โรงงานผลิตปุ๋ยดิน’นาข้าว’ช่วยชุมชน’หนองสาหร่าย’
ในเวทีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (mou) ขับเคลื่อนโครงการเครือข่ายตำบลสร้างสุข องค์การบริหารส่วนตำบลหนองสาหร่าย อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี โดย สำนักงานสนับสนุนสุขภาวะชุมชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
สมนึก วัฒนชีวโนปกรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลหนองสาหร่าย อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี ผู้ดำรงตำแหน่งนายก อบต.มายาวนานร่วม 3 สมัย และเข้ามาทำงานเพื่อชุมชนตั้งแต่อายุ 66 ปี ตอนนี้อายุ 78 ปีแล้ว แต่ก็ยังทำงานอย่างไม่หยุดยั้งแถมยังเป็นที่รักของคนในชุมชนอีกด้วย
รอยยิ้มบนใบหน้าของนายก อบต.พร้อมกับเสียงหัวเราะกล่าวต้อนรับผู้มาเยือนอย่างอารมณ์ดี เมื่อถูกถามถึงอายุแล้วกล่าวตอบว่า “อายุมากสุขภาพยังใช้ได้” นี่แหละเขาเรียกว่าความภูมิใจที่ได้มีชีวิตอย่างมีคุณค่าใช่ไหม
สมนึก ถึงกับเปล่งเสียงหัวเราะออกมาให้รู้ว่าคำนี้แหละ โดนใจไม่น้อย “เราคิดว่าอะไรที่ชุมชนเราจะได้รับผลประโยชน์ ซึ่งไม่เกี่ยวกับเงินทองนะ เราก็อยากให้ชุมชนได้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น”
แน่นอนว่า ไม่มีใครที่จะอยู่ค้ำฟ้า ดังนั้นการใช้เวลาบนโลกนี้ให้เกิดคุณค่ามากที่สุดนั่นคือสิ่งที่ควรทำ
“เราอายุมาก เราทำงานเพื่อตำบลเท่าที่เราทำได้ เพื่อสิ่งที่ทำจะเป็นตัวอย่างให้ผู้นำรุ่นหลังดู ถ้าเราลาจากโลกนี้ไป อยากให้คนอื่นคิดถึง ว่าถ้าเราอยู่น่าจะช่วยชุมชนได้ ไม่ใช้คิดว่าน่าจะตายๆ ไปดีแล้ว”
“ถ้ามีคนที่มีศักยภาพที่ดีพอ ชาวบ้านไม่เรียกร้องให้ลงต่อแล้ว เราก็ไม่ลงอีกแล้ว เพราะบางทีเราก็เหนื่อยและท้อบ้าง คิดว่าอายุมาก แล้วทำไมเราต้องทำอย่างนี้ ถ้ามีคนที่เห็นประโยชน์ส่วนรวมมาลง เราก็ทำมานานแล้ว อยากให้คนอื่นได้มีโอกาสได้เรียนรู้เช่นกัน”
“คนที่มีศักยภาพที่ว่านั้น ต้องเป็นคนที่ตั้งใจทำงานดี ซื่อสัตย์สุจริต โปร่งใส ไม่เคยถูกร้องเรียน เหตุผลเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ชาวบ้านเลือก ชาวบ้านเดี๋ยวนี้ไม่โง่ เขารู้นะ ว่าจะเลือกหรือไม่เลือกอะไร” สมนึก กล่าว
นอกเรื่องราวผู้นำเป็นแบบอย่างที่ดีแล้ว คนที่นี่เขาก็มีแนวคิดและความอดทนทำงานเพื่อมุ่งสู่ความสำเร็จไม่แพ้ใครเลยทีเดียว อย่างเช่นเรื่อง โรงอาหารดิน หรือที่เรียกว่าการทำปุ๋ยชีวภาพเพื่อบำรุงดิน
ก้านร่ม ภูฆัง หัวหน้ากลุ่มโรงอาหารดินบ้านหนองขุม ต.หนองสาหร่าย อ.ดอนเจดีย์ จ.สุพรรณบุรี บอกเล่าถึงการทำปุ๋ยดินอัดเม็ดว่า เดิมการทำนาใส่ปุ๋ยเคมีทุกปีเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี นานเข้าดินก็เริ่มเสียและเสื่อมสภาพ แข็ง ปลูกพืชพันธุ์ข้าวได้ก็รวงน้อย ต้นใบเหลือง นอกจากนั้นค่าปุ๋ยเคมีที่ใช้ก็ส่งผลถึงต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น
“เมื่อมีปัญหาเหล่านี้ขึ้นมา เราจึงมานั่งคุยกันว่าจะทำอย่างไร เงินก็ไม่เหลือ แล้วก็เลยเกิดการนำรองเริ่มที่ 3 หมู่ก่อน โดยมีคนเข้าเป็นสมาชิกเยอะในตอนแรก แล้วก็มาเหลือ 10 คน โครงการนี้ล้มไปอย่างไม่เป็นท่า เกษตรจังหวัดก็มีโครงการใหม่มาอีก แต่ไม่มีพื้นที่ทำ เลยมาที่บ้านพ่อ ซึ่งครั้งนี้มีสมาชิก 31 คน สมาชิกลองใช้ก่อน ทำไปเริ่มดีก็ซื้อวัตถุดิบ มันได้ผล และปรับปรุงสูตร”
เมื่อทุกอย่างเข้าที่เข้าทางสมาชิกของกลุ่มเริ่มเพิ่มขึ้น สูตรที่ใช้กับดินมีความอุดมสมบูรณ์ปลูกข้าวได้ผลผลิตมากขึ้น แต่ยังมีปัญหา เพราะปุ๋ยบำรุงดินที่ทำอยู่เป็นปุ๋ยผง เวลาหว่านในแปลงนาทำให้ผงเข้าตา และผงเหล่านั้นไปค้างตามยอดข้าว ทำได้ไม่ได้ผลเท่าที่ควร นี่เป็นโจทย์อีกข้อที่ทำให้กลุ่มต้องมานจั่งคบคิดกัน
“เราต้องทำโรงงานจะได้มีที่ปั้นปุ๋ยเม็ด เราก็มาปรึกษาจะทำโรงงานของบจาก อบต. อีกส่วนมาจากสมาชิกที่เพิ่มขึ้น 71 คน ก็มีการระดมหุ้น หุ้นละ 10 บาท สมทบทุนสร้างโรงงาน จึงสามารถสร้างโรงงานได้ บวกกับเงินในชุมชนเรา”
แต่กว่าจะได้โรงงานแห่งนี้มา ก้านร่วมเล่าว่าเงินที่ใช้เหยียบ 400,000 บาท กว่าจะได้เงินนี้มาเป็นสิ่งที่ยากมาก เพราะสมาชิกในกลุ่มรวมทั้งตนเองด้วยไม่มีความรู้ในด้านการเขียนขอเงินงบประมาณ ทำให้ต้องเขียนแก้แล้วแก้อีกหลายครั้ง
“เราไม่มีความรู้ เขียนถึง 3 ครั้งกว่าจะได้ กว่าจะผ่าน กว่าจะเขียนขอเงินงบประมาณได้ เหมือนเป็นครูที่ยิ่งใหญ่เพราะท้อแล้ว แต่คิดว่าลดต้นทุนได้ เขาตั้งใจ เราก็ควรสานฝันให้เขาเป็นจริง สานฝันคนในชุมชนเราต้องยืนคู่กับเขา ดีใจที่ทำได้”
นอกจากนี้แล้วทางกลุ่มปุ๋ยดินที่นี่ยังคิดสูตรต่างๆ ออกมาเองและสอนให้กับชุมชนที่มาขอความรู้อีกด้วย “เราเห็นต้นข้าวคนอื่นแดง ก็จะนำสูตรไปให้เขา บอกเขา การเสียสละเงินที่เขาจะมาซื้อเรากระสอบละ 250 บาท ไม่สำคัญ เราเอาเพื่อนดีกว่า ซึ่งตอนนี้สมาชิกของเราเพิ่มขึ้นเป็น 114 คน แม้ตอนนี้ต้นทุนทำปุ๋ยเพิ่ม กำไรเพิ่ม แต่เราไม่ค้ากำไร ช่วยกัน เราไม่เอาเงินเป็นที่ตั้ง”
เช่นเดียวกับอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้สละเวลาเพื่อทำหน้าที่ดูแลทุกข์สุขของคนในชุมชนกันเอง อย่างบุญยืน ลื่นโป่ง อสม.โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพห่วยมะลอย และวันเพ็ญ วงศ์สุวรรณ อสม. โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพท่ากุ่ม บอกเล่าร่วมกันมา ก่อนเข้ามาเป็น อสม. ตอนแรกไม่ได้มีอุดมการณ์หรือความคิดช่วยชาวบ้านอะไร แต่อยากรู้ว่าหมอทำอะไร หมอพยาบาลหลายคนคงรู้สึกร้อนๆ หนาวๆ กันแล้วละเพราะชาวบ้านเดี๋ยวนี้เขาอยากมีส่วนร่วมอยากรู้ว่าหมอทำอะไรกันในแต่ละวัน
“พอทำเรื่อยๆ นานเข้า เรารู้ว่าเขาทำงานเพื่อชุมชนเรา เราก็อยากช่วยหมอ หมอเรามีไม่เพียงพอ มีหมอโรงพยาบาลละ 4 คนใหม่ๆ ท้อ ชาวบ้านไม่เชื่อ แต่เดี๋ยวนี้ยิ่งทำยิ่งสนุก ตอนแรกทรายอะเบทวางยังไงก็อยู่อย่างนั้น แต่เดี๋ยวนี้ชาวบ้านขอ”
ก่อนที่จะมาถึงวันนี้ที่ชาวบ้านเห็นความสำคัญเรื่องสุขภาพนั้น การทำงานไม่มีอะไรที่ได้มาง่ายดายเลย เพราะจากคำบอกเล่าของ อสม.ทั้ง 2 คนว่า ทำงานกันมากกว่า 20 ปี
“เมื่อก่อนเรียกไม่มาตรวจ ชาวบ้านไม่ให้ความสำคัญ มีโครงการอะไรก็ได้ไม่สนใจ แถมยังบอกว่า กูอยู่ของกูมานานไม่เห็นเป็นโรค อย่างแต่ก่อนคนตรวจมะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก เรียกชาวบ้านยากที่สุด แต่เดี๋ยวนี้ทะลุยอด เมื่อก่อนเขาไม่เห็นความสำคัญของโรค ตอนนี้เรียกชาวบ้านมา ชาวบ้านค่อยๆให้ความสำคัญ”
การใช้ความพยายามและการค่อยๆแทรกซึมสิ่งดีๆ ให้ความรู้และออกเยี่ยมแต่ละครัวเรือนเป็นประจำทุกเดือน โดยการแบ่งแยกคนหนึ่งจะดูแล 9-10 หลังคา เพราะอสม. มีกินกว่า 155 คน ช่วยกันดูแลคนในชุมชน ให้ความเข้าใจที่ถูกต้อง นอกจากนี้แล้ว อสม. ต้องเป็นแบบอย่างที่ดีด้วย
“ก่อนที่แนะนำคนอื่น เราดูแลตัวเองเพื่อเป็นแบบอย่าง ตัวเราเคยเป็นมะเร็งเต้านม ก็ยกตัวเองเป็นแบบอย่าง ให้ชาวบ้านตรวจมะเร็ง และบอกเขาว่า ตอนนี้เรามีปัญหาสุขภาพไม่ใช่เรื่องของหมอ เราต้องเริ่มที่ตัวเองเป็นหลัก เราจะยกกรณีตัวอย่างคนในชุมชนที่รักษาได้กับที่รักษาไม่ได้ให้เห็น แถวนี้ชาวบ้านไม่มีความรู้สุขภาพ พอจะรู้ก็ไปตรวจเจอ มีตัวอย่างให้เห็น จึงทำให้ชาวบ้านเห็นความสำคัญ เราก็ทำงานง่ายขึ้น”
หากคนในชุมชนเองยังไม่ตระหนักที่จะแก้ไขปัญหาของชุมชน แล้ว จะรอใครที่ไหนให้มาเข้าใจปัญหาและหาหนทางแก้ไข เพราะคนในชุมชนเป็นคนกำหนด เรียนรู้ และ แก้ปัญหาร่วมกัน
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ