เปิดเวที “สานพลังชุมชนท้องถิ่น” ปี 68 สร้างฐานรากชุมชนสู่การจัดการสุขภาวะอย่างยั่งยืน
ที่มา : สำนักข่าวสร้างสุข
ภาพประกอบจาก สสส.
เริ่มแล้ว เวที “สานพลัง ปี 2568” รวมพลังภาคีสร้างเสริมสุขภาพทั่วประเทศ สร้างระบบสุขภาพใหม่ จากฐานรากสู่ชุมชนจัดการสุขภาวะตนเองอย่างยั่งยืน สสส.–ภาคีเครือข่าย 3,658 ชุมชนท้องถิ่น ผนึกกำลัง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น – สภาพัฒน์ เปิดเวที “สานพลัง สร้างนวัตกรรม สู่สุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน” ยกระดับนโยบายสาธารณะด้านสุขภาพจากชุมชนสู่ประเทศ
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 3 ก.ค. 2568 ที่ ห้องรอยัล จูบิลี่ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับหน่วยงานร่วมจัดเวที 9 หน่วยงาน อันประกอบด้วย 1) กระทรวงสาธารณสุข 2) กระทรวงมหาดไทย 3) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 4) สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 5) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 6) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ 7) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) 8) กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา และ 9) สำนักงานกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ และเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ ภาครัฐ เอกชน ภาคประชาสังคม กว่า 3,000 คนทั่วประเทศ เปิดเวที “สานพลัง สร้างนวัตกรรม สู่สุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน ปี 2568” วาระ “พลังชุมชนท้องถิ่นอภิวัฒน์ระบบสุขภาวะประเทศ” สู่การเปลี่ยนแปลงระบบและโครงสร้างสุขภาพของประเทศ โดยมีภาคีเครือข่ายเข้าร่วมกว่า 500 แห่ง รวมทั้งสิ้น 3,090 คน
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า งานสานพลัง สร้างนวัตกรรม สู่สุขภาวะชุมชนที่ยั่งยืน รวมผู้คนจากทุกภาคส่วนที่เชื่อมั่นในพลังของชุมชนท้องถิ่น สสส. จัดเวทีนี้ต่อเนื่องเข้าสู่ปีที่ 14 เริ่มต้นจากการฟื้นพลังของชุมชนหลังวิกฤตน้ำท่วมใหญ่เมื่อปี 2554 พัฒนาเครือข่ายชุมชนทั่วประเทศที่สามารถ ‘ลุกขึ้นจัดการสุขภาวะของตนเอง’ ได้อย่างแท้จริง ปัจจุบันไทยเผชิญโจทย์ใหม่ที่ซับซ้อนมากขึ้น ทั้งโรคไม่ติดต่อ (NCDs) ความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพ ภาวะสูงวัย วิกฤตสุขภาพจิต ปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กระทบวิถีชีวิตของผู้คนโดยตรง ซึ่งระบบสุขภาวะจำเป็นต้องเริ่มจากชุมชน และขับเคลื่อนด้วยพลังของชุมชน โดย สสส. ขับเคลื่อน สานพลัง สนับสนุนให้ภาคีในทุกระดับ ตั้งแต่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาสังคม หน่วยงานรัฐ จนถึงภาควิชาการ ได้มาแลกเปลี่ยน เชื่อมโยง และสร้างนวัตกรรมร่วมกัน โดยมีจุดร่วมเดียวกันคือ ‘การทำให้คนในพื้นที่สามารถจัดการสุขภาพได้ด้วยตนเอง ในการสร้างเสริมสุขภาวะองค์รวม’
“สสส. ร่วมกับเครือข่ายร่วมสร้างชุมชนท้องถิ่นน่าอยู่ 3,658 ตำบลทั่วประเทศ ผลักดันการทำงานที่ใช้พื้นที่เป็นฐาน (Area-based health system) พัฒนาเครื่องมือวิชาการสำหรับชุมชนท้องถิ่น ออกแบบโมเดลตำบลสุขภาวะ ผ่านการพัฒนาและนำใช้ข้อมูล การเสริมสร้างศักยภาพผู้นำชุมชนท้องถิ่น และการหนุนเสริมกลไกระดับจังหวัด เวทีปีนี้ได้เปิดพื้นที่ให้เกิด ‘12 ห้องย่อยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ปฏิบัติการสุขภาวะชุมชนสู่เป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ’ ซึ่งล้วนเป็นประเด็นที่ชุมชนขับเคลื่อนให้เกิดรูปธรรมการทำงาน เช่น การรับมือภัยพิบัติ ความปลอดภัยทางถนน บุหรี่ไฟฟ้า หนี้ครัวเรือน ระบบดูแลผู้สูงอายุ การสร้างความมั่นคงด้านอาหาร ทุกห้องย่อยมีผู้ปฏิบัติในพื้นที่จริงมาร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ร่วมถอดบทเรียนจริงจากพื้นที่ สู่การออกแบบทิศทางร่วมกัน เพื่อขยายผลไปทั่วประเทศ” นพ.พงศ์เทพ กล่าว
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวต่อว่า แนวทางสำคัญต่อการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงทางสุขภาพ ผ่านกรอบคิดเชิงยุทธศาสตร์ที่เรียกว่า “DOPA-Driven Strategy” ซึ่งประกอบด้วยองค์ประกอบหลัก 4 เรื่อง ได้แก่ D – Data Driven : การใช้ข้อมูลเป็นฐานในการวิเคราะห์ วางแผน และตัดสินใจ O – Outcome Driven : การมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ที่สามารถวัดได้ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว P – Partner Driven: การร่วมมือกับเพื่อนภาคีเครือข่ายในทุกระดับ เพื่อเสริมพลังให้เกิดผลลัพธ์ที่แท้จริง และ A – AI Powered: การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยเฉพาะปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและการตัดสินใจเชิงระบบ ด้วยยุทธศาสตร์ DOPA นี้ เราจะสามารถออกแบบและขับเคลื่อนนโยบายสุขภาพที่เท่าทันต่อยุคสมัย เชื่อมโยงพลังของข้อมูล เทคโนโลยี และชุมชนท้องถิ่น เข้าด้วยกันอย่างมีพลัง เพื่อมุ่งสู่การเปลี่ยนแปลงที่วัดผลได้ และยั่งยืนได้จริง มุ่งหวังการประชุมครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นของการสานพลังจากทุกภาคส่วน เพื่อเสริมสร้างสุขภาวะชุมชนที่เข้มแข็ง และร่วมกันอภิวัฒน์ระบบสุขภาวะของประเทศต่อไป
นางสาวธิดา ไกรนรา รองหัวหน้าผู้ตรวจราชการกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กระทรวงมหาดไทย(มท.) กล่าวว่า ระบบสุขภาวะไทยจะเปลี่ยนแปลงได้ ต้องเริ่มจากการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นเป็น ‘ผู้จัดการสุขภาพ’ อย่างแท้จริง สถ. มีบทบาทสำคัญในการออกแบบนโยบาย พัฒนาศักยภาพองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ ให้สามารถลุกขึ้นมาแก้ปัญหาสุขภาพของตนเองได้ การจัดการสุขภาวะในพื้นที่ ไม่สามารถใช้แนวคิดจากส่วนกลางเพียงอย่างเดียวได้ ท้องถิ่นต้องเป็นผู้ออกแบบระบบบริการสาธารณะที่ตอบโจทย์ประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง ทั้งเรื่องผู้สูงอายุ การดูแลต่อเนื่อง การเข้าถึงบริการฉุกเฉิน ปัญหาโรคไม่ติดต่อ ต้องมีเครื่องมือและบุคลากรที่เพียงพอในการจัดการอย่างเป็นระบบ สถ. จะผลักดัน ยุทธศาสตร์ “สุขภาวะโดยชุมชนท้องถิ่น” ร่วมกับ สสส. ภาคีเครือข่าย และองค์กรต่าง ๆ เพื่อให้ทุกท้องถิ่นสามารถออกแบบแผนงานด้านสุขภาพของตนเองได้ และขับเคลื่อนสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ของประเทศ
นางสาวจินนา ตันศราวิพุธ ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ได้กำหนดให้พื้นที่เป็นฐานหลักของการพัฒนา โดยเฉพาะในมิติสังคมและสุขภาวะ เพราะปัญหาในแต่ละพื้นที่มีความเฉพาะตัวสูง การวางนโยบายจากส่วนกลางอย่างเดียวไม่เพียงพออีกต่อไป ปัจจุบันชุมชนไม่ใช่เพียงผู้รับนโยบาย แต่คือผู้กำหนดอนาคตตนเอง เวทีนี้คือจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ ที่จะสร้างระบบสุขภาวะแบบใหม่ ที่ทุกคนมีบทบาท ทุกกลุ่มมีเสียง และทุกพื้นที่สามารถจัดการสุขภาพของตนได้ตามบริบทของตนเอง สศช. จะประสานกลไกจากระดับชาติสู่ท้องถิ่นอย่างไร้รอยต่อ ผ่านการสนับสนุนแผนงาน การปรับปรุงกฎหมาย และการจัดการทรัพยากรในเชิงพื้นที่อย่างยั่งยืนและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาแบบ “Bottom-up” จากล่างขึ้นบนอย่างแท้จริง