สารพัดความเสี่ยงสู่โรคหัวใจและหลอดเลือด
ที่มา : หนังสือสะกดรอยปัจจัยเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด โดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
ผู้ป่วยหนึ่งในสามของโรคหัวใจและหลอดเลือดเกี่ยวข้องกับการสูบบุหรี่ เบาหวาน ความดันเลือดสูง คอเลสเตอรอลสูง ความอ้วน
ปัจจัยเสี่ยงหลัก
ความดันเลือดสูง เป็นปัจจัยเสี่ยงหลักของโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดในสมองแตก (hemorrhagic stroke)
ภาวะไขมันผิดปกติ ภาวะที่ร่างกายมีระดับคอเลสเตอรอลรวม คอเลสเตอรอลชนิดแอลดีแอล (LDL-C) และไตรกลีเซอไรด์สูง และระดับคอเลสเตอรอลชนิดเอชดีแอล (HDL-C) ต่ำ จะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคสมองขาดเลือดจากหลอดเลือดสมองตีบ (ischaemic stroke)
การสูบบุหรี่ เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด ทั้งในกลุ่มผู้ที่สูบตั้งแต่อายุน้อยและผู้ที่สูบจัด รวมถึงการสูดดมควันบุหรี่จากผู้อื่น
ขาดการออกกำลังกาย เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง (stroke) ร้อยละ 50
ความอ้วน เป็นปัจจัยเสี่ยงหลักของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และเบาหวาน
บริโภคอาหารไม่เหมาะสม การกินผักและผลไม้น้อยเกินไป เป็นสาเหตุให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ประมาณร้อยละ 31 และหลอดเลือดสมอง ส่วนการบริโภคไขมันอิ่มตัวมากไป เป็นสาเหตุของโรคร้อยละ 11 ในผู้ป่วยกลุ่มนี้ทั่วโลก
เบาหวาน ทำให้เสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด 2 เท่า
ปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ
สถานะทางเศรษฐกิจต่ำ มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและหลอดเลือดสมอง
ภาวะซึมเศร้า อาการซึมเศร้ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ
ภาวะเครียด ความเครียดอย่างเรื้อรังในชีวิต การแยกตัวโดดเดี่ยวจากสังคมและขาดการช่วยเหลือทางสังคม (lack of social support) เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง
ดื่มแอลกอฮอล์ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เช่น เบียร์ วันละ 1-2 แก้ว อาจช่วยลดโอกาสการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจลงได้ร้อยละ 30 แต่การดื่มหนักส่งผลให้เกิดการทำลายกล้ามเนื้อหัวใจ ความดันเลือดสูงและตับแข็ง
การใช้ยาบางประเภท การกินยาคุมกำเนิดบางชนิด หรือรับฮอร์โมนเสริมเพื่อบำบัดอาการที่ไม่พึงประสงค์เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ
อัตราส่วนของไลโปโปรตีน (Apo B/ ApoA1) เพิ่มขึ้น เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีคอเลสเตอรอลแบบแอลดีแอลในปริมาณสูง
กล้ามเนื้อหัวใจห้องซ้ายล่างหนาผิดปกติ (Left ventricular hypertrophy, LVH) พบว่าเป็นชนวนสำคัญของการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด
ปัจจัยเสี่ยงที่หลักเลี่ยงไม่ได้
วัยที่เพิ่มขึ้น เป็นปัจจัยเสี่ยงที่มีอิทธิพลมากสำหรับโรคหัวใจและหลอดเลือด และหลังอายุ 55 ปี ความเสี่ยงต่อการเกิดเส้นเลือดในสมองแตกจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวทุก 10 ปี
กรรมพันธุ์ ในกรณีที่มีญาติสายตรง เช่น พ่อหรือแม่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจหรือหลอดเลือดสมอง ก่อนอายุ 55 ปี ในกรณีของญาติผู้ชายหรือ 65 ปีในกรณีของญาติผู้หญิง
เพศ เพศชายมีอัตราการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจสูงกว่าเพศหญิงในวัยก่อนหมดประจำเดือน และมีความเสี่ยงเท่ากันสำหรับการเกิดเส้นเลือดในสมองแตก
ชาติพันธุ์ หรือ เชื้อชาติ จากการศึกษาเปรียบเทียบพบว่า คนแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดไม่เท่ากัน