หนุนแรงงานข้ามชาติ รู้สู้โควิด-19

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์


หนุนแรงงานข้ามชาติ รู้สู้โควิด-19 thaihealth


แฟ้มภาพ


โควิด-19 ระบาดระลอก 2 คนไทยมีความรู้การป้องกันสุขภาพอย่างพพถูกต้องจากสื่อต่าง ๆ รวมทั้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข แต่แรงงานข้ามชาติขาดสื่อที่เป็นภาษาที่เข้าใจได้ ประกอบกับด้วยข้อจำกัดทางภาษาของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขไทยที่ไม่สามารถสื่อสารภาษาของแรงงานข้ามชาติได้


สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เข้าไปหนุนเสริมให้เกิดการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายและแกนนำสุขภาพ ในพื้นที่สนับสนุนให้มีอาสาสมัครแรงงานต่างด้าว (อสต.) เพื่อไปสื่อสารการป้องกันโรคเพื่อสุขภาวะที่ดีในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ โดยได้ร่วมกับคณะเวชศาสตร์เขตร้อน ม.มหิดล จัดทำโครงการการสร้างเสริมสุขภาวะองค์รวมในชุมชนคนไทยและเมียนมา ตั้งแต่ปี 2559 ในพื้นที่ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี และพื้นที่ จ.สมุทรสาคร


ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ สสส. กล่าวว่า อสต. เป็นกลไกสำคัญ การขับเคลื่อนเรื่องสุขภาวะของแรงงานข้ามชาติ ซึ่ง อสต. ส่วนใหญ่เป็นผู้นำในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ที่มีจิตอาสาเสียสละและมีพื้นฐานความรู้ด้านสุขภาพ


แต่ปัจจุบันทั่วประเทศไทยมี อสต. เพียง 4,000 คนต่อแรงงานถึง 2.5-3 ล้านคน ยังไม่พูดถึง อสต. ระดับคุณภาพที่มีศักยภาพจริง ดังนั้น นอกจากการปรับหลักสูตรจาก 40 ชั่วโมง เป็น 10 ชั่วโมงและปรับการอบรมแบบออนไลน์ เพื่อเพิ่มจำนวน อสต. ให้ครอบคลุมแล้ว สสส.และภาคี ยังให้ความสำคัญในการผลักดันนโยบายการรับรองสถานะของ อสต. เหล่านี้ ซึ่งไม่มีสิทธิตามกฎหมายบ้านเรา


"การรับรองสถานะบางอย่างให้เขา อาจทำให้เป็นไปได้ที่จะใช้เงินกองทุนสนับสนุนการดำเนินการแทนเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเมืองไทย หรือเข้าถึงกองทุนเงินทดแทนเพื่อคุ้มครองจากอุบัติเหตุในการทำงาน สิทธิต่าง ๆ เหล่านี้มองว่าจะช่วยสร้างแรงกระตุ้น กำลังใจให้เขาและพัฒนาศักยภาพได้มากขึ้น"


อย่างไรก็ตาม จากการดำเนินโครงการฯ เน้นสร้างผู้นำการเปลี่ยนแปลง สร้างเครือข่ายประสานความร่วมมือกับ รพ.สต. และสร้างสื่อใช้ภาษาและวิธีการนำเสนอที่แรงงานต่างด้าวเข้าใจการป้องกันโรค


ด้านผศ.ดร.ดำรงเกียรติ อาญหาญ คณะเวชศาสตร์เขตร้อน ม.มหิดล ในฐานะผู้ประสานงานโครงการเล่าว่า จากการเก็บข้อมูลพบว่าความรอบรู้ด้านสุขภาวะของแรงงานข้ามชาติมีค่อนข้างน้อย เพราะมีการศึกษาต่ำ ไม่ได้เรียนหนังสือ หรือมีการศึกษาเพียงระดับประถมศึกษา ทำให้มีความรู้ด้านสุขภาพน้อยตาม จึงไม่สามารถดูแลตัวเองได้ดีเท่าที่ควร เมื่อแรงงานต่างด้าวเข้ามาในประเทศเราจึงมีปัญหาเพราะระบบยังไม่มีกลไกในการสื่อสารสุขภาพเรื่อง การระบาดของโรคโควิด-19 เห็นได้ชัดว่าเขาไม่รู้ว่าจะป้องกันตัวเองอย่างไร ทำให้เกิดการระบาดอยู่ในวงกว้าง ประกอบกับสภาพความเป็นอยู่ที่ค่อนข้างแออัด


เมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 สสส. โดยสำนัก 9 จึงสนับสนุนงบประมาณจัดทำสื่อ ซึ่งทำทั้งสื่อภาษาเมียนมา กัมพูชา ลาว และอังกฤษ ซึ่งเมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 ระลอกสองได้จัดทำคลิปวิดีโอลงในสื่อโซเชียลต่าง ๆ รวมทั้งป้ายบิลบอร์ดติดตั้งในพื้นที่แรงงานเมียนมาอยู่อาศัย ก่อนที่จะนำข้อมูลลงเผยแพร่จะประสานไปยังกรมควบคุมโรค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด  (สสจ.)ซึ่งเป็นภาคีเครือข่าย เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล ซึ่งสื่อเหล่านี้เป็นการบอกเล่าข้อมูลป้องกันโควิด-19 ตั้งแต่การสวมหน้า กากอนามัย ล้างมือ อาการของโรคต่าง ๆ


แรงงานข้ามชาติพร้อมรู้สู้โควิด-19 ไปกับคนไทยทุกคน เมื่อข้อมูลการสื่อสารถูกต้องชัดเจนพร้อมปฏิบัติตาม…จะส่งผลต่อชีวิตและสุขภาพของเขาเช่นกัน

Shares:
QR Code :
QR Code