เปิดโลกเงียบ รู้ทันรัก เซ็กส์ไม่เซฟ
เรื่องโดย ฉัตร์ชัย นกดี Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลคลิปวิดีโอ “สื่อใจวัยรุ่น” จากโครงการพัฒนารูปแบบและกระบวนการ ในการดูแลและส่งเสริมสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์ และสุขภาวะทางเพศสำหรับผู้หญิงพิการ
ภาพโดย นัฐพร ชุ่มลือ Team Content www.thaihealth.or.th และแฟ้มภาพ
แฟ้มภาพ
ใกล้เข้ามาแล้ว สำหรับ “วันคนพิการแห่งชาติ”
กำหนดให้ตรงกับเสาร์ที่ 2 พฤศจิกายนของทุกปี โดยปีนี้ตรงกับวันที่ 9 พฤศจิกายน 2562 เพื่อสร้างความตระหนักและช่วยเหลือสนับสนุน คนพิการให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
วันนี้ทีมเว็บไซต์ สสส. มีเรื่องราวของผู้พิการทางการได้ยิน ที่จะมีช่องทางในการเรียนรู้เรื่องเพศอย่างถูกต้อง ก่อนที่วัยรุ่นจะไปเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างผิดๆ มาฝากกัน
“เมื่อก่อนไม่มีความรู้เรื่องเพศเลย ไม่เข้าใจและอายที่จะบอกหรือสื่อสารกับคนอื่น แต่หลังจากที่ได้รับการอบรม ทำให้เข้าใจมากยิ่งขึ้น ทั้งเรื่องการเปลี่ยนแปลงของร่างกายเมื่อเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์ รู้จักการใช้ถุงยางอนามัยและยาคุมกำเนิด รวมไปถึงความรู้ในการป้องกันภัยคุกคามทางเพศ”
เป็นเสียงสะท้อนผ่านล่ามภาษามือจาก “น.ส.ปริญาดา มาตย์มาลี” นักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน จากโรงเรียนโสตศึกษาจังหวัดชลบุรี ซึ่งผ่านโครงการพัฒนารูปแบบและกระบวนการ ในการดูแลส่งเสริมสุขภาพอนามัยเจริญพันธุ์ และสุขภาวะทางเพศสำหรับผู้หญิงพิการ
จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) บริษัท อินคลูซีฟ คอมมูนิเคชั่น จำกัด
จากสถิติรายงานข้อมูลสถานการณ์ด้านคนพิการในประเทศไทย โดย กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ณ วันที่ 30 กันยายน 2562 พบว่า เฉพาะผู้พิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมาย ปัจจุบันมีจำนวน 375,665 คน เป็นวัยรุ่น อายุ 15- 21 ปี มากถึง 6,292 คน
“ความคิดที่ว่าผู้พิการไม่มีความต้องการทางเพศ หรือไม่สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ ไม่จำเป็นต้องรู้ หรือเลยไปถึงการห้ามไม่ให้คนพิการมีลูก ทัศนคติเหล่านี้ส่วนหนึ่งมาจากสังคม ที่ยังขาดความเข้าใจต่อผู้พิการ”
เป็นความเห็นจาก “นางภรณี ภู่ประเสริฐ” ผอ.สำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. พร้อมให้ข้อมูลว่า เด็กหูหนวกมีความรู้เรื่องเพศอยู่บ้าง แต่เป็นความรู้แบบรู้ไม่ครบ รู้คลาดเคลื่อน เช่น เชื่อว่าหากทานยาคุมกำเนิดมากเกินไปจะทำให้เป็นบ้า
หรือเชื่อว่านั่งติดกับคนมีเชื้อโรคเอดส์จะทำให้ติดเอดส์ได้ และเชื่อว่าการมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน จะไม่ทำให้ติดโรคเอดส์
เด็กเกือบทุกคนมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน บางครั้งมีเพศสัมพันธ์แบบไม่พร้อม เช่น การหลั่งนอก ไม่ใช้ถุงยางอนามัย เพราะเชื่อใจคนรัก หรือบางครั้งไม่ได้เตรียมไว้ หรือคนรักไม่ชอบใส่ถุงยางอนามัย
ด้วยข้อจำกัดทางการได้ยิน ทำให้เด็กหูหนวกเข้าไม่ถึงข้อมูลเรื่องเพศเชิงบวก ขาดประสบการณ์ และข้อมูลเรื่องเพศที่ถูกต้อง เข้าไม่ถึงบริการสุขภาพทางเพศ เสี่ยงต่อการถูกเอาเปรียบและล่วงละเมิดทางเพศ
ด้าน “ผศ.ศิวนารถ หงส์ประยูร” คณะนิเทศศาสตร์ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ บอกว่า เด็กหูหนวกจนถึงวัยรุ่น มีความสนใจเรื่องเพศและสุขภาวะทางเพศแต่ยังขาดสื่อที่สร้างความเข้าใจและเข้าถึงข้อจำกัดด้านหูหนวก จึงร่วมกับ สสส. พัฒนา “สื่อใจวัยรุ่น”
เป็นสื่อวีดีโอเกี่ยวกับสุขภาวะทางเพศ ที่ใช้ภาษามือเป็นหลัก จำนวน 4 คลิป ได้แก่ 1.การเปลี่ยนแปลงร่างกายเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น 2. เพศสัมพันธ์มีเมื่อพร้อม 3. เพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย 4. ทุกปัญหามีทางออก
เพื่อให้เด็กหูหนวกสามารถทำความเข้าใจเรื่องเพศเชิงบวกได้อย่างถูกต้อง เข้าใจง่าย นอกจากนี้ยังมีคู่มือในการใช้งานสื่อวิดีโอ หรือคลิป “สื่อใจวัยรุ่น” สำหรับครู หรือผู้ใหญ่ในการนำไปใช้สอน และทำความเข้าใจเรื่องเพศกับเด็กหญิงหูหนวก
คลิปวิดีโอสุขภาวะทางเพศ แบบฉบับภาษามือ ที่ว่านี้ ประกอบไปด้วย
1. การเปลี่ยนแปลงร่างกายเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น
ทำความเข้าใจถึงสภาวะทางร่างกายของตน ที่มีความแตกต่างทางด้านการได้ยิน
ซึ่งไม่ถือว่าเป็นปัญหาที่เกิดจากตนเอง และถึงแม้ว่าจะมีความแตกต่างทางด้านภาวะการได้ยิน แต่สิ่งที่เหมือนกับเด็กทั่วไป คือ มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านฮอร์โมนเพศ เป็นผลให้ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติ
สื่อใจวัยรุ่น ตอนที่ 1 การเปลี่ยนแปลงร่างกายเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น
2. ตระหนักถึงสิทธิและเสรีภาพของร่างกายที่เราเป็นเจ้าของ
ทำความเข้าใจว่าเรื่องความต้องการมีเพศสัมพันธ์เป็นเรื่องธรรมชาติ เกิดจากการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมน ทั้งการมีเพศสัมพันธ์กับต่างเพศหรือเพศเดียวกัน
ทุกคนมีสิทธิในร่างกายของตนเอง ที่จะเลือกตกลงหรือปฏิเสธ ดังนั้นการมีเพศสัมพันธ์ จึงควรตั้งอยู่บนความยินยอมพร้อมใจของทั้งสองฝ่ายโดยปราศจากความรุนแรง รู้จักวิธีการปฏิเสธเมื่อไม่พร้อมหรือไม่ต้องการ
สื่อใจวัยรุ่น ตอนที่ 2 เพศสัมพันธ์ มี เมื่อพร้อม
3. รู้เท่าทันสถานการณ์ต่างๆ ที่อาจนำไปสู่ปัญหาจากการมีเพศสัมพันธ์
ทำความเข้าใจถึงการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย หลีกเลี่ยงความเสี่ยงในการตั้งครรภ์เมื่อไม่พร้อม โดยเรียนรู้วิธีการคุมกำเนิดที่ถูกต้อง วิธีการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ทั้งต่างเพศและเพศเดียวกัน
สื่อใจวัยรุ่น ตอนที่ 3 เพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย
4. รับมือได้กับปัญหาที่เกิดขึ้น หรือชีวิตที่เปลี่ยนไปหลังมีเพศสัมพันธ์
วิธีปฏิบัติเบื้องต้นเมื่อเกิดปัญหาที่เกิดจากการมีเพศสัมพันธ์ ได้แก่ ถูกใช้ความรุนแรง ถูกข่มขืน การตั้งครรภ์โดยไม่พร้อม และการติดโรคจากการมีเพศสัมพันธ์
สื่อใจวัยรุ่น ตอนที่ 4 : ทุกปัญหามีทางออก
ผศ.ศิวนารถ อธิบายว่า “สื่อใจวัยรุ่น” มีลักษณะเด่นจากคลิปอื่นๆ โดยเป็นคลิปภาษามือขนาดเต็มจอที่นำเสนอโดยคนหูหนวกเอง ไม่ใช่ล่ามภาษามือ
ซึ่งต่างจากที่เราเคยเห็นกันในโทรทัศน์ ที่จะมีคนสื่อภาษามืออยู่ตรงมุมจอเล็กๆ ขณะที่เทคนิกการนำเสนอถูกปรับมา เพื่อให้สอดรับกับการรับรู้สื่อของคนหูหนวก รวมถึงภาษามือที่ใช้ ก็ได้รับการตรวจสอบจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้สามารถสื่อสารกับคนหูหนวกได้จริงๆ
ด้วยข้อจำกัดทางการได้ยิน ทำให้กลุ่มผู้หญิงหูหนวกจำนวนมากเข้าไม่ถึงข้อมูลเรื่องเพศ จึงมีโอกาสสุ่มเสี่ยงต่อการถูกล่วงละเมิดทางเพศ เชื่อว่า“สื่อใจวัยรุ่น” คลิปวิดีโอภาษามือเกี่ยวกับสุขภาวะทางเพศ จะช่วยทำให้มีหลักคิดวิเคราะห์ในการป้องกันตัวเอง ตลอดจนการมีเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัย
สสส. สนับสนุนการเปิดพื้นที่เพิ่มความฉลาดรู้เรื่องเพศ เพื่อป้องกันและแก้ปัญหาท้องไม่พร้อมในวัยรุ่นอย่างยั่งยืน