ไก่แช่ฟอร์มาลินผู้ว่าลุยโรงชำแหละ สธ.สั่งฟัน’ 3ข้อหา’

ผู้ว่าฯ โคราช สะบัดปากกาเซ็นคำสั่งตั้งคณะกรรมการสอบ กรณีอาจมีเจ้าหน้าที่รับผลประโยชน์จากโรงงานชำแหละไก่ตายในปากช่อง ทางด้านปศุสัตว์อำเภอคิวต่อไปมีสิทธิถูกเด้งออกนอกพื้นที่ เพื่อให้การตรวจสอบเร็วขึ้น ส่วนเจ้าหน้าที่ปูพรมค้นโรงงานชำแหละไก่อีก 6แห่ง จากทั้งหมด 14 แห่ง ตะลึงซากไก่กว่า 8 ตันกำลังชำแหละส่งพ่อค้าแม่ค้า รวบตัวผู้เกี่ยวข้อง 3 คนส่งดำเนินคดี ทางด้าน “จุรินทร์” เผยกรณีดังกล่าวเอาผิดได้ 3 กระทง พร้อมแนะวิธีเลือกซื้อเนื้อไก่ ส่วนอย.เตือนฟอร์มาลินมีผลต่อตับ-ไตเสื่อม และก่อโรคมะเร็ง


ไก่แช่ฟอร์มาลินผู้ว่าลุยโรงชำแหละสธ.สั่งฟัน'3ข้อหา'


จากกรณีมีโรงงานชำแหละไก่ใน ต.กลางดง อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ตระเวนซื้อไก่ตายจากฟาร์มต่าง ๆ มาชำแหละแช่ฟอร์มาลินส่งขายให้ประชาชน และส่งกลิ่นเน่าเหม็นรบกวนชาวบ้าน


ความคืบหน้า เมื่อเวลา 03.00 น. วันที่ 13 มิ.ย. นายสุขสวัสดิ์ ทองน้อย ปศุสัตว์อำเภอปากช่อง จ.นครราชสีมา นสพ.สุทธิวัฒน์ ชาปัญญา เจ้าหน้าที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอปากช่อง นสพ.อภิชาติ สุวรรณชัยรบ หัวหน้ากลุ่มพัฒนาสุขภาพสัตว์ สำนักงานปศุสัตว์จ.นครราชสีมา พ.ต.อ.ศักดิ์ดา เชื้อปทุม  ผกก.สภ.กลางดง นำกำลังตำรวจ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง และเจ้าหน้าที่จากเทศบาลสีมามงคล นำหมายศาลจังหวัดสีคิ้ว เข้าบุกจับโรงงานชำแหละไก่ตาย ในพื้นที่ ต.กลางดง รวม 6แห่ง จากทั้งหมด 14 แห่ง พบซากไก่ตายและเน่า กำลังชำแหละส่งขายพ่อค้าแม่ค้าน้ำหนักกว่า8ตัน โดยมีการจับกุมนายสุชาติ บุบสาคร นาย อินทิรา อินวัน และนายชัชวาล เพ็ชรพรม พร้อมของกลางซากไก่เน่า ส่งให้พนักงานสอบ สวน สภ.กลางดง ดำเนินคดีไปตามกฎหมาย โดยจะมีการตรวจสอบว่าทั้งสามคนเป็นเจ้าของโรงงาน หรือลูกจ้าง ส่วนโรงงานอื่น ๆ ไหวตัวปิดโรงงานเผ่นหนีไป ทิ้งไว้แต่สภาพความว่างเปล่า


ต่อมาเวลา 14.00 น. นายระพี ผ่องบุพกิจ ผวจ.นครราชสีมา พร้อมด้วยนายปรีชา สมบูรณ์ประเสริฐ อธิบดีกรมปศุสัตว์ นพ.คำรณ ไชยศิริ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข และนายวิบูลย์ รัตนาภรณ์วงศ์ นายอำเภอปากช่อง ลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานชำแหละไก่ ในพื้นที่ อ.ปากช่อง นายระพีกล่าวว่า ขอโทษพี่น้องประชาชนที่มีโรงงานไก่เน่าส่งกลิ่นเหม็น ส่วนเนื้อไก่ตายตามโรงงานคงจะนำไปทำไส้กรอกส่งไปขายตามชนบท สำหรับเนื้อไก่ในตลาดทั่วไปประชาชนรับประทานได้ ไม่เกี่ยวกัน ขอขอบคุณสื่อมวลชน  กำนัน  ผู้ใหญ่บ้าน ที่ช่วยเป็นหูเป็นตากับทางราชการ เปิดโปงถึงความไม่ถูกต้องดังกล่าว ทั้งนี้ได้เซ็นคำสั่งแต่งตั้งกรรมการตรวจสอบว่ามีเจ้าหน้าที่เข้าไปเกี่ยวข้องรับผลประโยชน์จากโรงงานชำแหละไก่เน่าหรือไม่ และอาจมีคำสั่งให้ปศุสัตว์อำเภอปากช่องออกนอกพื้นที่ โดยให้ไปช่วยราชการในจังหวัด เพื่อให้การตรวจสอบได้เร็วขึ้น


ทางด้านนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.สาธารณสุข เปิดเผยว่า นพ.คำรณได้ไปตรวจที่โรงงานแล้ว ทั้งนี้มีกฎหมายที่เกี่ยวข้อง 3ฉบับ คือ 1. พ.ร.บ.การสาธารณสุขปี 2535ข้อหาก่อเหตุรำคาญมีโทษจำคุกไม่เกิน 1เดือนปรับไม่เกิน 2,000บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ ดำเนินกิจการอันเป็นอันตรายต่อสุขภาพ มีโทษจำคุกไม่เกิน 6เดือน ปรับไม่เกิน 1หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ และเป็นสถานที่เก็บอาหารที่มีพื้นที่เกิน 200ตารางเมตรโดยไม่ขออนุญาต มีโทษจำคุกไม่เกิน 1เดือน ปรับไม่เกิน 2,000บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ  2. พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522หากตรวจพบว่าไก่ที่ชำแหละมีการปนเปื้อนสารฟอร์มาลิน หรือสารอันตราย จะเข้าข่ายอาหารไม่บริสุทธิ์มีโทษจำคุกไม่เกิน 2ปี ปรับไม่เกิน 2หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และ 3พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2523ถ้าพบเป็นแหล่งแพร่กระจายโรคติดต่อจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1ปี ปรับไม่เกิน 5หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ


รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า ส่วนกรณีฟาร์มไก่ โดยหลักต้องนำไก่ตายไปทำลาย ถ้าไม่ทำลายแต่นำไปขายต่อก็เป็นหน้าที่ของปศุสัตว์จังหวัดจะดำเนินการตามกฎหมาย อย่างไรก็ตามทางผู้ตรวจราชการกระทรวงฯรายงานว่าเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมามีการจับกุมดำเนินคดีกับโรงงานชำแหละไก่ตายมาแล้วครั้งหนึ่ง โดยอยู่ระหว่างฟ้องร้องศาล แต่ไม่แน่ใจว่าเป็นโรงงานเดียวกันหรือไม่ ทั้งนี้ได้ให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ประสานกับสำนักงานสาธารณสุข จ.นครราชสีมา สุ่มตรวจเนื้อไก่ที่จำหน่ายในสถานที่ต่าง ๆ อาจจะเป็นแหล่งจำหน่ายเนื้อไก่ชำแหละที่ไม่มีคุณภาพ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค โดยมีข้อแนะนำในการเลือกซื้อเนื้อไก่ที่มีคุณภาพดังนี้ 1. เนื้อต้องแน่น นิ้วกดไม่บุ๋มลงไป 2. จับดูไม่มีเมือก ลื่น3. ไม่มีรอยช้ำ จุด เลือดออก 4. สีสด ไม่มีสีแดงเกินปกติ 5. ไม่มีกลิ่นผิดปกติ โดยควรเลือกซื้อเนื้อไก่จากตลาดสดน่าซื้อหรือร้านที่มีความสะอาดปลอดภัย


ขณะที่ นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ ผอ.สำนักโรคติดต่ออุบัติใหม่ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การนำไก่ตายโดยผิดธรรมชาติมารับประทาน อาจทำให้เกิดโรคทางเดินอาหารได้ และหากเป็นไก่ที่แช่ฟอร์มาลิน หากได้รับฟอร์มาลินในปริมาณมาก ๆ อาจทำ ให้เกิดอาการแพ้ หรืออาจทำให้มีผลต่อระบบประสาท เช่น มึน งง ชา ทั้งนี้การนำไปปรุงสุกไม่สามารถทำลายสารฟอร์มาลินได้ ส่วนการล้างไก่ก่อนนำมาปรุงก็ไม่สามารถชำระล้างฟอร์มาลินที่ซึมเข้าไปในเนื้อไก่ได้


นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากกรณีนำเนื้อไก่ที่ตายโดยไม่ทราบสาเหตุมาแช่สารฟอร์มาลินเพื่อจำหน่ายนั้น ได้ประสานให้สำนักควบคุมโรคที่ 5สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดนครราชสีมาลงพื้นที่ตรวจสอบหาเชื้อโรคในซากไก่ รวมถึงนำตัวผู้ที่ชำแหละซากไก่ไปตรวจสุขภาพเพื่อหาโรคอีกครั้ง ขอเตือนประชาชนห้ามนำซากไก่ที่แช่ฟอร์มาลินไปทำอาหาร แม้จะผ่านความร้อนแล้วก็ตาม เพราะอาจมีเชื้อซาโมเนลล่า ทำให้เกิดท้องเสีย ท้องร่วงอย่างรุนแรง ส่วนข้อกังวลจะเป็นสาเหตุให้เกิดโรคไข้หวัดนกหรือไม่นั้น ที่ผ่านมายังไม่มีการระบาดของโรคมา 5ปี แล้ว


ส่วน นพ.พิพัฒน์ ยิ่งเสรี เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า ได้ประสานกับสาธารณสุขจังหวัดนครราชสีมาในการออกตรวจตลาดสด ทั้งนี้โดยหลักการฟอร์มาลินเป็นสารที่ใช้ในการฆ่าเชื้อ เช่น ทำความสะอาดอุปกรณ์การแพทย์ และล้างห้องน้ำ เป็นสารต้องห้ามใช้ในอาหาร หากฝ่าฝืนจะมีโทษปรับไม่เกิน 20,000บาท จำคุกไม่เกิน 2ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 58ของ พ.ร.บ.อาหาร อย่างไรก็ตามยังมีผู้ประกอบการหลายคนลักลอบนำสารต้องห้ามดังกล่าวไปใช้ในการถนอมอาหาร เช่น อาหารทะเล ดังนั้น ผู้บริโภคควรตรวจสอบด้วยการดม ซึ่งถือว่าเป็นวิธีการที่ง่ายที่สุด เพราะสารดังกล่าวจะมีกลิ่นฉุนรุนแรง หากพบว่ามีการผสมสารฟอร์มาลินในอาหารให้รีบแจ้งสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทันที


สำหรับผลกระทบจากการใช้ฟอร์มาลินหากเป็นการสัมผัส จะทำให้เกิดอาการผื่นคัน หากสัมผัสโดยการสูดดมจะทำให้ไอ ออกฤทธิ์กับระบบประสาทส่วนกลาง และมีผลต่อเนื้อปอด เกิดการกลายพันธุ์ของระบบสืบพันธุ์ และหากรับสารดังกล่าวด้วยวิธีการรับประทานจะทำให้กระเพาะอาหารอักเสบ แน่นหน้าอก ปวดท้อง ระบบการไหลเวียนของเลือดผิดปกติ ตับและไตเสื่อม รวมถึงก่อให้เกิดโรคมะเร็งได้ในอนาคต.


 


 


 


ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์

Shares:
QR Code :
QR Code