สูงวัย…ก็วิ่งได้

 


ปัจจุบันการออกกำลังกายด้วยการวิ่งกำลังได้รับความสนใจจากคนทุกเพศทุกวัย แต่ยังมีผู้สูงอายุบางกลุ่มที่ยังมีความกังวลว่าการวิ่งจะเหมาะสมกับวัยที่สูงขึ้นหรือไม่ วันนี้เรามีคำตอบมาฝากกันค่ะ


สูงวัยก็วิ่งได้ thaihealth


นายพจน์ เพิ่มพรพิพัฒน์ หรือ ลุงพจน์ ประธานสมาพันธ์ชมรมเดินวิ่งเพื่อสุขภาพไทย ในวัย 72 ปี เล่าวิธีดูแลสุขภาพในช่วงสูงวัยให้ฟังว่า เริ่มให้ความสนใจดูแลสุขภาพเมื่ออายุ 50 ปี เพราะรู้สึกว่าร่างกายทรุดโทรมลง หลังจากทำงานหนักมาตลอดทั้งชีวิตจึงเริ่มออกมาวิ่งด้วยการชักชวนของกลุ่มเพื่อนที่วิ่งอยู่ก่อนแล้ว ซึ่งก็เป็นเวลานานกว่า 22 ปี ที่ได้ดูแลสุขภาพและออกกำลังกายด้วยการวิ่ง ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของสุขภาพได้อย่างชัดเจน ร่างกายแข็งแรงขึ้น ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องสุขภาพ โดยเฉพาะโรคข้อเข่าเสื่อมที่เคยเป็นขณะที่ยังหนุ่ม ซึ่งการวิ่งนอกจากจะทำให้มีสุขภาพแข็งแรงแล้ว ยังเป็นตัวช่วยที่ทำให้เราได้ดูแลสุขภาพมากขึ้น' เพราะการออกกำลังกายทำให้ต้องเข้านอนเร็วเพื่อตื่นแต่เช้า งดเหล้า งดบุหรี่ และต้องรู้จักจัดสรรเวลาให้กับตนเองเพื่อดูแลสุขภาพ'


สูงวัยก็วิ่งได้ thaihealthลุงพจน์ ยังบอกด้วยว่า เพื่อนๆ วัยเดียวกันที่ไม่ได้ออกกำลังกาย สภาพร่างกายก็ย่ำแย่ลงเจ็บป่วยอยู่เป็นประจำ ต้องคอยไปหาหมอเพื่อรักษาสุขภาพ บางคนทำงานมาทั้งชีวิตแต่ต้องคอยเอาเงินที่หามาได้ไปจ่ายค่ายา แต่หากเราหันมาดูแลสุขภาพด้วยตนเอง เพียงแค่ออกกำลังกาย กินอาหารที่มีประโยชน์ แค่นี้ก็สามารถทำให้เรามีสุขภาพที่ดีได้แล้ว ผู้สูงอายุหลายคนมีความกังวลว่าการออกกำลังกายจะไม่เหมาะสมกับวัย แต่อายุยิ่งมากยิ่งต้องออกกำลังกาย เพราะไม่ว่าอายุเท่าไหร่ก็สามารถออกกำลังกายได้ เพียงแต่ต้องรู้จักขีดจำกัดของร่างกายตัวเองว่าเหมาะสำหรับการออกกำลังกายในรูปแบบใด


“การออกกำลังกายไม่ว่ารูปแบบใดก็ล้วนแล้วแต่ส่งผลดีต่อสุขภาพทั้งนั้น หากรู้จักความเหมาะสมของร่างกายตัวเอง เพราะนอกจากสุขภาพร่างกายจะแข็งแรงแล้ว การได้ออกมาพบปะพูดคุยกับเพื่อนๆ ที่ชอบออกกำลังกายด้วยกันยังช่วยให้สุขภาพจิตดีอีกด้วย” ประธานสมาพันธ์ชมรมเดินวิ่งเพื่อสุขภาพไทย ย้ำถึงข้อดีของการออกกำลังกาย


ด้าน นายณรงค์ เทียมเมฆ ผู้ทรงคุณวุฒิแผนส่งเสริมการออกกำลังกายและกีฬาเพื่อสุขภาพ สสส. แนะนำผู้สูงอายุที่สนใจออกกำลังกาย ว่า ก่อนอื่นต้องรู้จักร่างกายตัวเองก่อน เพราะหากมากเกินไปจะทำให้เสี่ยงต่อการได้รับบาดเจ็บ แต่ถ้าน้อยเกินไปจะทำให้หัวใจอ่อนล้าไม่เกิดประโยชน์ ฉะนั้นต้องเน้นทางสายกลาง ซึ่งต้องรู้พื้นฐานร่างกายของแต่ละคนก่อน สำหรับผู้สูงอายุที่ยังไม่เคยออกกำลังกาย ต้องเริ่มจากการออกกำลังกายเบาๆ ก่อน เช่น การเดิน เมื่อเดินแข็งแรงแล้วอาจจะเริ่มวิ่งช้าๆ แต่หากรู้สึกว่าการเดินเพียงพอต่อการออกกำลังกายแล้วไม่ต้องวิ่งก็ได้ เพียงแต่เดินให้มากขึ้น ค่อยๆ เพิ่มระยะเวลาไปเรื่อยๆ ซึ่งก่อนออกกำลังกายจะต้องมีการวอร์มอัพยืดเหยียดส่วนต่างๆ เพื่อเตรียมพร้อมในการอบอุ่นร่างกาย และหลังจากออกกำลังกายเสร็จจะต้องทำให้ร่างกายเย็นลงด้วยการคูลดาวน์ ไม่ควรหยุดทันที เพื่อให้ชีพจรเข้าสู่สภาวะปกติ จากนั้นค่อยยืดเหยียดกล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกาย เพื่อไม่ให้เกิดการเมื่อยล้าซึ่งจะนำมาสู่อาการบาดเจ็บสูงวัยก็วิ่งได้ thaihealth


หากจัดอยู่ในกลุ่มผู้สูงอายุแล้ว ถ้ายิ่งเฉื่อยชา ไม่ค่อยเคลื่อนไหวร่างกาย เพราะจากเดิมที่เสื่อมทรุดเร็วอยู่แล้วก็จะยิ่งเสื่อมเร็วขึ้น ดังนั้นถ้าเราจะชะลอการเสื่อมของร่างกาย ก็ต้องชะลอด้วยกิจกรรมทางกายที่เหมาะสมและเพียงพอ พยายามเคลื่อนไหวร่างกายให้สม่ำเสมอ ก็จะทำให้คุณภาพชีวิต สุขภาพร่างกายและจิตใจดีขึ้น เพราะจิตที่แข็งแกร่งต้องอยู่ในร่างกายที่แข็งแรง เมื่อเราออกกำลังกายไประดับหนึ่ง ใจเราก็จะสบายตามไปด้วย” ผู้ทรงคุณวุฒิแผนส่งเสริมการออกกำลังกายและกีฬาเพื่อสุขภาพ สสส. แนะนำเพิ่มเติม


สำหรับท่านใดที่สนใจและอยากดูแลสุขภาพด้วยการวิ่ง เตรียมตัวให้พร้อมและมาเริ่มต้นด้วยกัน ในงาน “วิ่งสู่ชีวิตใหม่ 2558”  THAI HEALTH 10K DAY RUN 2015 ณ ลานพระบรมรูปทรงม้า ที่จัดขึ้นโดย สสส.ร่วมกับสมาพันธ์ชมรมเดินวิ่งเพื่อสุขภาพไทยและภาคีที่เกี่ยวข้อง ในวันที่ 8 พฤศจิกายนนี้ แล้วมาหาคำตอบด้วยกันว่าการวิ่งจะสามารถเปลี่ยนชีวิตได้อย่างไร


รายละเอียดเพิ่มเติม https://www.facebook.com/thaihealth/posts/10153216138113106:0


 


 


เรื่องโดย : แพรวพรรณ สุริวงศ์ Team Content www.thaihealth.or.th


Description: https://ssl.gstatic.com/ui/v1/icons/mail/images/cleardot.gif


 


 


 


 


 


 


 

Shares:
QR Code :
QR Code