สธ.ร้องเบียร์ช้างเพิกถอนโลโก้น้ำดื่ม-โซดา
สธ. ยื่นคำร้องเพิกถอนการจดทะเบียนโลโก้ น้ำดื่ม-โซดา บริษัทน้ำเมา หลังจากพบว่าใช้สัญลักษณ์เดียวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แค่เปลี่ยนสี หลีกเลี่ยงกฎหมายทำการตลาด-โฆษณาได้ เผยสำรวจประชาชน พบ 88% เข้าใจว่าเป็นโลโก้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
เครือข่ายรณรงค์ป้องกันภัยแอลกอฮอล์ (ครปอ.) จัดเสวนา โลโก้น้ำ-โซดา ใกล้เคียงโลโก้น้ำเมา : ปัญหาข้อกฎหมายและผลกระทบต่อเด็ก เยาวชน โดย นพ.สมาน ฟูตระกูล ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวว่า เครื่องหมายตราสินค้าหรือโลโก้ประเภทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ขณะนี้พบว่ามีเจตนาแอบแฝงเพื่อหลีกเลี่ยงการปฏิบัติตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น คำว่า เครื่องดื่มตราช้าง ซึ่งบริษัท เบียร์ช้าง จำกัด ได้ขอจดทะเบียนแล้วว่า ใช้กับสินค้าประเภทโซดาและน้ำดื่ม แต่ไม่ได้แจ้งว่าใช้กับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
หากเปรียบเทียบกับสินค้าทั้ง 3 ประเภท คือ โซดาจะมีพื้นเป็นสีแดงน้ำพุสีขาว น้ำดื่มจะมีสีพื้นเป็นสีน้ำเงินน้ำพุสีขาว เบียร์จะมีสีพื้นเป็นสีเขียวน้ำพุสีทอง จึงเห็นได้ว่าเครื่องหมายดังกล่าวมีลักษณะเหมือนหรือคล้ายคลึงกับเบียร์มากที่สุด แต่ผู้ขอจดทะเบียนกลับยื่นจดเพื่อใช้กับน้ำดื่มหรือโซดา ซึ่งทางสำนักงานฯ ได้ให้สวนดุสิตโพลล์สำรวจทั่วประเทศพบว่าประชาชนเข้าใจว่าโลโก้นี้เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ถึง 88% เข้าใจว่าเป็นน้ำโซดาเพียง 1.7% เท่านั้น
การโฆษณาโลโก้ดังกล่าวทำให้เกิดการสับสน คนทั่วไปจะทราบว่าเป็นโลโก้เบียร์ แต่ธุรกิจเหล่านี้ต้องการหลีกเลี่ยงกฎหมาย อ้างว่าเป็นเครื่องหมายที่ใช้กับสินค้าน้ำดื่ม หรือโซดา ไม่ใช่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้การโฆษณาไม่ต้องถูกควบคุม ทั้งในด้านเวลาการโฆษณา ข้อความคำเตือน และขนาดของภาพสัญลักษณ์ ทางสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้ยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำขอจดทะเบียนต่อนายทะเบียนไว้ก่อนแล้ว นพ.สมาน กล่าว
นพ.สมาน กล่าวว่า การนำเครื่องหมายดังกล่าวมาโฆษณา มีความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 เพราะว่าตามกฎหมายไม่ว่าจะจดทะเบียนเป็นสินค้าใดก็ตาม เช่น น้ำดื่ม นมสด น้ำเต้าหู้ เป็นต้น ถ้าประชาชนทั่วไปเข้าใจว่าเป็นโลโก้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ แล้วยังนำมาโฆษณา จะถือว่าเป็นการโฆษณาที่ต้องห้ามตามมาตรา 32 ประกอบมาตรา 3 มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมีโทษปรับรายวันอีกวันละไม่เกิน 50,000 บาท จนกว่าจะเลิกโฆษณา
นอกจากนี้ยังผิดตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 22 วรรค สอง เพราะเป็นการโฆษณาที่ใช้ข้อความที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการ
ดร.ณัฐวิภา สินสุวรรณ นักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี กล่าวว่า หากดูข้อมูลจากงานวิจัยเรื่อง การสื่อสารความหมายและการรับรู้ความหมายของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสังคมไทยต่อกิจกรรมที่แสดงความรับผิดชอบต่อสังคม (csr) สะท้อนให้เห็นว่า น่ากังวลอย่างมากต่อทัศนะของเยาวชน เพราะนอกจากจะทำให้เกิดพฤติกรรมการดื่มแล้ว ยังจะทำให้มีทัศนคติที่ดีต่อกิจกรรม csr ของธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อีกด้วย และสิ่งที่น่าตกใจไปกว่านั้น คือ เยาวชนส่วนใหญ่จดจำโลโก้ผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่ใกล้เคียงกับโลโก้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งถูกใช้ในกิจกรรม csr ได้อย่างแม่นยำ
ขณะที่ นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า น่าเป็นห่วงว่า การพบเห็นโลโก้ตลอดเวลาจะทำให้ผู้บริโภคถูกชักจูงได้ง่าย เป็นการละเมิดสิทธิผู้บริโภค ผู้บริโภคจึงต้องรู้เท่าทันเล่ห์ของบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และอย่านิ่งเฉย ควรออกมาปกป้องสิทธิของตนเอง โดยสามารถแจ้งข้อมูลเข้ามาได้หรือจับตาถ่ายคลิปวีดิโอต่างๆ หากพบเห็นการโฆษณาที่มีการบิดเบือนข้อมูล ทำให้เกิดความเข้าใจผิด
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ