“เมาแล้วขับ ถูกจับแน่” ชาวต่างชาติยังต้องรู้

เพื่อภาพลักษณ์ที่ดีของไทย ไม่ใช่เฉพาะช่วงเทศกาล

 

 “เมาแล้วขับ ถูกจับแน่” ชาวต่างชาติยังต้องรู้

          การรณรงค์ลดอุบัติเหตุบนท้องถนน ด้วยการใช้คำขวัญว่า “เมาแล้วขับ ถูกจับแน่” จากกรณีเมาแล้วขับรถนั้น ไม่เพียงแต่คนไทยเท่านั้นที่รู้ดีว่า หากถูกจับเป่าและมีระดับแอลกอฮอล์เกินมาตรฐาน จะได้รับโทษปรับ จำคุก หรือถูกคุมประพฤติและบำเพ็ญประโยชน์ต่อสาธารณะ

 

          แต่เวลานี้ นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจำเป็นต้องรู้ด้วย โดยทางมูลนิธิเมาไม่ขับร่วมกับตำรวจท่องเที่ยว จัดทำโครงการให้เยาวชนไทยร่วมส่งคำขวัญ เมาแล้วขับ ถูกจับแน่ ในรูปแบบภาษาต่างประเทศ เพื่อจัดพิมพ์คู่มือเผยแพร่ประชาสัมพันธ์แจกแก่กลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติโดยเฉพาะ

 

          “การรณรงค์เมาไม่ขับแต่เดิมจะมีสื่อภาษาไทยเป็นหลัก เมื่อมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมาเมืองไทยจำนวนมาก จึงมีความคิดว่าน่าจะทำสื่อที่รณรงค์ตามแหล่งท่องเที่ยว อาทิ ถนนข้าวสาร  เกาะสมุย เกาะพงัน อย่างน้อยเพื่อให้ต่างชาติได้รับรู้ว่าการรณรงค์เมาไม่ขับของไทย ได้ทำกันอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศไม่ใช่ทำเฉพาะช่วงเทศกาลหรือเฉพาะช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา”

 

          สุรสิทธิ์ ศิลปงาม ผู้จัดการมูลนิธิเมาไม่ขับ กล่าวถึงโครงการนี้ว่า ภายใต้งบประมาณที่จำกัด แต่ต้องการให้นักศึกษาได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมรณรงค์ด้วย จึงเปิดโอกาสให้เยาวชนได้ร่วมส่งคำขวัญในภาษาต่างประเทศเข้ามา ตอนนี้ผลงานได้มา 15 ภาษา ได้แก่ อิตาลี ฝรั่งเศส เยอรมนี ญี่ปุ่น จีน เกาหลี  พม่า กัมพูชา ลาว มาเลเซีย เวียดนาม สเปน อังกฤษ และเช็ก ซึ่งต่อไปก็จะเป็นฐานข้อมูล หากเป็นไปได้จะพิมพ์ครบทุกภาษาในโลก นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายสำคัญในการให้ชาวต่างชาติได้มีส่วนร่วม และตระหนักถึงโทษจากการเมาแล้วขับในเมืองไทย

 

          “ตอนนี้มีเด็กส่งผลงานมาแล้วจำนวนหนึ่ง ซึ่งทางมูลนิธิฯ อยากรวบรวมให้มากที่สุด และจะทยอยจัดทำสื่อเพื่อรณรงค์ในภาษาต่างๆ ให้มากที่สุด โดยจะเริ่มจากกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเมืองไทยมาก เช่น มาเลเซีย ญี่ปุ่น เกาหลี และสหรัฐอเมริกา โดยท้ายคำขวัญรณรงค์ในภาษาต่างชาติ จะมีการบอกรายละเอียดโทษทั้งปรับ จำคุก และคุมประพฤติ บำเพ็ญสาธารณประโยชน์อย่างละเอียดด้วย”

 

          อย่างไรก็ตาม ชาวต่างชาติส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีปัญหาเพราะไม่ใช้รถ แต่จะมีปัญหากับกลุ่มเช่ารถ ส่วนใหญ่เป็นมอเตอร์ไซค์บิ๊กไบค์ในย่านท่องเที่ยว ซึ่งที่จริงต้องโทษผู้ประกอบการไทยบางส่วนที่ไม่ตักเตือนกลับสนับสนุน

 

          ส่วนตัวเลขเสียชีวิตบาดเจ็บไม่เยอะ เพราะคนต่างชาติมักปกป้องตัวเอง อีกอย่างบ้านเขามีกฎหมายอยู่แล้ว เช่น ที่เกาหลีเมาแล้วขับติดคุก 3 ปี และถ้าชนคนตายติดคุกตลอดชีวิตเลย แต่พวกที่มาเที่ยวแบบหลุดโลก เมาแล้วขับจนถึงขั้นเจ็บเสียชีวิตก็มี

 

          ผู้จัดการมูลนิธิฯ ระบุว่า ยอดชาวต่างชาติที่ประสบอุบัติเหตุเมาแล้วขับขี่ยานพาหนะมักเป็นชาวญี่ปุ่น แต่มีจำนวนไม่มากนัก ส่วนนักท่องเที่ยวที่ถูกคุมประพฤติรุ่นหนึ่งจะมีคนสองคนหรือไม่มีเลย โดยเฉลี่ยอยู่ที่ราว 3 – 4 คน ต่อเขตต่อปี เฉพาะเขตท่องเที่ยวเป็นส่วนใหญ่

 

          “เราอยากชี้แจงให้เขาทราบว่า หากทำผิดจะโดนลงโทษเหมือนคนไทยทุกอย่าง แม้มีกำหนดกลับประเทศก็จะต้องกลับมารับโทษ ถือเป็นความผิดติดตัว ดังนั้นมันจะยุ่งยากต่อตัวเขาเอง” ทั้งนี้ สื่อรณรงค์ เมาไม่ขับ ฉบับอินเตอร์ คาดว่าจะมีการจัดทำขึ้นทุกประเภทภายในเดือนมิถุนายน ภายหลังปิดรับข้อความจากนักศึกษาวันสุดท้าย 31 พฤษภาคมนี้

 

          พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 160 ตรี ผู้ใดฝ่าฝืนขับขี่รถขณะเมาสุราหรือของเมาอย่างอื่นต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับตั้งแต่ 5,000 – 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งพักใช้ใบอนุญาตขับขี่ไม่น้อยกว่า 6 เดือน

 

          กรณีเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจโทษจะหนักขึ้นไปอีก เป็นจำคุกตั้งแต่ 1 – 5 ปี ปรับตั้งแต่ 20,000 – 100,000 บาท พักใบอนุญาตขับขี่ไม่น้อยกว่า 1 ปี แต่ถ้าทำให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสจำคุกตั้งแต่ 2 – 6 ปี ปรับตั้งแต่ 40,000 – 120,000 บาท พักใช้ใบอนุญาตขับขี่ไม่น้อยกว่า 2 ปี หรือเพิกถอนใบอนุญาตขับขี่ และถ้าเป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียชีวิต ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 – 10 ปี ปรับตั้งแต่ 60,000 – 200,000 บาท

 

          มูลนิธิเมาไม่ขับได้จำแนกประเภทเหยื่อเมาแล้วขับออกเป็น 2 รูปแบบ คือ แบบที่เมาแล้วขับเอง กับแบบที่ไม่เมาแต่เกิดอุบัติเหตุจากคนเมา ที่ผ่านมาสถิติผู้เสียชีวิตบนท้องถนนถึงขั้นบาดเจ็บและเสียชีวิต มีจำนวนมากกว่าหมื่นรายต่อปี ส่วนยอดผู้พิการจากกรณีเมาแล้วขับ อยู่ที่ 60,000 คน (ปี 2544 -ปัจจุบัน) และหากแบ่งตัวเลขเหยื่อที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ต้องมาพิการ จะคิดได้ราวร้อยละ 30 ของทั้งหมด

 

          สุรสิทธิ์ ได้ประเมินตัวเลขเฉลี่ยของผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากเหตุเมาไม่ขับว่า ยังอยู่ในระนาบสูงและไม่อาจลดลงได้รวดเร็ว จึงต้องมีการดำเนินการรณรงค์กันอย่างต่อเนื่อง ปัญหาคือคนไทยยังไม่สนใจในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเมาแล้วขับ คิดว่าทำได้เป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องของพฤติกรรมคนในสังคมไทย โดยเฉพาะในต่างจังหวัด งานเทศกาลยังคงยึดค่านิยมดื่มเหล้าเฉลิมฉลอง

 

          โทษเมาไม่ขับ ห้ามหลบ ห้ามหนี คำเตือนจากผู้จัดการมูลนิธิเมาไม่ขับบอกว่า ชาวไทยโดยเฉพาะวัยรุ่นหลายคนที่ถูกจับข้อหาเมาแล้วขับ มีโทษปรับ รอลงอาญา และบำเพ็ญสาธารณประโยชน์

 

          “คนต่างชาติไม่เท่าไหร่ แต่คนไทยบางคนถูกคุมประพฤติแต่กลับไม่ติดต่อศาล ไม่ไปบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ ถือว่าละเมิดคำสั่งศาล ถ้าไม่ทำตามเงื่อนไข คดียังไม่สิ้นสุด เมื่อคดีค้างศาล เจ้าหน้าที่จะทำการรื้อคดี ถ้าหากพบ ศาลจะออกหมายจับตกเป็นผู้ต้องหาทันที”

 

          ทั้งนี้ สาเหตุหลักที่เกิดกรณีหลบหนีไม่ชดใช้ความผิดจำนวนมาก เชื่อว่าเป็นเพราะรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ทำงาน หลงลืมหรือลางานไม่ได้ จึงผัดผ่อนกระทั่งเลยช่วงเวลา ทำให้คิดว่าคดีจบไปโดยปริยาย ซึ่งไม่เป็นความจริง

 

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

 

 

Update 22-05-52

อัพเดทเนื้อหาโดย : อารยา สิงห์สวัสดิ์

Shares:
QR Code :
QR Code