สุขแท้ด้วยปัญญา ณ สงขลา

ในช่วง เข้าสู่ปิดภาคเรียน ทำให้เด็ก ๆ และเยาวชนในหลายพื้นที่ต่างหากิจกรรมที่แต่ละคนสนใจ เพื่อร่วมเรียนรู้ ทั้งการเรียนพิเศษ เข้าค่ายกีฬา คอมพิวเตอร์ และอื่น ๆ อีกหลายอย่าง แต่มีเด็กอีกกลุ่มหนึ่ง ที่ได้รวมตัวกันใน “โครงการปลุกการตื่นรู้เพื่อดูแลกันและกัน”

สุขแท้ด้วยปัญญา ณ สงขลา

โครงการนี้เป็นการรวมตัวกันของเยาวชน ทั้งระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษา และอุดมศึกษา กว่า 20 คน ในจังหวัดสงขลาและใกล้เคียง ร่วมศึกษาวิถีชีวิต รวมถึงการเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตจากการพึ่งพาตนเอง ที่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการสุขแท้ด้วยปัญญา เครือข่ายพุทธิกา เพื่อพระพุทธศาสนาและสังคม และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

สุขแท้ด้วยปัญญา ณ สงขลา

โดย 1 วันของกิจกรรม เด็กๆ เหล่านี้ ได้ร่วมเรียนรู้วิถีชีวิตชาวนาและภูมิปัญญาท้องถิ่น ในพื้นที่หมู่ 2 ต.คูขุด อ.สทิงพระ จ.สงขลา ซึ่งหนึ่งในกิจกรรมที่สร้างความตื่นรู้ให้แก่เด็กๆ คือ การลงเก็บข้าวในนาโยน ซึ่งเป็นแปลงกสิกรรมไร้สารพิษ ของเกษตรกรในพื้นที่ โดยเด็กๆ ได้ร่วมกันการเก็บข้าวด้วย “แกระ” ซึ่งเป็นอุปกรณ์การเก็บข้าวโบราณที่หาชมได้ยาก ชาวนาไม่ค่อยนิยมใช้ โดยเด็กๆ ได้ร่วมกันเก็บข้าวในแปลงนา และต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า รู้ซึ้งว่าชาวนาลำบากและเหนื่อยแค่ไหน กว่าจะได้ข้าวสักรวง สักเม็ด

นายอภินันท์ หอจตุรพิธพร นักเรียนชั้น ม.6 โรงเรียนแสงทองวิทยา อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา สะท้อนว่า ทันทีที่เท้าลงสัมผัสนาข้าวก็รับรู้ถึงความเหนื่อยยากของชาวนา กว่าจะเก็บเกี่ยวข้างได้สักรวม ต้องถูก แกระ บาดนิ้ว ใบข้าวบาดตัว มือ และแขน และรู้ซึ้งถึงคำเปรียบเทียบของชาวนาที่ว่า “หลังสู้ ฟ้า หน้าสู้ดิน” ได้เป็นอย่างดี  หลังจากนี้ไป ก็จะนำความเหนื่อยยากของชาวนาไปถ่ายทอดให้เพื่อนๆ ได้ร่วมรับรู้ และตักข้าวแต่ละจานสำหรับพอกิน ไม่เหลือทิ้ง

สุขแท้ด้วยปัญญา ณ สงขลา

เช่นเดียวกับ ด.ช.พิชญุตม์ สงวนเขียว นักเรียนชั้น ม.2 โรงเรียนตราษตระการคุณ จ.ตราด ซึ่งมาร่วมกิจกรรมในครั้งนี้บอกว่า รู้สึกเหนื่อยกับการเก็บข้าวในครั้งนี้มาก ตามปกติหากไม่มาร่วมในกิจกรรมนี้ ก็คงจะอ่านหนังสือ หรือเล่นเกมส์อยู่ที่บ้าน ถือว่ามาทำกิจกรรมในครั้งนี้ ได้รับประโยชน์อย่างมาก ทั้งการทำนา การรับรู้วิถีชีวิตของชาวคาบสมุทรสทิงพระ ที่มีนา ทะเล และต้นตาลโตนด

นางปรียา แก้วพิมล อาจารย์คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ถ่ายทอดวิถีชีวิตในโครงการนี้บอกว่า เด็กๆ ที่ร่วมเดินทางมานั้น เป็นเด็กๆ จากหลายพื้นที่ ที่ไม่เคยได้สัมผัสวิถีชีวิตชนบท จึงได้ร่วมกันจัดโครงการนี้ขึ้น เพื่อให้เด็กๆ ได้สัมผัสและเรียนรู้ชีวิตแบบพึ่งพาตัวเอง โดยไม่อิงกระแสสังคมตะวันตกมากเกินไป มีความเพียรในตัวเอง สามารถพึ่งพาและใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ด้วยตัวเองได้ ซึ่งเด็กๆ ที่เข้าร่วมโครงการต่างเรียนรู้อย่างสนุกสนาน และถือเป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่หาไม่ได้ง่ายๆ 

“นอกจากการเรียนรู้วิถีชีวิตชนบทแล้ว ยังมีสอดแทรกการใช้ชีวิตโดยใช้พลังบำบัดด้วยวิธีธรรมชาติ การให้ความรู้จากเกษตรกรตัวจริง ที่ทำเกษตรกรรมปลอดสารพิษ สามารถปลูกทุกอย่าง ทำของใช้ในชีวิตประจำวันใช้เองได้ โดยไม่ต้องซื้อหา ทั้งการทำนา ปลูกผัก  ทำปุ๋ยหมัก น้ำยาล้างจาน สารขับไล่แมลง ซึ่งนอกจากจะไม่ทำให้มีภาระต้นทุนสูงแล้ว ยังปลอดสารพิษ ทำให้ปลอดโรคภัย อายุยืนยาวอีกด้วย” นางปรียา กล่าว

สุขแท้ด้วยปัญญา ณ สงขลา

ขณะที่ นายสุวินัย หนูยัง เจ้าของแปลงนาโยน กสิกรรมไร่สารพิษบอกว่า เหตุที่ได้ผันตัวเองกลับไปสู่การทำกสิกรรมไร้สารพิษนั้น เพราะเห็นถึงผลกระทบที่เกิดจากการทำนากุ้ง ที่ได้ลงทุนเลี้ยงกุ้ง เพื่อธุรกิจมาก่อนหน้านี้ ทำให้สิ่งแวดล้อมในชุมชนได้รับผลกระทบ ในขณะที่ตัวเองก็มีปัญหาด้านสุขภาพ เพราะต้องโหมทำงาน หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีไม่ได้ ทำให้หันกลับมามองว่าจริง ๆ เราสามารถใช้ชีวิต ทำกสิกรรมโดยไม่พึ่งพาสารเคมีได้ จึงเริ่มลงมือทำนาโยนมาเป็นครั้งที่ 2 

สุขแท้ด้วยปัญญา ณ สงขลา

“การทำนาโยน เป็นการเพาะเมล็ดต้นข้าวก่อน จากนั้นก็จะนำต้นกล้าที่ได้โยนลงในนา ซึ่งจะไม่ใช้สารเคมีในแปลงนาเหล่านี้ ทำนาโยน 2 ไร่ แต่ได้ผลผลิตประมาณ 1,500 กก. ในขณะที่ทำนาด้วยการปักดำ หรือ หว่านและใช้สารเคมี นั้นจะได้ผลผลิตเฉลี่ยไร่ละ 200 กก.เท่านั้น โดยขณะนี้ มีชาวนาในพื้นที่จำนวนมากให้ความสนใจ หันมาปลูกข้าวนาโยนปลอดสารพิษ โดยใช้พันธุ์ข้าวของท้องถิ่น ส่วนใหญ่ทำนาไว้รับประทานในครัวเรือนเมื่อเหลือจึงส่งขาย” นายสุวินัย กล่าว

ตลอดทั้งวัน เด็กๆ ยังได้ลองชิมน้ำตาลสด ที่เกษตรกรเก็บน้ำตาลสดมาจากต้นตาลโตนด ที่มีอยู่ตามคันนาจำนวนมาก  ถือเป็นพืชเศรษฐกิจของ ชาวคาบสมุทรสทิงพระ จากนั้นต้องมาผ่านกระบวนการต้มจนหอม ให้เด็กๆ ได้ชิม ด้วยกระบวนการง่ายๆ ตามวิถีชีวิตของท้องถิ่น และยังได้ลองชิมอาหารมังสวิรัติ ที่เป็นหนึ่งในการดูแลสุขภาพป้องกันโรค ที่เป็นศาสตร์อีกอย่างที่เด็กๆ กลุ่มนี้ได้เรียนรู้

แม้จะเป็นระยะเวลาสั้นๆ ของการที่เด็กในเมืองแปรสภาพมาทดลองใช้ชีวิตในชนบท เป็นอีกวิถีหนึ่งที่เด็กๆ รู้สึกตื่นตาตื่นใจ กับประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้ เป็นประสบการณ์ที่ได้จากนอกห้องเรียน ที่ทำให้เด็กๆ กลุ่มนี้ตื่นรู้ สนใจผู้อื่น คนรอบข้างมากกว่าตัวเอง เอาใจเขามาใส่ใจเรา รู้จัก แบ่งปัน เผื่อแผ่ มีความสามัคคี โดยเด็กๆ กลุ่มนี้บอกว่า จะนำประสบการณ์ที่ได้รับในครั้งนี้ไปถ่ายทอดให้เพื่อนๆ ได้รับรู้ เพื่อให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างพอเพียง ตามแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสทูเดย์

Shares:
QR Code :
QR Code