เทศกาลข้าวใหม่ สร้างความมั่นคงทางอาหารที่ยั่งยืน
เรื่องโดย ฉัตร์ชัย นกดี Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลประกอบจาก มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย)
ภาพโดย ปารมี ขันธ์แก้ว Team Content www.thaihealth.or.th
เมืองไทยได้ชื่อว่าเป็นเมืองอู่ข้าวอู่น้ำ ดังคำกล่าวที่ว่าในน้ำมีปลาในนามีข้าว สื่อได้ถึงความมั่นคงทางอาหารอุดมสมบูรณ์ อย่างไรก็ตามการจะรักษาเอาไว้ให้คงอยู่ถึงคนรุ่นหลัง แนวคิดเรื่องการทำเกษตรแบบยั่งยืน เป็นสิ่งที่หลายฝ่ายเห็นตรงกัน และพยายามส่งเสริมตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา
นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) ภายใต้ความร่วมมือกับโครงการสวนผักคนเมือง พร้อมด้วยภาคีต่างๆ รวมถึงสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดงานเทศกาลข้าวใหม่ ประจำปี 2565 “จากต้นทางหลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน สู่ข้าวใหม่กรุ่นกลิ่นในจาน” โดยหนึ่งในความน่าสนใจของงานอยู่ที่เวทีเสวนาเรื่อง “ทางฝันวันนี้ของข้าวพื้นบ้านไทย” ที่จะช่วยชี้ให้เห็นถึงสำคัญของข้าวที่มีต่อความมั่นคงทางอาหาร
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า สสส. สนับสนุนการจัดกิจกรรมเทศกาลข้าวใหม่ ซึ่งถือเป็นการส่งเสริมความหลากหลายทางทรัพยากรอาหาร และสืบสานวัฒนธรรมอาหารท้องถิ่น อันเป็นรากฐานสำคัญของการสร้างความเข้มแข็งของระบบอาหารชุมชนสู่ระบบอาหารที่ยั่งยืนของสังคมไทย กิจกรรมดังกล่าวยังเป็นการสานเสริมพลังผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในระบบอาหาร ตั้งแต่การผลิต การกระจาย และการบริโภค ด้วยการแลกเปลี่ยนแนวคิด องค์ความรู้ และสื่อสารสร้างความรอบรู้ในวิถีการผลิตและการบริโภคอย่างยั่งยืน
“ข้าวใหม่ คือข้าวที่เก็บเกี่ยวใหม่ๆ มีระยะเวลาไม่เกิน 3-4 เดือน อย่างมีคำเปรียบเปรยสำหรับคู่แต่งงานใหม่ว่าข้าวใหม่ปลามัน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีความสุขมาก แต่สำหรับชาวนาแล้วจะหมายถึงการได้กินข้าวใหม่ๆ ปลามันๆ และจะได้หยุดพักจากการทำนา จึงถือเป็นช่วงที่ชาวนามีความสุขที่สุด” เป็นความเห็นจาก อ.เดชา ศิริภัทร ผู้อำนวยการมูลนิธิข้าวขวัญ จ.สุพรรณบุรี
อ.เดชา เล่าว่า แต่เดิมการทำนาจะทำปีละครั้ง เรียกว่านาปี ชาวนาส่วนใหญ่จะเลือกปลูกข้าวหลากหลายสายพันธุ์ ที่เรียกกันตามการเจริญเติบโตและการเก็บเกี่ยว คือ ข้าวเบา ข้าวกลาง ข้าวหนัก ซึ่งข้าวเบาเป็นข้าวอายุสั้นระยะการเก็บเกี่ยวไม่เกินเดือนตุลาคม ส่วนข้าวกลางระยะเก็บเกี่ยวเดือนพฤศจิกายน และข้าวหนักเก็บเกี่ยวเดือนธันวาคมเป็นต้นไป การปลูกเช่นนี้ทำให้มีข้าวกินตลอดทั้งปี
นอกจากนี้ข้าวยังคงผูกพันกับวิถีชีวิตของชาวนาในบางส่วนถึงแม้ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ยังคงเห็นการเฉลิมฉลองข้าวใหม่ เห็นพิธีกรรมเคารพแม่โพสพ พิธีเอาข้าวเข้ายุ้ง หรือการนำข้าวใหม่ทำบุญเลี้ยงพระ ฯลฯ ที่หลงเหลือหรือมีการฟื้นคืนกลับมา
ผู้บุกเบิกเกษตรกรรมทางเลือกในประเทศไทย เล่าว่า ปัจจุบันการปลูกข้าวได้เปลี่ยนไปเป็นปลูกเพื่อการค้า มีการปรับปรุงพันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตสูง จึงต้องเร่งการใช้ปุ๋ยเคมี ดังนั้น “ข้าวใหม่” จึงแถบไม่มีความหมายเพราะสามารถปลูกข้าวได้ทั้งปี เกี่ยวเสร็จก็เข้าโรงสีไปขาย อันเป็นสาเหตุที่พิธีกรรมต่างๆ หายไปหมด และทำให้ชาวนาตกอยู่ท่ามกลางกระแสการพัฒนาที่ไม่สามารถกำหนดวิถีชีวิตเองได้
อ.เดชา ฝากข้อคิดถึงคนรุ่นใหม่ ที่จะมาสืบสานวิถีชาวนาไทยว่า
1. ต้องเรียนรู้เชื่อมโยงเรื่องราวต่างๆ จากคนรุ่นเก่ามาสู่ปัจจุบัน แล้วเลือกว่าส่วนใดเหมาะสมที่จะพัฒนาเพื่อเพิ่มมูลค่าข้าวให้มากขึ้น เช่น การแปรรูปข้าวให้หลากหลาย ทั้งเป็นเครื่องดื่ม เป็นยา หรือทำขนม
2. รู้จักเพิ่มเรื่องราวของข้าวเข้าไป เช่น ความเป็นมา ความเชื่อ วัฒนธรรมที่เกี่ยวกับข้าว มาใช้ประโยชน์เพื่อให้เกิดการตระหนักและเห็นความสำคัญของข้าวที่เป็นชีวิต มากกว่าเพียงแค่การค้าขาย
3. ฟื้นสายพันธุ์ข้าวที่สูญหายไป ให้คืนกลับมาสู่ความหลากหลายของพันธุ์ข้าวให้มากที่สุด
4. ส่งเสริมการรักษาสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย และฐานเกษตรกรรมที่นำไปสู่ความมั่นคงและยั่งยืน
งานเทศกาลข้าวใหม่ นับเป็นกิจกรรมเล็กๆ ที่มีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ โดยเฉพาะการอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นบ้านให้คงอยู่ต่อไป และถือเป็นหลักประกันความมั่นคงทางอาหารของคนไทยทุกคน
อย่างไรก็ตามการสร้างพื้นที่ความมั่นคงทางอาหาร เราสามารถทำได้ตั้งแต่ระดับชุมชน โดย สสส.และภาคีเครือข่าย ได้ทำงานเรื่องอาหารมาตลอด เช่น การสร้างแหล่งปลูกพืชผักปลอดสารพิษ ส่งเสริมการเกื้อหนุนโดยชุมชน เพื่อช่วยให้ทุกคนได้มีแหล่งอาหารที่ดีและเพียงพออย่างยั่งยืน