ใจที่พร้อม ย่อมทำได้

 

ใจที่พร้อมย่อมทำได้

 

ปี 2549 ตำบลขุนทะเล อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้จัดตั้งชมรมคนพิการ มีการสร้างระบบอาสาสมัครดูแลผู้พิการขึ้นมาด้วย ซึ่งมาจากตัวแทนหมู่บ้านละ 2 คน ในตำบลขุนทะเลมี 12 หมู่บ้าน อาสาสมัครดูแลผู้พิการจึงมีทั้งหมด 24 คน

หลายคนที่เป็นอาสาสมัครก็เป็นผู้พิการเองด้วย เวลาออกเยี่ยมเพื่อนผู้พิการตามบ้านต่างๆ อย่าง รัชนี ธงทอง ต้องใช้รถแทนขาทั้งสองข้าง แต่ไม่ได้เป็นอุปสรรค เธอบอกว่าอุปสรรค…ถ้ามันจะมี มันอยู่ที่ใจ

แต่เดิมนั้น รัชนี ก็รู้สึกว่าตัวเองมีปมด้อย ไปไหนก็รู้สึกว่ามีสายตาคอยจ้องมองมาตลอด ช่วงวัยรุ่นเธอไปเรียนที่ ‘ศูนย์ฝึกอาชีพผู้พิการภาคใต้’ ตำบลสาแก้ว อำเภอท่าศาลา อยู่ 1 ปี ที่นั่นทำให้เธอรู้จักความหมายของคำว่า ‘เพื่อน’

“ที่นั่นจะมีแต่ผู้พิการเหมือนเรา ก็ทำให้เริ่มมีความกล้า มีความมั่นใจมากขึ้น” รัชนีว่า “ตอนไปเรียนมีเพื่อนมาก ค่อยมีความรู้สึกว่า คนพิการสามารถทำอะไรได้มาก เรากลับมาเจอเพื่อนก็พยายามให้เขาลุกขึ้น คนพิการสามารถทำอะไรได้อีกเยอะแยะ ก็ชวนคนอื่นๆ ในหมู่บ้านลุกขึ้นมา”

ตอนที่อบต.ขุน ทะเล จัดตั้งชมรมคนพิการตำบลขุนทะเลพร้อมๆ กับอาสาสมัครดูแลผู้พิการ รัชนีเดินเข้าไปสมัครเป็นอาสาสมัครดูแลผู้พิการทันที แม้ขาไม่ดี แต่เดินเข้าไปด้วยใจ เป้าหมายคือ ดึงเพื่อนให้ลุกขึ้นมา

โชติมา ทรายขาว เป็นหนึ่งในเพื่อนที่รัชนีเอื้อมมือไปคว้า โชติมามีปมด้อยมาตั้งแต่เด็กไม่ต่างจากรัชนีในวัยเยาว์

“ไม่กล้าสู้หน้าเพื่อน” โชติมาบอก “เกิดมามันมีปมด้อย แขนไม่ดีมาตั้งแต่กำเนิด มือซ้ายอ่อนแรงมีปมด้อยตั้งแต่เด็กๆ ไปโรงเรียนก็อายไม่อยากเล่นกับเพื่อน ปมด้อยมันติดตัว ไม่อยากสมาคมกับใคร แต่ตอนนี้คนพิการตื่นตัว ออกสู่โลกกว้างเยอะตอนนี้ พี่เหมือนคนธรรมดาไม่มีปมด้อยแล้ว เก็บมังคุดได้ พออบต. เขามาจดทะเบียนคนพิการ ตั้งชมรมคนพิการก็ได้ออกไปสู้หน้าพบปะประชาชน”

นอกจากเก็บมังคุดโชติมายังเพาะเห็ดอีกด้วย ทั้งยังทำงานอาสาสมัครดูแลเพื่อนผู้พิการ

“เห็นรัชนีแล้วมีกำลังใจ คนสู้ชีวิตของจริง คนนี้เขาเก่ง” โชติมาชมเพื่อน

ทุกวันพฤหัส รัชนีกับโชติมารวมถึงอาสาสมัครดูแลผู้พิการคนอื่นๆ จะลงพื้นที่เยี่ยมผู้ป่วยผู้พิการ รวมถึงผู้ติดเชื้อ

“เราเอาความพิการของเราไปเล่าให้เขาฟัง ว่าเราก็พิการเหมือนกัน ให้เขากล้าออกมาเผชิญโลก เป้าหมายงานอาสาคือ เพื่อนช่วยเพื่อน ทำให้เขามีความสุข ช่วยเหลือตัวเองได้ไม่ต้องเป็นภาระของบ้านมากนอกจากนี้ เรายังเยี่ยมผู้ป่วยรวมถึงผู้ติดเชื้อด้วย” รัชนีบอก

รัชนีอยู่บ้านคนเดียว เย็บผ้าบ้าง ถ้ามีงานเข้ามา ส่วนงานหลักของเธอคือ งานอาสาเป็นงานแห่งความสุข

“ฉันอยู่บ้านไม่ได้ทำอะไร ถ้ามีงานเย็บผ้าก็ทำอยู่ที่บ้าน ฉันอยู่คนเดียวจึงทำงานอาสาได้เต็มที่ เวลาเราไปหาเพื่อน บางทีเขาก็มีความทุกข์ เราก็ไปบ่อยๆ ให้เขาดีขึ้น บางคนนอนอยู่กับที่ เวลาผ่าน ไปเขาเริ่มนั่งได้แล้ว ฉันไม่ค่อยอยู่บ้านหรอก เพราะเวลาเราอยู่คนเดียวมันคิดมาก ถ้าเราออกจากบ้านไปบ้านคนนั้นคนนี้มันก็ไม่คิด ลืมเรื่องส่วนตัวของเราไปเสีย ถ้าเรามีเพื่อนคุย เวลาฉันไปเยี่ยมเพื่อน เวลาไปปลุกเพื่อนให้เขาลุกขึ้นมาให้มีความสุข ฉันก็มีความสุขไปด้วย” รัชนีบอก

 

 

ที่มา : ปันสุข

Shares:
QR Code :
QR Code