการต่อสู้ทางธุรกิจของบริษัทน้ำเมาที่พยายามขายสินค้าบาปยื่นให้ประชาชน ซึ่งสังคมไทยจะปลอดเหล้าได้หากทุกคนร่วมมือกัน… อีกทั้งยังสามารถทำให้การตั้งใจที่จะ ลด ละ เลิก เหล้าที่สามารถทำได้แล้วมาตลอด 3 เดือน ได้เป็นก้าวแรกและจุดเริ่มต้นของการเลิกเหล้าเป็นไปได้อย่างถาวรโดยไม่หันกลับไปดื่มอีกได้อย่างจริงจัง!!
เรื่องโดย : ณัฏฐ์ ตุ้มภู่ Team content www.thaihealth.or.th
Update:26-10-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : ณัฏฐ์ ตุ้มภู่